ภาวะการขาดแคลนเชื้อเพลิงในลาวคือสัญญาณล่าสุดของความตึงตัวทางเศรษฐกิจในลาว ซึ่งเป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินกีบเสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปริมาณหนี้สาธารณะของประเทศกลับพอกพูน เป็นความท้าทายอย่างมากให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่ปี 2518
รายงานโดยบริษัทมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ของสหรัฐ ระบุว่า ลาวกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ ภาระหนี้สาธารณะที่พอกพูน แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศกลับมีไม่เพียงพอ ที่จะใช้จัดการกับภาระหนี้ได้
ขณะที่รายงานโดยธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) ระบุว่า สถิติล่าสุดถึงเมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศของลาว อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 45,903 ล้านบาท ) แต่มูลค่าหนี้ต่างประเทศซึ่งต้องชำระคืนในแต่ละปี กลับจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกันนี้ไปจนถึงปี 2568 “เป็นอย่างน้อย” ซึ่งเป็นมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( จีดีพี ) ของลาว
สถาบันสูงสุดทางการเมืองของลาว คือพรรคประชาชนปฏิวัติลาวน่าจะสัมผัสกับแรงเสียดทานจากภายนอก ทั้งที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สงครามอันยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน และวิกฤติการณ์ในศรีลังกา ซึ่งน่าจะเป็น “ตัวอย่างชัดเจนที่สุด” พร้อมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่ลาวจะเผชิญกับการประท้วงแบบเดียวกับศรีลังกา โดยความน่าจะเป็นคือการที่รัฐบาลลาว “พยายามซื้อเวลา” จนกว่าวิกฤติครั้งนี้จะคลี่คลายไปได้เอง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว “อาจต้องมีการเสียสละ” ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคน อาจเป็นระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือถึงขั้นนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี ทว่าการประวิงเวลาครั้งนี้ไม่น่าทำได้นานนัก เนื่องจากสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนบรรดาผู้บริหารระดับสูงของพรรค ยังไม่สามารถตกผลึกหนที่ดีกว่านี้ เพื่อบรรเทาวิกฤติที่มีแต่จะลุกลาม
ในรอบปีล่าสุด เงินกีบของลาวอ่อนค่ามากกว่า 36% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อในลาวพุ่งสู่ระดับสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2547 โดยอยู่ที่เกือบ 13% เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นภาวะเลวร้ายมากทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ กับประเทศที่ประชากรมากกว่า 1 ใน 3 มีคุณภาพชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )
การที่เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แน่นอนว่าส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะเชื้อเพลิง ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานสถานการณ์ในเวลานี้ ว่าลาวนำเข้าเชื้อเพลิงได้ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จากที่ตามปกติต้องการเดือนละประมาณ 120 ล้านลิตร เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
แม้รัฐบาลลาวคาดการณ์เศรษฐกิจของตัวเองจะเติบโตประมาณ 3.8% ในปีนี้ แต่เป็นผลจากความคืบหน้าในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ นายอเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้แทนเวิลด์แบงก์ประจำลาว กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาวตอนนี้ เป็นผลลัพธ์ชัดเจนของการบริหารจัดการหนี้ และการสร้างรายได้เข้าประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลลาวควรทบทวนแนวทางเพิ่มรายได้สาธารณะ ที่รวมถึงการปรับแก้มาตรการยกเว้นภาษี
หนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของลาว และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับทุกประเทศในภูมิภาค นั่นคือ “กระแสไฟฟ้า” ในฐานะ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” อย่างไรก็ตาม การที่กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกมาแทบทั้งหมด มีไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่เพียงประเทศเดียว รายได้เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอ ขณะที่โครงการรถไฟขนส่งสินค้ากับจีนยังคงเป็นระบบที่ต้องจับตาในระยะยาว ว่าการส่งออกแบบนี้จะยังคงเป็นที่ตอบรับของตลาดอยู่อีกหรือไม่ ภายในระยะเวลาอีก 10 ปีนับจากนี้
เศรษฐกิจของลาวในปัจจุบันพึ่งพาไทยและจีนเป็นหลักอย่างชัดเจน กระนั้น หากยังคงขาดการขับเคลื่อนนโยบายภายในที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจของลาวจะอ่อนแอมากขึ้นเป็นลำดับ และดำดิ่งลงสู่หุบเหวของวิกฤติที่ลึกยิ่งกว่านี้ภายในอีกไม่นาน แล้วประเทศที่จะได้รับแรงกระแทกมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นไทยกับจีน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : XINHUA, Royal Thai Government