เมื่อวันที่ 2  ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรสื่อ โดยเฉพาะ สื่อออนไลน์ ซึ่งก็มีเจ้าใหญ่ ๆ  อย่าง the reporter, momentum, the standard รวมตัวกันฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้า ศบค.ที่ออก คำสั่งฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช.ในการสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แบนไอพีแอดเดรสของผู้ที่ “โพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี”

โดยทางทีมทนายความยืนยันว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายกฯ ไปถึงขั้นแบนไอพีแอดเดรสได้ และที่สำคัญ ถ้ามีใครโพสต์ข้อความ สามารถใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ในการจัดการผู้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จได้ หรือในกรณีที่ต้องการลบข้อโพสต์ สามารถใช้คำสั่งศาลอาญาขอลบข้อความได้ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 การออกประกาศลักษณะนี้จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชน

ศาลแพ่งจะนัดฟังคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ในวันที่ 6 ส.ค…อย่างไรก็ตาม ผลจากการออกคำสั่งดังกล่าวของนายกฯ ก็กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหนัก ว่า “รัฐบาลพยายามปิดหู ปิดตา ปิดปาก” เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วว่า ถ้ามีการกระทำเช่นนี้แปลว่ารัฐบาลกำลังหมกเม็ดอะไรอยู่? หรือ กลัวคำวิจารณ์และข้อเรียกร้องของประชาชนมาก ทั้งที่หลายคนก็มองว่า คำวิจารณ์เหล่านี้มีผลให้รัฐรีบปรับนโยบายให้ตรงกับความต้องการของประชาชน เรามีสิทธิ์พูด ก่อนหน้านี้ก็มี คำสั่งฉบับที่ 27 เรื่องห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว ประชาชนก็ออกมาต่อว่า คนดังก็ออกมาคอลเอาต์กัน

พอมาถึงขั้นสั่งแบนไอพีแอดเดรส  ยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเข้าไปใหญ่ ..ถ้ามองว่า ฝ่ายรัฐบาลมีไอโอ หรือปฏิบัติการทางอินเทอร์เน็ตในการปล่อยข่าวหรือด้อยค่าฝ่ายตรงข้าม ในขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ย่อมมีไอโอได้เช่นกัน ในการให้ข่าวในเชิงด้อยค่ารัฐบาล อย่าลืมว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์และการช่วงชิงอำนาจ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายตรงข้ามพร้อมถล่มด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจให้ได้ทันที

แต่ถ้ายังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการสื่อสาร ตัวนโยบายรัฐบาลก็ไม่ชัดเจนและกลับไปกลับมาหลายเรื่อง หลายคำถามประชาชนก็ตั้งคำถามแต่ไม่มีคำตอบ อย่างเช่น ทำไมถึงยังจะซื้อซิโนแวคมาใช้ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็ต้องการ mRNA มากกว่า แล้วเรื่องสต๊อกยาฟาวิฟิราเวียร์พอหรือไม่ อัตราการผลิตทันการระบาดในช่วงระบาดหนักหรือไม่ กระบวนการทำ community isolation หรือ home isolation ไกด์ไลน์จริงๆ คืออะไร สายโทรฯ ด่วนจัดให้พอที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถูกทิ้งหรือยัง

มันไม่ใช่เรื่องที่คนหน้างานส่งเสียงมา แล้วฝ่ายระดับนโยบายทั้งสายข้าราชการประจำและสายการเมืองจะบอกว่า ยังไม่ได้รับรายงาน และพูดจาเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ ได้ว่า ขอให้มั่นใจการดำเนินการว่าเอาอยู่ ซึ่งจะพูดเช่นนั้นได้ รัฐบาลเองก็ต้องสร้างความมั่นใจอย่างเป็นรูปธรรม มีข้อมูลชัดเจนถึงจำนวนวัคซีน จำนวนเตียง การเข้าถึงการตรวจฟรี เรื่องคิวจองวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่นก็ไม่ใช่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อสูงจนคนกลัวทุกวันนี้

พอมันเกิดปัญหาเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล ถ้าพูดถึงในทางการเมือง มันก็สบช่องให้ขั้วตรงข้ามหยิบมาโจมตี เล่นงานรัฐบาลได้รายวัน ยิ่งฝ่ายการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลที่ทำงานแข็งขันมาก ใช้หลักฐานเอกสารออกมาสู้ข้อมูลรัฐบาล แต่ภาครัฐดันใช้หลักฐานสู้น้อยไปหน่อย .. ส่วนประชาชนเองนั้น ความไม่พอใจต่อมาตรการต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการดูแลรักษาไปถึงการเยียวยา ทำให้มีอคติกับรัฐบาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็พร้อมจะเชื่อและจะแชร์ข่าวร้ายๆ ของรัฐบาลไปในวงกว้างได้ มีหลายคนที่ความกลัวทำให้เกิดจินตนาการเสริมเติมแต่งเข้าไปอีก โดยเฉพาะเวลาเอาไปพูดปากต่อปาก

เรียกว่า แม้แต่สงครามข่าวสารรัฐบาลก็พ่ายแพ้ราบคาบ ฝั่งเชียร์รัฐบาลออกมาก็กลายเป็นตัวตลก ไปจนถึงถูกมองว่า “ปล่อยข่าวปลอมหรือเปล่า?” จะชนะสงครามข่าวสารได้มันต้องเริ่มจากอันดับแรกคือ ผลงานต้องชัด ความโปร่งใสของการดำเนินการอะไรต่างๆ และการกำหนดนโยบายต้องคิดรอบคอบไม่ให้คนยิ่งด้อยค่ารัฐบาล อย่างประกาศห้ามซื้ออาหารเองในห้าง คนก็สงสัยว่า แล้วเวลาไปซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อทำไมทำได้?

ลักษณะหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้ต่อสงครามข่าวสาร คือ “การพยายามนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้ตอบคำถามสื่อแบบตอบโต้กันทันทีมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่บทจะตอบคำถามสื่อก็เอาคำถาม (ที่น่าจะอยากตอบ) มาตอบผ่านเพจของรัฐบาลอย่างเพจไทยคู่ฟ้า และย้ำรัวๆ ว่าขอให้มั่นใจรัฐบาล ซึ่งการย้ำเช่นนั้น แทบไม่ช่วยอะไร ในสถานการณ์แบบนี้ ที่ “คนต้องการความชัดเจนเรื่องความพร้อมและแผนปฏิบัติการ”

มีคนแนะนำว่า “นายกฯ อย่าพูดเยอะ เอาเนื้อๆ เน้นๆ” เพราะลักษณะการทำอินโฟกราฟิกภาพข่าวแล้วใส่คำพูด (quote) มักจะเอาประเด็นที่แรงมาใช้โดยไม่เอาเนื้อหาเต็มมา อย่างกรณีนายกฯ พูดว่า “ประชาชนไม่มีวินัย” ก็ถูกทำภาพโดยใส่คำพูดมาแค่นั้น คนก็ไม่พอใจเพราะโดนหาว่าด่าเหมารวม แม้นายกฯ พยายามพูดว่า มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีวินัยจริงๆ ในการกักตัว เช่นไปปิดห้องโรงแรมจัดปาร์ตี้กันแล้วมีคนติดโควิด หรือเที่ยวจัดบ่อนวิ่งกันตามที่ต่างๆ

พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่บริหารแบบรวมศูนย์ ทำให้ถูกคาดหวังจับตาการทำงานที่สุด อย่าพูดยาว อย่าตัดพ้อ อย่าพยายามสั่งสอนใคร แต่เอาข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมาพูดสั้นๆ เช่น พูดเลยว่า สต๊อกยาฟาวิฟิราเวียร์มีเท่าไร จะจ้างบริษัทไหนผลิตเพิ่มให้ทันความต้องการ สต๊อกวัคซีนมีเท่าไร จะฉีดได้จริงจังตอนไหน เตียงโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ออกมาทีต้องกางข้อมูลสถิติที่ชัดเจนและไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้ถูกโจมตีหนักอีก เรื่องขอความร่วมมือก็พูดสั้นๆ อย่างเอาสถิติจากต่างประเทศมาให้ดูว่า ถ้าให้ความร่วมมือในการกักตัวจะช่วยลดการติดเชื้อได้กี่เปอร์เซ็นต์

