อย่างไรก็ตาม ชุดข้อมูลอันน่าตกใจเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อคลื่นความร้อนฉับพลันส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลี เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และข้อมูลในช่วงกลางเดือนเดียวกันแสดงถึงภาวะเงินเฟ้อของอินเดียที่พุ่งขึ้นเกือบสูงสุดในรอบ 8 ปี เพราะราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ขยับตัวสูงขึ้นจากสงครามในยูเครน

จากปัญหาที่เกิดขึ้น 1 เดือนหลังจากการประกาศแผนความช่วยเหลือ โมดีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์อินเดีย “ระงับ” การส่งออกข้าวสาลีโดยทันที เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ส่งผลให้ราคาในตลาดล่วงหน้าข้าวสาลีของชิคาโกดีดตัวสูงขึ้นทันที

ปัจจุบัน อินเดียเป็น 1 ในอย่างน้อย 19 ประเทศ ที่ประกาศจำกัดการส่งออกอาหาร เนื่องจากสงครามในยูเครน ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ทำให้กระแสการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์การเกษตรหลายอย่างชะงักงัน และจุดประกายการประท้วงที่รุนแรงในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง

ทั้งนี้ ภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ประเทศสมาชิกสามารถประกาศห้าม หรือจำกัดการส่งออกอาหารหรือสินค้าอื่น ๆ ได้ หากมีระยะเวลาแค่ชั่วคราว และจำเป็นต้องบรรเทา “ภาวะขาดแคลนอย่างรุนแรง” ในประเทศ

Al Jazeera English

อย่างไรก็ดี ถึงกระทรวงพาณิชย์อินเดียจะติดต่อกับดับเบิลยูทีโอ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการจำกัดการส่งออก แต่ความเสี่ยงที่ตามมาจะซ้ำเติมปัญหาราคาอาหารของโลก และสร้างผลกระทบแบบโดมิโน เมื่อวิกฤติอาหารได้กระตุ้นให้ประเทศอื่นดำเนินมาตรการที่คล้ายคลึงกัน

ในส่วนของอาร์เจนตินา รัฐบาลบัวโนสไอเรสที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดสงครามในยูเครน ดำเนินการขั้นตอนเพื่อหยุดการเพิ่มราคาอาหารท้องถิ่นเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยการจำกัดการส่งออกข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งหลังจากการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเริ่มขึ้น อาร์เจนตินาได้เพิ่มภาษีการขนส่งน้ำมันถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองแปรรูปอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า วิกฤติอาหารทั่วโลกร้ายแรงกว่าเหตุการณ์เดียวกัน เมื่อปี 2551 กระแสของการจำกัดการส่งออกในหลายประเทศ ส่งผลต่ออาหารที่ซื้อขายทั่วโลกในสัดส่วนราว 1 ใน 5 ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าวิกฤติอาหารโลก เมื่อปี 2551 เกือบ 2 เท่า ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (ไอเอฟพีอาร์ไอ) คลังสมองที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีเป้าหมายลดความยากไร้ในประเทศกำลังพัฒนา

“มาตรการเหล่านี้ มีแนวโน้มกระตุ้นพฤติกรรมหวาดวิตกบางอย่าง หรือการกักตุนจากฝั่งของผู้ซื้อ ซึ่งมันเป็นตัวเร่งให้ราคาสินค้าสูงขึ้น” นายเดวิด ลาบอร์ด ดีบัคเควต นักวิจัยของไอเอฟพีอาร์ไอ กล่าว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS