พรรคเพื่อไทยเพิ่งเปิดตัว “หมอชัย” นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ พร้อมคณะ เข้าเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับ “หมอชัย” นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นนักวิชาการทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงการเกษตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยักษ์ใหญ่
ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับนายสัตวแพทย์ชัย เกี่ยวทิศทางของภาคเกษตรและนโยบายการทำงานในพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งคราวหน้า
ผลักดัน! พ.ร.บ.ว่าด้วยประสิทธิภาพประสิทธิผล
นายสัตวแพทย์ชัยกล่าวว่าปัญหาประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ คือความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการบ้านเมือง พูดง่ายๆ ว่าเรามีปัญหากับคำว่า Efficiency เพราะอะไร เพราะสังคมไทยติดหล่มมาหลายทศวรรษกับการชักนำของชนชั้นนำ (Elite) พยายามปั่นอยู่ตลอดเวลาว่าประเทศไทยมีปัญหาทุกวันนี้เพราะการคอร์รัปชั่น
“ผมไม่เถียง แต่ไม่คิดว่าคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศเป็นแบบนี้ ผมมองว่าหัวใจสำคัญคือความไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ Elite จะบอกว่าถ้าไม่มีคอร์รัปชั่น เดี๋ยวประเทศดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ผมว่าไม่จริง เนื่องจากคนใสสะอาด ไม่คอร์รัปชั่น แต่ไม่มีความสามารถ ไม่มีฝีมือ ไม่มีวิสัยทัศน์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในขณะเดียวกันเรื่องประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนวัดผลได้ แต่เรื่องคอร์รัปชั่น มันอยู่ที่ใครฝีปากดีกว่ากัน อยู่ที่การตีความกฎหมายใครเก่งกว่ากัน หรืออาจจะอยู่ที่ว่าเป็นคนของฝ่ายไหนด้วย”
เราต้องยอมรับว่าที่ประเทศแย่ทุกวันนี้ เพราะเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ยกตัวอย่างอเมริกาตั้งแต่ก่อตั้งเป็นประเทศ อะไรที่พิธีรีตองมากเขาไม่เอา เขาเน้นผลลัพธ์ การเขียนรัฐธรรมนูญก็สั้นๆ อะไรที่ยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ ซ้ำซ้อน เขาไม่ทำ จึงนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพ
แต่บ้านเราเน้นพิธีรีตอง ออกกฎหมายไว้เยอะแยะไปหมด แต่สุดท้ายกลายเป็นกับดักตัวเองไม่ให้เดินไปข้างหน้า ยกตัวอย่างปัญหาโรคระบาดสัตว์ เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ นักระบาดวิทยารู้กันทั้งนั้นว่าต้องทำอย่างไร ถ้าไม่มีวัคซีน การยับยั้งเชื้อโรคไม่ให้ระบาดออกไป ก็ต้องเร่งทำลายสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำให้เร็ว เพื่อหยุดยั้งโรคให้เร็ว แต่ปรากฏว่าทำไม่ได้ทันที เนื่องจากมีกฎกระทรวงว่าก่อนทำลายสัตว์ต้องกำหนดค่าชดเชยก่อน รัฐมนตรีมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปตั้งคณะกรรมการประชุมหารือกันเรื่องจ่ายชดเชย โดยมีเวลา 30 วัน ถ้าคณะกรรมการตกลงกันไม่ได้ ให้ยืดเวลาออกไปอีก 30 วัน แบบนี้เสร็จแน่!
นี่เป็นเพียง 1 ตัวอย่างที่ทำให้ตนนึกถึงคำว่า Efficiency หรือประสิทธิภาพ ซึ่งต้องกระตือรือร้นทำทันที ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 เดือนไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยว่าต้องการผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริหาร (Law of Efficiency) ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
“คนหัวก้าวหน้าเขาคิดกันแบบผมนี่แหละ ว่าประเทศไทยมีกฎหมาย มีกฎระเบียบเยอะแยะไปหมด แล้วก็ถ่วงความเจริญ ถ้าจะแก้เป็นรายฉบับต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นจึงต้องกิโยตินกฎหมาย หรืออาจจะไม่ต้องไปยุ่งกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ แต่ใช้ Law of Efficiency มาคลุมไปเลย”
“เกษตรดั่งเดิม-รอน้ำฝน” ไปไม่รอด!
เมื่อถามเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในภาคเกษตร (พืช-สัตว์) นายสัตวแพทย์ชัยกล่าวว่า ทุกคนรู้ดีว่าเศรษฐีเบอร์ 1 ในภาคเกษตรของไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์คือใคร จริงๆ คนรวยในภาคการเกษตรไม่ได้มีแค่รายเดียว แต่ยังมีอีกหลายราย แต่เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรผู้ยากจนแล้ว ตัวเลขห่างกันมาก ทั้งที่อยู่ผืนแผ่นดินเดียวกัน สภาพดินฟ้าอากาศเหมือนกัน เพราะยังเป็นเกษตรกรแบบดั่งเดิม รอน้ำฝน ไม่มีความแม่นยำ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี ใช้วิทยาการสมัยใหม่ในการคำนวณน้อยมาก
ต่างจากกลุ่มเศรษฐีที่เป็นเกษตรกรแม่นยำ เพราะใช้เทคโนโลยี ใช้ความก้าวหน้าในการคำนวณ เราทราบกันดีว่าพืชชอบน้ำ แต่ไม่ชอบฝน เพราะฝนเป็นน้ำที่ไม่มีกาลเทศะ ในยามที่พืชอิ่มน้ำแล้ว แต่ฝนยังตกลงมาอีก แต่ในยามพืชที่ต้องการน้ำ ฝนกลับทิ้งช่วง ดังนั้นการปลูกข้าวนาปรังจึงได้ผลผลิตดีกว่าข้าวปี ทั้งที่ข้าวนาปีปลูกช่วงฤดูฝน แต่นาปรังมีการให้น้ำแม่นยำกว่า ในปริมาณที่จำเป็นและพอเหมาะ
ภาพรวมประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตร 140 ล้านไร่ (นาข้าว 69 ล้านไร่) ทำรายได้ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท/ปี เฉลี่ยแล้วทำรายได้ 10,000 บาท/ไร่/ปี ขณะที่ “จีดีพี” ของประเทศอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท/ปี ดังนั้นภาคการเกษตรของไทย 140 ล้านไร่ จึงมีมูลค่าทางจีดีพีต่ำมาก ส่วนประเทศญี่ปุ่นพื้นที่การเกษตรทำรายได้เฉลี่ย 85,000 บาท/ไร่/ปี สูงกว่าเรากว่า 8 เท่า ยิ่งหันมามองชาวนาไทยไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่เฉลี่ยทำนา 21 ไร่ ทำนา 1 ครั้ง เหลือกำไร 24,000 บาท ทำนา 2 ครั้งได้ 48,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท ถือว่าต่ำ แล้วถ้าทำนากัน 2 คนสามีภรรยา ยิ่งถือว่าต่ำกันไปใหญ่
ถึงเวลาต้อง! ผ่าตัดยกเครื่องภาคการเกษตร
ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำจำนำข้าวถือว่าเป็นโครงการที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับชาวนา และมากที่สุดจากทุกโครงการ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ตนเคยพูดว่าทั้งโครงการจำนำข้าว และโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลปัจจุบัน ทำกันอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้หรอก เพราะคนอาชีพอื่นๆ จะโวยวาย ว่าทำไมรัฐบาลเอางบประมาณมาอุ้มแต่ชาวนา แล้วไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างมั่นคงในระยะยาว
แต่เมื่อตนเข้าสู่การเมืองแล้วมีเป้าหมายอะไร? เป้าหมายคือต้องการ “ผ่าตัดยกเครื่องภาคการเกษตร” ทั้งหมด พื้นที่เกษตรของญี่ปุ่นทำรายได้ไร่ละ 85,000 บาท ของเราไม่ต้องถึงครึ่งของญี่ปุ่น แต่มั่นใจว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ คือต้องการเพิ่มอีกไร่ละ 20,000 บาท/ปี จากเดิมไร่ละ 10,000 บาท ขยับเป็นไร่ละ 30,000 บาท
ถ้าเพิ่มอีกไร่ละ 20,000 บาท/ปี คือเพิ่มขึ้นมา 2.8 ล้านล้านบาท เงินก้อนนี้หมุนให้ระบบเศรษฐกิจอีก 2.5 เท่า จะกลายเป็น 7 ล้านล้านบาท รวมกับของเดิม 1.4 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึงจีดีพีของ 140 ล้านไร่ คือ 8.4 ล้านล้านบาท ครึ่งหนึ่งของจีดีพีทั้งประเทศเลยทีเดียว