บางเรื่องที่เป็นความจริง เช่น คนป่วยตายข้างทาง คนป่วยตายคาบ้าน ก็ ยอมรับและหัดขอโทษพร้อมบอกมาตรการแก้ไข ไม่ใช่แค่สั่งว่า “ต้องแก้ไขอย่าให้มี” แล้วพอ ถ้าระดับผู้บัญชาการสั่งไปเช่นนั้น น่าสงสัยว่าตัวเล็กตัวน้อยที่ทำงานจะกล้ารายงานความจริงหรือไม่? เพราะกลัวถูกลงโทษ  ที่สำคัญ ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นความตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าปล่อยให้นักการเมืองฝั่งตัวเองมาเป็น “สายแทงก์” หรือสายชนดะ ออกมาโจมตีว่าบางกรณีเป็น การจัดฉาก ต้องยอมรับว่ามันมีปัญหาจริง และชี้แจงอย่างใจเย็นไม่ใช่มาตีโวหารให้เขาเอาคำพูดบางคำพูดไปขยายความด่ารัฐบาลอีก

กรณีที่มีการปล่อยข่าวปลอม ตำรวจกับดีอีเอสต้องทำงานเชิงรุก ตรวจสอบแล้วรีบออกมาแก้ข่าวหรือดำเนินคดีผู้ปล่อยข่าว ไม่ใช่จับดะไปก่อน เช่นเมื่อวันที่ 2 ส.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.  ตรวจพบว่า มีข่าวปลอมเรื่องการใช้ยา 6 ชนิดไว้รักษาโควิดที่บ้าน ซึ่งตรวจสอบกับกรมการแพทย์แล้วเป็นข่าวปลอม ใช้ยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตราย ก็รีบออกมาชี้แจง พร้อมทั้งให้ประชาชนถามว่า นี่คือข่าวปลอมหรือไม่ ได้ทาง เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์, เฟซบุ๊ก : ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ : @AFNCThailand, ไลน์ : @antifakenewscenter และโทร. 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

มีหลายคนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เองทำงานแบบ “ไม่ใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์” ตัวเองมีอำนาจเต็มตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายเรื่องน่าจะนำมาใช้เพื่อเร่งรัดการรักษา การตรวจ การป้องกันการขาย rapid antigen test kit ในราคาแพง กระจายงานให้หน่วยอื่นอย่างทหารมาช่วย เอื้อเอกชนให้ช่วยดูแลผู้ป่วย แต่ดันเอาอำนาจไปควบคุมการสื่อสารของประชาชน เรื่องนี้ถูกตีมากเพราะใครๆ ก็มองว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิ และทักท้วงว่า “เมื่อรัฐบาลขับเคลื่อนด้วยเสียงด่า ทำไมถึงทนฟังประชาชนไม่ได้” ประมาณว่า กับเรื่องปิดปากล่ะเร็วนัก แต่พอทำงานต้องยึดขั้นตอนราชการ

และความเป็นทหารเก่า อาจทำให้นายกฯ ชินกับวิธีคิดแบบ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” (ซึ่งหมายถึงมองว่าใครคิดต่างเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ก็ไม่รู้) ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องเปิดกว้างในการรับฟังเสียงสะท้อนการทำงานของรัฐบาลอย่างมาก ต้องใช้ข้อเท็จจริงเข้าชี้แจงหรือต่อสู้กัน ไม่ใช่สั่งห้ามพูด ย้ำว่า ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะแก้เกมการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามได้ ต้องพร้อมตอบคำถาม โปร่งใส ทำงานรวดเร็ว ไม่กลับไปกลับมา ข้อมูลชัดเจน

ในภาวะแบบนี้ ถึงไม่มองมุมการเมือง รัฐบาลก็พ่ายแพ้ต่อสงครามข้อมูลข่าวสารไม่ได้ เพราะยิ่งเมื่อความเชื่อมั่นลดน้อยลง จะเกิดภาวะรัฐล้มเหลวที่รัฐบาลบริหารจัดการอะไรไม่ได้จนอะไรๆ มันยิ่งพัง.

…………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”