อาการ “ไอ” เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ถือเป็นกลไกในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้เจ้าตัวรู้สึกโล่ง สบายมากขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาการไอเป็นหนึ่งในช่องทางการแพร่ หรือส่งต่อเชื้อโรคหลาย ๆ โรค ที่ปนออกมากับสารคัดหลั่งในลำคอได้ ไม่ว่าจะเป็นนํ้าลาย หรือเสมหะ
โดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤติระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายลักษณะของการไอเอาไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการสังเกตตนเองและคนรอบข้างได้ หากว่ามีอาการไอจนผิดปกติจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ลักษณะของเสียงไอ สามารถแบ่งจำแนกตามรูปแบบต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ไอมีเสมหะ พบในภาวะติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อันเป็นผลจากการที่ร่างกายมีการขับสารเมือก หรือสารคัดหลั่งออกมาในระบบหายใจ จนทำให้เกิดอาการไอร่วมกับมีเสมหะ
ไอแห้ง เกิดจากการระคายคอ หรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนกระตุ้นให้เกิดการไอ โดยไม่มีเสมหะปน สาเหตุที่พบได้ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ ยาลดความดันโลหิตกลุ่มของ ACEi Inhibitor และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไข้ COVID-19
ไอเสียงก้อง พบในเด็ก เกิดจากการบวมของระบบทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณกล่องเสียง และหลอดลม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “ครูป” (Croup) คนไข้อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงแห้ง หายใจมีเสียง มีไข้ ร่วมกับอาการไอเสียงก้อง
อาการไอที่พบเวลากลางคืน เป็นผลจากการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจที่ถูกกระตุ้นในช่วงกลางคืน อาจสัมพันธ์กับท่าทาง เช่น เสมหะไหลลงคอขณะนอน ที่พบได้ในโรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ อีกทั้งอากาศเย็น หรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของหลอดลม ส่งผลให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้โรคหืด
อาการไอสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ไอเฉียบพลัน คือ อาการไอที่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ 2. ไอกึ่งเฉียบพลัน คือ อาการไอตั้งแต่ 3–8 สัปดาห์ 3. ไอเรื้อรัง คือ อาการไอต่อเนื่องที่มากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป
“หากมีการไอเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น ไอเสมหะปนเลือด เสียงแหบ มีไข้ นํ้าหนักลด หอบเหนื่อย ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก สำลัก ขอให้มาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม”
พญ.พวงรัตน์ ระบุว่า สำหรับแนวทางการรักษา ต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ อีกทั้งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง ก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาอาการไอได้มาก โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น สารก่อการระคายเคือง ฝุ่น สารเคมี ควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศเย็นจะกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการหดตัว ควรทำให้ร่างกายอบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ กรณีที่สูบบุหรี่ ควรงดการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม โทร. 0-2483-9999 I www.navavej.com.
คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง