ก่อนที่เจ้าตัวจะตัดสินใจพักงานวงการบันเทิงชั่วคราวเพื่อบำบัดรักษา โดยทั้งคนในวงการบันเทิงและประชาชนทั่วไปได้มีการออกมาให้กำลังใจศิลปินนักร้องชื่อดังคนนี้กันอย่างล้นหลาม ขณะที่กรณีดังกล่าวนี้ก็ทำให้ผู้คนในสังคมไทยหันมาสนใจ “แนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” กันอีกหน ซึ่งเรื่องนี้…นอกจากการ “ดูแลใกล้ชิด” แล้ว…กับ “การสื่อสาร” นี่ก็ต้องตระหนัก…

“คำพูด-ถ้อยคำ-ประโยค” ที่ใช้ในการ “สื่อสาร” นั้น…

นี่ “เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ใช้เฝ้าระวังเหตุน่าเศร้าได้”

อาจเป็น “จุดสังเกต” และ “ควรต้องมีหลักสื่อสาร”…

ทั้งนี้ โฟกัสที่การ “ป้องกันการคิดสั้น” ที่เกี่ยวโยงกับ “โรคซึมเศร้า” นอกจาก “สังเกตพฤติกรรม” ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงจากการป่วยด้วยภาวะซึมเศร้าแล้ว กับเรื่อง “ภาษา” นั้น…เรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยสะท้อนผลการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการ ซึ่งถึง
วันนี้ก็ยังน่าสนใจ โดยมีการวิเคราะห์ “ประโยค-ถ้อยคำ-คำพูด” จนพบว่า…นี่ก็เป็นอีกแนวทางที่ใช้เพื่อ “เฝ้าระวัง” ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ภาษา การสื่อสาร และโรคซึมเศร้า : การสำรวจแนวทางพัฒนาการสื่อสารด้านโรคซึมเศร้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของเยาวชนไทย” โดย ผศ.ดร.จันทิมา อังคพณิชกิจ และคณะ

พลิกแฟ้มดูกันอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องน่าสนใจและน่าตระหนักเรื่องนี้… คณะผู้วิจัยได้ให้เหตุผลของการศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า… “โรคซึมเศร้า” ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ “สร้างผลกระทบมาก” ซึ่งปัจจุบันก็มีการ “สื่อสารเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า” เพิ่มขึ้น โดยมักจะออกมาจากหน่วยงานสาธารณสุข อย่างไรก็ดี หากความรู้เหล่านี้ได้กระจายสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น จะเกิดเป็น “ความรู้พื้นฐานในการลดความเสี่ยง-เฝ้าระวังป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์” ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดโครงการฯ นี้ขึ้น…จนค้นพบ “ลักษณะภาษาบ่งชี้โรคซึมเศร้า” และเกิดเป็น “คลังข้อมูลภาษาซึมเศร้า” จากประสบการณ์ตรงของผู้มีภาวะซึมเศร้า

ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวได้มีการเน้นย้ำไว้ว่า… ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดระบบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น แต่กระนั้น…อย่างน้อยก็ทำให้ได้ชุดข้อมูลภาษาที่ใช้เป็น “ข้อสังเกต” เพื่อ “จับสัญญาณเบื้องต้น” เกี่ยวกับ “ภาวะซึมเศร้า” ได้ โดยจากผลการศึกษาได้ค้นพบประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้คือ…

ประโยคที่สามารถใช้บ่งชี้ภาวะซึมเศร้า ที่ค้นพบได้จากผู้มีภาวะซึมเศร้า ที่มักจะพูดบ่อย ๆ เช่น… “ทำไมเป็นเราทุกที”, “ทำไมทำอะไรไม่ดีสักอย่าง”, “เหนื่อย…ไม่มีแรงจะสู้แล้ว” หรือ… “เราผิดเอง”, “เราไม่ดีเอง”, “เราทำพังทุกอย่าง”, “ปล่อยเราไปเถอะ”, “ไม่เป็นอะไร…ไม่ต้องเป็นห่วง” …เหล่านี้อาจเป็น “สัญญาณชี้ภาวะซึมเศร้าของผู้พูด” ได้

ขณะที่ ปัญหาการสื่อสาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง “ผู้ไม่มีภาวะโรคซึมเศร้า” กับ “ผู้มีภาวะโรคซึมเศร้า” ประเด็นนี้ก็น่าตระหนัก ซึ่งผู้ทำวิจัยพบว่า… ส่วนใหญ่ เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายมีความเข้าใจ-มีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งที่พบได้บ่อย ๆ ก็จะมีอย่างเช่นคำว่า… “สู้ ๆ นะ” ที่กับคนทั่ว ๆ ไปจะหมายถึง “การให้กำลังใจ” แต่…ในผู้มีภาวะซึมเศร้าอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ “การตำหนิ” เพราะผู้ที่พูดคิดว่าตนเองเป็นคน “ไม่สู้-ไม่เข้มแข็ง”นี่เป็นตัวอย่างการเกิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ก็ยังมีคำอื่น ๆ ที่น่าตระหนัก ที่พบบ่อยเช่นกัน อย่างคำว่า… ใจเย็น ๆ” ที่ผู้มีภาวะซึมเศร้ามักจะตีความไปเป็นเรื่องของ “การถูกต่อว่า” หรือคิดว่าผู้สื่อสารต้องการบอกว่าเขาเป็นคน “ไม่อดทน-ชอบใช้อารมณ์” …นี่ก็เป็น “คำพูด” ที่มักพบบ่อย ๆ ว่ามีความเข้าใจแตกต่างกัน…จน “เป็นปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างกัน” ได้แบบไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ!!…

ทั้งนี้ “ระวังการใช้คำพูด-ถ้อยคำ-ประโยค” นี่ก็ส่วนหนึ่ง โดยงานวิจัยดังกล่าวนี้ยังได้เสนอแนะไว้ถึง “วิธีสื่อสารที่ดี” ที่นับวันสังคมไทยยิ่ง “น่าจะตระหนักกันไว้” กล่าวคือ… คนรอบข้าง คนใกล้ชิด ควรสื่อสารกับ “ผู้มีภาวะซึมเศร้า” ด้วย “หลัก” ดังนี้ คือ…อย่าตำหนิ ต่อว่า หรือซ้ำเติม เพราะนี่จะยิ่งเป็นการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกด้านลบเพิ่มมากขึ้น อย่าพยายามเสนอแนะคำแนะนำว่าน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ผู้มีภาวะซึมเศร้ามักไม่ต้องการได้ยิน

ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี นี่ก็อีกหลักสำคัญ โดยควรต้องตั้งใจฟังการพูดของผู้มีภาวะซึมเศร้าด้วยความเห็นใจ ใส่ใจ และอย่าขัดจังหวะการพูด นอกจากนี้ คนใกล้ชิด ควรแสดงความรักทั้งด้วยการพูด และสัมผัส เช่น การกอด การโอบไหล่ หรือการจับมือ เป็นต้น …นี่เป็น “หลักในการสื่อสารกับผู้มีภาวะซึมเศร้า” เพื่อที่จะ “ป้องกัน-สกัดกั้นเหตุการณ์น่าเศร้า”

และทางคณะผู้ศึกษาวิจัยก็ยังมี “ข้อเสนอแนะ” ในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า… สังคมไทยไม่ควรมอง “โรคซึมเศร้า” เป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่ควรยกเป็น “วาระแห่งสังคม” เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้า รวมถึงควรจะมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับ “ชุดภาษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า” ทั้งภาษาที่ “ควรใช้ และควรหลีกเลี่ยง” ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการจัดทำคู่มือ “ไกด์บุ๊กซึมเศร้า (Depression guidebook)” ด้วยภาษาที่ เข้าใจง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้าน เพื่อที่คนทั่วไปจะได้เรียนรู้วิธี “ป้องกัน-ให้คำแนะนำคนรอบข้าง” ได้เพิ่มขึ้น…

“ซึมเศร้า” วันนี้ “เป็นปรากฏการณ์ไม่ใหม่ในไทย”

หากแต่ “สื่อสารกับผู้ซึมเศร้า” ก็ “ยังเป็นปัญหา”

“เหตุน่าเศร้าจากซึมเศร้า” นี่ “ยังน่าเป็นห่วง!!” .