แม้พรรคเดโมแครตอาจควบคุมดูแลทำเนียบขาว และครองเสียงข้างมากในสองฝ่ายของสภาคองเกรส ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร แต่พวกเขาไม่มีคะแนนเสียงมากพอที่จะผ่านวาระทางการเมืองจำนวนมากได้ ศาลฎีกากลายมาเป็นผู้กำหนดทิศทางให้กับอนาคตของอเมริกา ในรูปแบบต่างจากสิ่งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน คาดหวังไว้

PBS NewsHour

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลฏีกามีมติตีกลับคำฟ้องร้องกฎหมายปืนของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งระบุว่า ประชาชนต้องมีหลักฐานที่จะพกพาอาวุธปืนนอกเคหสถาน ต่อจากนั้นไม่นาน สภาคองเกรสบัญญัติกฎหมายควบคุมอาวุธปืนฉบับใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างความร่วมมือของทั้งสองพรรคการเมืองที่หาดูได้ยากยิ่ง และเกิดขึ้นเป็นครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 30 ปี

นอกจากนี้ การกลับคำพิพากษาคดี “โรกับเวด” กระตุ้นความโกรธและความสิ้นหวังในกลุ่มนักรณรงค์ที่สนับสนุนทางเลือก สวนทางกับความยินดีจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการทำแท้ง แต่แทนที่จะเป็นการจบปัญหา คำตัดสินของศาลกลับสร้างความน่าจะเป็นของการคัดค้านทางกฎหมายในหลายรัฐทั่วประเทศ ซึ่งหมายความว่า การต่อสู้ในเรื่องการทำแท้งจะยังมีอยู่ต่อไปอีกหลายปีหลังจากนี้

อีกทั้งในคำตัดสินล่าสุด คือสิ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับรัฐบาลวอชิงตัน ในการผ่านนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีความหมาย เมื่อศาลฎีกาจำกัดอำนาจของสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐ (อีพีเอ) ให้ไม่สามารถกำหนดขีดจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ นอกจากจะมีกฎหมายฉบับใหม่จากสภาคองเกรส ที่เจาะจงอนุญาตให้ทำเช่นนั้น

NBC News

ผลที่ตามมาจากคำตัดสินที่สร้างการถกเถียงเหล่านี้ สถาบันซึ่งควรมีความเป็นกลางมากที่สุด และมีความลำเอียงน้อยที่สุด กลับมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองสูงมากในปัจจุบัน จนทำให้ความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนที่มีต่อศาลฎีกาสหรัฐลดลงด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน คณะตุลาการสูงสุดฝ่ายเสรีนิยมยังคงเป็นเสียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคณะตุลาการฝ่ายอนุรักษนิยมทั้ง 6 คน ซึ่ง 3 คนในกลุ่มนั้นได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลชุดก่อนหน้า ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

MSNBC

ทั้งนี้ คำตัดสินทั้งหมดของศาลสูงสุดสหรัฐในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คดีที่ตกเป็นข้อถกเถียงต่าง ๆ ไม่ได้หยุดการแตกหักของสังคมที่แบ่งออกเป็นขั้วอย่างฝังรากลึกแต่อย่างใด จนถึงขั้นที่ต้องสร้างรั้วรักษาความปลอดภัยสูง 8 ฟุต ล้อมรอบสำนักงานศาล “เพื่อความปลอดภัย”

ชาวอเมริกันต่างกลับมาจากช่วงวันหยุดยาวที่เฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐ วันหยุดประจำชาติที่รำลึกถึงอิสรภาพแบบประชาธิปไตยที่ได้รับเมื่อพวกเขาออกจากสหราชอาณาจักร เมื่อเกือบ 250 ปีก่อน ทว่าบางคนก็รู้สึกสงสัย ว่าสหพันธรัฐในทุกวันนี้ เป็นไปตามที่บิดาผู้สถาปนาตั้งใจไว้อย่างแท้จริงหรือไม่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS