ต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันในประเทศไทย ต้องเผชิญ มหาวิกฤติกับเจ้าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์  ถึง ’3 สายพันธุ์  ถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลช่วงปลายเดือน เม.. 64  การระบาดระลอก 3 จากเชื้อกลายพันธุ์ อัลฟา (อังกฤษ B117)  กระทั่งย่างเข้าเดือนมิ..-.. เจ้าเชื้อ  เดลตา (อินเดีย B.1.617.2) เข้ามาแทนจนถูกยกระดับให้เป็นการระบาดระลอกที่ 4 ติดเชื้อง่ายขยายวงไปทั่วประเทศ ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญสายพันธุ์ เบตา (แอฟริกา ใต้  B.1.351) ที่หลุดมาจากมาเลเซียแต่ก็ถือว่ายังล็อกเอาไว้ได้ระดับหนึ่ง

ผู้คนยังติดเชื้อล้มตายราวใบไม้ร่วง ภาพสุดสลดหดหู่ ผู้ติดเชื้อสิ้นใจทั้งตามท้องถนนหรือแม้กระทั่งในบ้านตัวเอง แม้ช่วงกลางเดือน ก.ค. “ศบค.” จะยกระดับมาตรการคุมเข้ม ล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม 13 จังหวัด แต่เชื้อก็ยังพุ่งไม่หยุดชนิดทุบสถิติรายงาน ผู้ติดเชื้อเริ่มขยับจะถึงวันละ 2 หมื่น เสียชีวิตใกล้วันละ 200 คน วันที่ 1 ส.ค. ศบค.ตัดสินใจล็อกดาวน์ต่ออีก พร้อมขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม เป็น  29 จังหวัด ซึ่งวันที่ 2 ส.ค. ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,795 ราย เสียชีวิต 178 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 633,284 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 5,168 ราย)

แม่สอดเร่งแก้วิกฤติ รพ.เตียงล้น

ทีมข่าว 1/4 พยายามตามเกาะติดนำเสนอปัญหาวิกฤติโควิดฯ มารายงานหลากหลายทุกแง่มุมเพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัดทุกภูมิภาค เนื่องจากวิกฤติโควิด ยังระบาดกระจายไปทั่วเกือบทุกพื้นที่ ล่าสุดบริเวณพื้นที่ชายแดนแนวฝั่งตะวันตกของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมาก็น่าจับตาและมองข้ามไม่ได้ เนื่องจากสื่อต่างประเทศรายงานสถานการณ์โควิดในเมียนมาว่า ทางสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความกังวลว่ากำลังขยับเข้าอยู่ในระดับ “เลวร้ายถึงขีดสุด” โดยภายในเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ มีความเป็นไปได้สูงที่ประชากรครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 54 ล้านคนอาจจะติดเชื้อโควิด

ช่วงนี้ทำให้พื้นที่ จ.ตาก และ กาญจนบุรี ซึ่งมีพื้นที่อาณาบริเวณติดต่อกับเมียนมา ต้องยกระดับคุมเข้มด่านชายแดนอย่างมาก โดยล่าสุดทั้ง 2 จังหวัดถูกจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้มด้วย หากไล่จาก จ.ตาก มีพรมแดนติดกับเมียนมา 5 อำเภอ คือ อ.แม่สอด, พบพระ, แม่ระมาด, อุ้มผาง และท่าสองยาง แต่ปัญหาที่พบการระบาดของโควิดมากที่สุดคือ อ.แม่สอด อยู่ตรงข้ามกับ จ.เมียวดี เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเจริญของเมียนมา มีทั้งกาสิโน ศูนย์การค้า ฯลฯ ทำให้มีชาวเมียนมาอาศัยจำนวนมาก มีทั้งทำงานใน จ.เมียวดี บางส่วนก็ข้ามมาเป็นแรงงานอยู่ใน อ.แม่สอด สารพัดอาชีพทั้งรับจ้าง ทำงานเกษตร ไปจนถึงมากสุดจะทำโรงงานต่าง ๆ นายชัยวัฒน์ วิฑิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ให้ข้อมูลว่า โรงงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด มีกว่า 300 โรงงาน  พบแรงงานติดโควิด 30 กว่าแห่ง ได้สั่งปิดโรงงานพร้อมกักตัวตามขั้นตอนของสาธารณสุข ในส่วนของโรงงานส่วนที่เปิดอยู่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.ตาก ได้สั่งมาตรการคุมเข้มต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้สุ่มตรวจตัวอย่าง 5% ของแรงงานในทุก 1 อาทิตย์

ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลในพื้นที่อ.แม่สอด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก  สั่งตั้ง รพ.สนามขึ้น 2 แห่ง คือ รพ.สนามสนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน ขนาด 160 เตียง มีผู้ติดเชื้อ 126 เตียง (คงเหลือ 34 เตียง) และรพ.สนาม ม.ราชภัฏกำแพงเพชร (แม่สอด) ขนาด 198 เตียง มีผู้ติดเชื้อ 153 เตียง (เหลือ 45 เตียง) นอกจากนี้ยังใช้โรงงานต่าง ๆ เป็นที่กักตัวผู้ติดเชื้อเอา
ไว้อีกหลายแห่ง ช่วงนี้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ต้องทำงานหนักมาก บางส่วนต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อใน รพ. รวมทั้งต้องแบ่งกำลังช่วยออกค้นหาผู้ป่วยตามชุมชน และโรงงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้ นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผอ.รพ.แม่สอด เปิดเผยว่า ตัวเลขวันที่  31 ก.ค. ผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลทีมแพทย์ รพ.แม่สอด กว่า 300 ราย ส่วนผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ 1,400 ราย ถูกแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation)

ลุยตรวจหาเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน

ด้าน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ. ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ผู้กำกับการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดตาก ได้มีคำสั่งจังหวัดตาก เรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เร่งตรวจคัดกรองหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ในพื้นที่อำเภอแม่สอด หลังพบสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ อ.แม่สอด มีผู้ติดเชื้อทั้งชาวบ้านและแรงงานเมียนมาจำนวนมากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สอด เลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นเดินทางออกนอกเคหสถาน หรือที่พำนัก โดยไม่จำเป็น ยกเว้นการเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคและบริโภค อาหารหรือเวชภัณฑ์  การเดินทางพบแพทย์การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค  เพื่อปฏิบัติงานหรือประกอบอาชีพ ที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังป้องกันตัวเอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด   

พ.อ.ประสาน เห็นประเสริฐ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด (ฉก.ร.4 แม่สอด) เปิดเผยว่า ได้จัดกำลังทหาร และตำรวจออกตรวจตามแนวชายแดนตลอด 24  ชั่วโมง เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดน หากพบบุคคลต่างด้าวจะจับกุมส่งให้ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดี หลังจากนั้นผลักดันกลับประเทศ ซึ่งทางการเมียนมาก็รับคนของเขากลับ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจับกุมชาวเมียนมาได้วันละ 7-10 คน  อีกส่วนหนึ่งเป็นคนไทยที่ข้ามไปทำงานตามบ่อนกาสิโนหลายแห่งในฝั่งเมียนมา บางส่วนพยายามแอบลักลอบข้ามมาตามช่องทางธรรมชาติเพราะไม่อยากถูกกักตัว 14 วัน ส่วนใหญ่จะตรวจพบติดเชื้อโควิด  และอีกส่วนติดต่อทำเรื่องขออนุญาตข้ามมา ซึ่งทางราชการไทยให้รวบรวมเป็นกลุ่มต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย จากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 พร้อมกักตัว 14 วันอย่างเข้มงวดด้วย

อย่างไรก็ดี ทีมข่าวเดลินิวส์ในพื้นที่ อ.แม่สอด รายงานด้วยว่า ภายหลังจาก ศบค.ประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ โดย จ.ตาก ถูกจัดให้อยู่ใน 29 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม ทำให้บรรยากาศภายในตัวอำเภอแม่สอด เงียบไปอย่างเห็นได้ชัด รถยนต์ที่วิ่งไปมาก็น้อยลง ห้างสรรพสินค้าแทบไม่มีคนเดิน จะมีเพียงชาวบ้านออกมาจับจ่ายซื้อเครื่องบริโภคเท่านั้น ขณะเดียวกันตามด่านแนวชายแดนซึ่งมีลำน้ำเมยขวางกั้น แม้ระดับน้ำจะสูงขึ้นท่วมในบางพื้นที่แต่หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยังคงตรวจตราอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนซึ่งมีทั้งต้องการหนีวิกฤติโควิดเข้ามาหางานทำ นอกจากนี้บางส่วนก็พยายามหาทางมารักษาตัวในเมืองไทย ทำให้วิกฤติชายแดนไทยเมียนมา เป็นอีกเรื่องที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด.