หากพูดถึง “โรคมะเร็ง” แล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นอีกหนึ่งโรคฮิตที่คร่าชีวิตของคนไทย แต่เคยทราบกับบ้างหรือไม่ว่า… “มะเร็ง” 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และที่สำคัญคือ..แม้จะไม่ได้เป็นคนที่สูบบุหรี่ ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้! วันนี้ “Healthy Clean” มีข้อมูลมาฝากกัน

โดย นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า ปัจจุบันถึงแม้ว่าเราจะมีวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้เร็วและแม่นยำ แต่มะเร็งปอดก็คงยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก อาการของมะเร็งปอด ส่วนมากมักไม่มีอาการ แต่อาจเริ่มต้นจากอาการไอ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย บุคคลที่มีความเสี่ยงควรตรวจสุขภาพตัวเองบ่อย ๆ คือผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่ง “บุหรี่” เป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง 

แต่อย่างไรก็ตาม “การสูบบุหรี่แม้เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด แต่ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว” แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าทำไม? ผู้ป่วยที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ถึงสามารถเป็นมะเร็งปอดได้ แต่จากการศึกษาจากงานวิจัยหลาย ๆ ฉบับ ที่เกี่ยวข้องพบว่าสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งปอดได้แก่  

  1. สารเรดอน เป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาท สัมผัสใด ๆ ของมนุษย์ เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในมนุษย์ได้เป็นอันดับที่สอง รองจากบุหรี่  
  2. แร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส เป็นสารก่อมะเร็งที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งโทษและพิษภัยของแร่ใยหินนั้น ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ไต และโรคมะเร็งที่มีชื่อว่า Mesothelioma ซึ่งสามารถพบผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้อยู่บ่อย ๆ ก็คือ กระเบื้องมุงหลังคาแบบลูกฟูก, ท่อระบายน้ำ, กระเบื้องปูพื้น, ฝ้าเพดาน, ฝาผนัง, ฉนวนกันความร้อน, ท่อน้ำร้อน, หม้อไอน้ำ, พลาสติกขึ้นรูปต่าง ๆ 
  3. สารเคมีหนัก  
  4. การสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ตัว (Second Hand Smoker)
  5. พันธุกรรมที่ผิดปกติ

“มีรายงานการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดในทวีปเอเชียราว 30-40% เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน” โดยมากกว่า 50% ของเพศหญิงนั้นไม่เคยสูบบุหรี่  ซึ่งจะแตกต่างจากประเทศในฝั่งทวีปยุโรป ซึ่งมีเพียงแค่ 10-20% เท่านั้นที่ไม่เคยสูบบหรี่ แต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอด  สำหรับมะเร็งปอดไม่ได้พบมากแต่ในผู้ชายเท่านั้น เห็นได้จากสถิติในปี 2018 จากการสำรวจของ World Cancer Research Fund International ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เพิ่มถึง 2 ล้านคน และยังพบ “ผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด”

โดยลักษณะของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่กับไม่สูบบุหรี่นั้น ผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่นั้นส่วนมากมักจะพบมะเร็งชนิดที่เรียกว่า Adenocarcinoma ส่วนผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ มักจะพบเป็น Squamous Cell Carcinoma ซึ่งมักจะพบในหลอดลมขนาดกลาง โดยมักอยู่ตรงกลางกลีบปอด มะเร็งประเภทนี้เกิดจากการกระตุ้นการอักเสบทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจส่งเสริมให้เป็นมะเร็ง แต่มะเร็งประเภท Adenocarcinoma มักจะอยู่ริมปอด นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่เคยสูบบุหรี่มักจะพบความผิดปกติของยีนร่วมด้วย ได้แก่ EGFR (epidermal growth factor), anaplastic lymphoma kinase (ALK), ROS1 และ MET

สำหรับการรักษามะเร็งปอดของผู้ป่วยสูบบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ค่อนข้างคล้ายกัน ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง สำหรับการผ่าตัดนั้นมีบทบาทหลักในกลุ่มที่เป็นมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น (ระยะที่ 1 และ 2) โดยปัจจุบันการผ่าตัดปอดไม่ต้องกลัวอีกต่อไป เราสามารถผ่าตัดผ่านทางการส่องกล้องโดยเทคนิคที่เรียกว่า “Vats” ซึ่งการผ่าตัดจะมีแผลขนาดเล็ก 3-4 ซม. ช่องเดียว ส่งผลทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับมาดำรงชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 3 และ 4 การให้ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Target therapy) และการฉายแสง เข้ามามีบทบาทเป็นหลัก

A selective closeup shot of a female lighting up a cigarette with a lighter

นอกจากนี้ ทางด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้เผยถึงแนวทางการณรงค์เพื่อลดโอกาสการเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง ด้วยการร่วมรณรงค์ 10 ข้อดังต่อไปนี้

  1. ฉันจะป้องกันไม่ให้ลูกหลานในบ้านติดบุหรี่ โดยเป็นแบบอย่างที่ไม่สูบบุหรี่
  2. ถ้าฉันไม่สูบบุหรี่ ฉันจะหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง
  3. ฉันจะทำให้สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว บ้าน ที่ทำงาน ชุมชนปลอดควันบุหรี่
  4. ฉันจะสนับสนุนกฎหมายที่ให้พื้นที่สาธารณะเป็นเขตปลอดบุหรี่
  5. ฉันจะเผยแพร่ความรู้อันตรายของการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสองเมื่อมีโอกาส
  6. ฉันจะร่วมรณรงค์เพื่อให้ร้านค้าปลีกไม่ขายบุหรี่แก่เด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี  และไม่แบ่งซองขาย
  7. ฉันจะเชิญชวน ให้กำลังใจ และสนับสนุนคนในบ้าน และคนใกล้ชิดในการเลิกสูบบุหรี่
  8. ถ้าฉันสูบบุหรี่ ฉันจะเลิกสูบให้ได้ โดยจะไม่เพียงแต่คิดที่จะเลิก แต่จะลงมือเลิก
  9. ถ้าฉันเลิกสูบด้วยตัวเองไม่ได้ ฉันจะเข้ารับการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ หรือโทรฯ ไปที่ 1600 สายด่วนเลิกบุหรี่
  10. ถ้าฉันยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ฉันจะไม่สูบในบ้าน ในรถส่วนตัว ไม่สูบใกล้คนอื่น ไม่สูบในที่สาธารณะ

ถึงแม้ว่า “มะเร็งปอด” นั้นอาจเกิดได้กับทุกคน แต่การป้องกันก็ย่อมดีกว่าการรักษา ฉะนั้นคนที่คิดจะสูบบุหรี่ก็ขอให้นึกถึงผลเสียที่จะตามมา และควรหลีกเลี่ยงสารเคมี หรือความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด “มะเร็ง” เพราะการไม่เกิดความเจ็บป่วย ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”