ซึ่งสำหรับชาวพุทธ…นี่ก็เป็น โอกาสสำคัญในการฟื้นฟูสุขด้วยธรรมแห่งพระพุทธศาสนา-ด้วยหลักธรรมแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่มีการสืบทอดมายาวนานกว่า 25 ศตวรรษ โดยที่โลกสากลให้การยอมรับว่าเป็นแนวทางสร้างสุขในชีวิต-สร้างความสงบสุขในสังคม…

ยุคนี้มีหลาย ๆ เหตุทำให้ผู้คน “ทุกข์ร้อน”…

กระนั้น “หนทางคลายทุกข์ร้อน” ก็ใช่จะไม่มี…

“องค์ประมุขสงฆ์” ท่านทรง “ประทานมาต่อเนื่อง”…

ทั้งนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ทรงมีพระเมตตาประทาน “พระโอวาทธรรม-พระคติธรรม” จากหลักธรรมแห่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง…รวมถึงในโอกาสสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาในปีนี้ ขณะที่พระโอวาทธรรม พระคติธรรม ที่ได้ประทานไว้ในโอกาสดังกล่าวนี้ในปีที่ผ่าน ๆ มา หากพุทธศาสนิกชนได้น้อมรำลึกและน้อมนำมาปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วย…ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้ประมวลมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ในวันนี้…  

จากการเผยแพร่ไว้โดยสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในปี พ.ศ. 2561 สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชาไว้ ความสำคัญบางช่วงบางตอนมีว่า…

“…ขอพุทธศาสนิกชนจงศึกษาทบทวน และสำนึกในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เพื่อสร้างเสริมสันติสุขในชีวิตของท่านและสังคมส่วนรวม ให้งอกงามและมั่นคงสถาพรตลอดกาลนาน…”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2562ได้ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ความสำคัญบางช่วงบางตอนมีว่า… เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประกาศพระศาสนาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นพระปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ กระทั่งมีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม ขอประทานอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา จึงบังเกิด พระรัตนตรัย ครบองค์ 3 ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีเนื้อหาแสดงการปฏิเสธส่วนที่สุดโต่งสองทาง คือการประกอบตัวให้พัวพันด้วยกามสุขทั้งหลายทางหนึ่งและการฝืนตนให้ได้รับความทุกข์ทรมานอีกทางหนึ่งพร้อมกำหนดแนวทางดำเนินชีวิต โดย ทางสายกลาง แสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อบรรลุถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8

ใน อริยอัฏฐังคิกมรรค ดังกล่าวนั้น มีข้อปฏิบัติสำคัญ เพื่อความพ้นทุกข์ ประการหนึ่งซึ่งเราทั้งหลายพึงพินิจพิจารณาให้ถ้วนถี่ พร้อมน้อมนำมาเป็นวิถีปฏิบัติประจำชีวิต ได้แก่ “สัมมาวาจา” ที่แปลว่า การเจรจาชอบ

ในสังคมที่มีบุคคลหลายหมู่คณะอยู่ร่วมกัน มีผู้คนเจรจาติดต่อกันผ่านอุปกรณ์การสื่อสารอันรวดเร็วและง่ายดายขึ้น นั่นย่อมทำให้ “วจีทุจริต” หรือ การประพฤติชั่วทางวาจา ปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ คำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด และคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ล้วนเป็นต้นเหตุใหญ่ของความวิวาทบาดหมาง ความขุ่นเคือง และความคลางแคลงใจกัน

“…เพราะฉะนั้น จึงขอให้สาธุชนทุกท่านอาศัยดิถีอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาที่มาบรรจบถึง เป็นโอกาสทบทวนจิตใจและตั้งปณิธานว่าจะดำเนินชีวิตด้วย ‘ปิยวาจา’ พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ เพื่อความผาสุกร่มเย็นของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมประเทศชาติ สืบไป…” …สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระเมตตาประทานไว้

ปี พ.ศ. 2563สมเด็จพระสังฆราช ก็ได้ประทานพระคติธรรม ความสำคัญมีว่า…วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังนำพาให้เราทั้งหลายมั่นคงแน่วแน่ด้วยปณิธานแห่ง “ความกรุณา” …หากท่านกำลังเผชิญความเหนื่อยยากจากการบำเพ็ญกรณียกิจด้วยความกรุณา ขอจงอย่าลดละหรือท้อแท้ ขอให้ตระหนักแน่วแน่ว่าท่านกำลังเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ผู้ทรงพระมหากรุณาเป็นที่พึ่ง

“…จงประคับประคองจิตใจให้อาจหาญร่าเริง เบิกบานด้วยเมตตาการุณยธรรม พร้อมกระทำคุณประโยชน์ ด้วยการพลีกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ และกำลังสติปัญญา เกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม สามารถก้าวพ้นจากทุกข์ภัย นำมาซึ่งสันติสุขร่วมกันของสรรพชีวิตบนโลกนี้สืบไปตลอดกาลนาน…”

และสำหรับปีที่แล้ว ปี พ.ศ. 2564 พระคติธรรมที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระเมตตาประทานไว้ ซึ่งเมื่อชาวพุทธน้อมนำมาร่วมปฏิบัติให้ถึงพร้อมด้วยก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ความสำคัญบางช่วงบางตอนนั้นมีว่า… หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยไพบูลย์ด้วยสันติสุข ขอจงเร่งเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ผู้ทรงพระมหากรุณาประทานอริยอัฏฐังคิกมรรคไว้เป็นหนทาง… “…พร้อมเพรียงกันบำเพ็ญคุณประโยชน์ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาวาจา” อยู่ทุกขณะ ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม…

สามารถก้าวข้ามพ้นจากความทุกขโทมนัส…

แปรเปลี่ยนเป็นความเกษมสวัสดิ์…

ของสรรพชีวิตบนโลกนี้ได้ สืบไป…”.