ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมว่าเป็นกะโหลกของสุนัขเพราะพบรูทั้งสองข้างมีลักษณะคล้ายเบ้าตาของสัตว์ จึงเป็นหน้าที่ของทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะเข้ามาแก้ไขข้อสงสัยของสังคมในกรณีนี้ดังพันธกิจของทางคณะฯ ที่ได้ให้ไว้กับประชาคมว่า “Responsible for Lives” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าส่วนกระดูกชิ้นที่เป็นข่าวดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นส่วนกระดูกสันหลังส่วนเชิงกรานมิใช่ส่วนของกะโหลก โดยรูที่พบบนกระดูกชิ้นนั้นทั้งสองข้างซ้ายขวา ทำให้มีลักษณะคล้ายรูเบ้าตา ที่แท้จริงแล้วเป็นส่วนของรูที่เป็นทางผ่านออกมาของหลอดเลือดและเส้นประสาท ซึ่งจะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Ventral sacral foramen” รูนี้จะมีลักษณะเป็นวงกลมที่สมบูรณ์ ลักษณะนี้จะแตกต่างจากกระดูกบริเวณเบ้าตาสัตว์ (orbital ring) กล่าวคือในสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ รูเบ้าตาจะไม่เป็นวงกลมที่สมบูรณ์ ด้านข้างจะมีช่องว่างอยู่และช่องนี้จะถูกปิดโดยเอ็นยึดกระดูกเบ้าตา (orbital ligament) นอกจากนี้ตรงกลางชิ้นกระดูกที่ได้จากต้มเล้ง ที่มองดูลักษณะคล้ายจมูกสุนัขนั้น แท้จริงแล้วเป็นกระดูกเชิงกรานซึ่งไม่มีลักษณะเป็นโพรงจมูกที่แท้จริง เนื่องจากไม่มีกระดูกสันจมูก (nasal bone) ซึ่งจะเป็นลักษณะกระดูกเป็นแผ่นบาง ๆ ปิดช่องจมูกอยู่

โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะกะโหลกของสัตว์แม้จะมีความคล้ายคลึงในด้านรูปร่างทั่วไป แต่จะมีลักษณะบางอย่างที่สามารถแยกลักษณะของกะโหลกสุนัขออกจากกะโหลกของสุกรได้ โดยอาศัยพื้นฐานทางกายวิภาคศาสตร์ของกระดูกของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ดังนี้ กะโหลกสุนัขเมื่อมองจากด้านบนพบว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปไข่ (Oval shape) ส่วนกระดูกของสุกร เมื่อมองจากทางด้านบนจะมีลักษณะยืดยาวออกทางด้านหน้าและมีขนาดใหญ่กว่ากะโหลกสุนัข

ในส่วนของกระดูกบริเวณที่ปกคลุมสมองอยู่ซึ่งเรียกทางลักษณะกายวิภาคศาสตร์ว่า Temporal fossa ถ้ามองจากทางด้านบนจะมีความแตกต่างกันชัดเจน โดยของกะโหลกสุกรจะมีลักษณะที่เว้าเข้าไป ซึ่งจะแตกต่างจากกะโหลกสุนัขที่มีลักษณะที่นูนออก

บริเวณด้านท้ายทอยของสัตว์ทั้งสองชนิดหรือที่เรียกว่า Occipital bone เมื่อมองจากด้านท้าย จะมีลักษณะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมในสุกร แต่สุนัขเมื่อมองจากด้านท้าย จะมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมมีปุ่มแหลมอยู่ตรงกลาง

นอกจากนี้ กะโหลกของสัตว์ทั่วไปจะพบสันกระดูกบริเวณโหนกแก้ม หรือที่เรียกว่า zygomatic arch ซึ่งเป็นแนวสันกระดูกที่อยู่ระหว่างตากับหู สันกระดูกนี้มีความแตกต่างกันในสัตว์ชนิดต่าง ๆ โดยจะพบว่าในสุกรจะมีลักษณะแบน มีขนาดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากในสุนัขที่มีขนาดเล็กกว่า และมีลักษะโค้งนูนออกทางด้านข้าง ดังนั้นชิ้นกระดูกที่ได้จากการต้มเล้งที่เป็นข้อสงสัยของสังคมนั้น น่าจะเป็นส่วนของกระดูกเชิงกราน เพราะไม่พบสันกระดูกบริเวณโหนกแก้ม (zygomatic arch)

จากภาพที่ปรากฏในสื่อที่ทำให้เกิดความสงสัยกันนั้น ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเพิ่มเติมข้อมูลในหลาย ๆ ด้านที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการแยกระหว่างกระดูกชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ระหว่างกะโหลก และกระดูกเชิงกราน หรือการแยกความแตกต่างระหว่างกระดูกของสัตว์ชนิดต่าง ๆ โดยดูจากลักษณะที่จำเพาะทางกายวิภาคศาสตร์ ทั้งนี้จากข้อมูลประกอบน่าจะพอตอบโจทย์สังคมบางประการได้ในกรณีนี้ ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการให้ความกระจ่างในกรณีที่เกิดความสงสัยที่เกี่ยวข้องความปลอดภัยทั้งของมนุษย์และสัตว์ต่อไป.