“ปลูกข้าว 1 ไร่ มีกำไร 1,000-2,000 บาท เราจะปลูกไปทำไม เพราะผลผลิตข้าวตอนนี้ใช้บริโภคในประเทศครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งส่งออก ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก และมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เราภูมิใจไปทำไมกับแชมป์ส่งออกข้าว ตราบใดที่ชาวนายังยากจน มีหนี้สินมากมายอยู่”
ทำไมไม่ปลูกข้าวโพดที่ประเทศไทยต้องนำเข้าปีละ 3 ล้านตัน กำไรต่อไร่สูงกว่านาข้าว ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อยกว่า รวมทั้งถั่วเหลืองเราต้องการปีละ 4.5 ล้านตัน แต่ปลูกได้แค่ 3-4 แสนตัน ต้องนำเข้ากว่า 4 ล้านตัน ถ้าจะปลูกถั่วเหลืองทดแทนต้องใช้พื้นที่เป็นล้านไร่ รายได้ดีกว่านาข้าว และไม่ต้องส่งไปขายแข่งกับใคร
เปลี่ยนแปลงแล้วไม่ล้มเหลว-เหนื่อยน้อยลง-รายได้ดีขึ้น
ส่วนพืชอีกตัวที่มีอนาคตคือ “ทุเรียน” ยังไปได้อีกไกล เพราะทุเรียนไทยอร่อย แล้วก็ไม่ง่ายที่ประเทศอื่นจะปลูกสู้เราได้ เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชอ่อนไหว ปลูกยากพอสมควร หนาวจัดก็ไม่ได้ ฝนชุกก็ไม่ดี ลมแรงพายุเข้าบ่อยๆ แบบเวียดนามก็ไม่ได้ เพราะต้นจะล้ม ลูกจะร่วงหมด ตอนนี้คนมาเลเซียบริโภคทุเรียนสูงมาก ถ้านับทั้งลูกเฉลี่ย 11 กก./คน/ปี แต่คนจีน 1,400 ล้านคน ยังบริโภคทุเรียนแค่ 3 ขีด/คน/ปี ถ้ามีรถไฟความเร็วสูงขนส่งได้เร็วๆ และคนจีนบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 1 กก./ปี เราต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนอีกเป็นล้านไร่ และต้องกระจายปลูกไปทั่วทุกภาค เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาพร้อมกัน
ทุเรียน 1 ไร่ ให้ผลผลิต 1,500 กก. กก.ละ 120 บาท ทำรายได้ 180,000 บาท ดังนั้นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม โดยเฉพาะภาคอีสาน ถ้าไม่ปลูกทุเรียน ก็ปลูกหญ้าไว้เลี้ยงวัวเนื้อ เอาสายพันธุ์ดีๆ จากต่างประเทศเข้ามาผสมกับวัวพื้นเมือง ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ๆ ทำได้แล้วเนื้อวัวคุณภาพ กก.ละ 1,200-1,500 บาท ในขณะที่เนื้อวัวนำเข้า กก.ละ 3,000 บาท แต่ยังเลี้ยงกันในปริมาณน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเกษตรดั้งเดิม สายพันธุ์วัวยังไม่แม่น-สูตรอาหารข้นยังคำนวณไม่ดี-ทุ่งหญ้าปล่อยไปตามยถากรรม
ปัจจุบันวัวเนื้อไม่พอกับการบริโภคภายในประเทศไทย ต้องนำเข้ามาจากชายแดน ส่วนประเทศจีนก็ต้องการวัวเนื้อจำนวนมาก จีนจึงให้โควตา สปป.ลาว 5 แสนตัว แต่ลาวจะเอาวัวเนื้อ 5 แสนตัวมาจากไหน ลาวก็ต้องมาคุยกับคนไทย วันนี้ถ้าล้อมเชือกปลูกหญ้าเลี้ยงวัว 1 ไร่ ในรอบ 1 ปี ตัดหญ้าได้ 9 ครั้ง ครั้งละ 2,000 บาท มีรายได้มากกว่าทำนา แถมปลูกง่าย ดูแลง่าย ลงทุนน้อย และใช้น้ำน้อยกว่า
“นี่คือบางส่วนที่ยกตัวอย่างมา เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ทุเรียน วัวเนื้อ อันที่จริงมีมากกว่านี้ เอาไว้รอใกล้ๆ เลือกตั้งก่อน แล้วยังไม่ได้เฉี่ยวนโยบาย “กัญชา” ของพรรคภูมิใจไทยเลยนะ (หัวเราะ) คือทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และใช้งบประมาณไม่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว ถ้าลดได้ปีละ 4-5 ล้านไร่ อะไรๆ จะดีตามมาเอง ผมยืนยันว่าต้องผ่าตัดยกเครื่องภาคการเกษตร เพื่อต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ล้มเหลว เกษตรกรเหนื่อยน้อยลง แต่มีรายได้มากขึ้นกว่าเดิม” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว