โดยเฉพาะที่เก็บไว้เป็นสิบเป็นร้อยใบ อาจต้องเลิกสะสม เพราะความผิดที่มองว่าเล็กๆ น้อยๆ แต่หมักหมมเหล่านี้ สามารถบังคับใช้กฎหมายถึงขั้นขออนุมัติศาลออก “หมายจับ” ได้ มีกรณีตัวอย่างให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ ศาลจังหวัดเชียงราย อนุมัติหมายจับผู้ขับขี่สองรายที่กระทำผิดซ้ำซาก และเพิกเฉยใบสั่งรวมกันเกือบ 80 ใบ!!!
ต้องยอมรับหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 20,000 คน ส่วนหนึ่งมาจากการขาดวินัยจราจร ที่สะท้อนถึงสำนึกรับผิดชอบต่อผู้ร่วมทาง อีกส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่าง จำนวนใบสั่งในมือผู้ขับขี่แต่ละคน มีกี่คนที่ชำระรับผิดชอบตามความผิด…
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดนี้เองเป็นอีกช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ขับขี่หลายราย กล้าทำผิดวินัยจราจรซ้ำๆ จนกลายเป็น “นิสัย” ที่อาจส่งผลร้ายบนท้องถนน
สำรวจพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจรที่ทำให้ต้องออกใบสั่งจำนวนมาก ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สถิติการออกใบสั่งทั่วประเทศ (แยกตามข้อหา) พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับใบสั่งที่มีเกิน 100,000 ใบ ได้แก่
1.ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด, ฝ่าฝืนป้ายจำกัดความเร็ว มีจำนวน 3,801,988 ใบ
2.ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร, เครื่องหมายสัญญาณ หรือสัญญาณอย่างอื่นสำหรับการจราจรบนทางหลวง มีจำนวน 1,362,891 ใบ
3.ขับรถใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด มีจำนวน 1,060,269 ใบ
4.ไม่มีใบอนุญาตขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันทีในขณะขับรถ มีจำนวน 295,422 ใบ
5.ขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ มีจำนวน 254,621 ใบ
6.ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกนิรภัย มีจำนวน 229,446 ใบ
7.เป็นผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร ไม่ขับรถในช่องทางเดินรถประจำทาง มีจำนวน 194,070 ใบ
8.ใช้รถที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน, ยังมิได้เสียภาษีประจำปี, แจ้งการไม่ใช้รถ, ทะเบียนระงับ มีจำนวน 189,432 ใบ
9.ไม่มีสำเนาถ่ายภาพใบคู่มือจดทะเบียนรถ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันทีขณะขับรถ มีจำนวน 174,725 ใบ
10.จอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายห้ามจอด มีจำนวน 131,732 ใบ
11.ฝ่าฝืนสัญญานไฟจราจรสีแดง มีจำนวน 130,086 ใบ
12.ใช้รถที่มีส่วนควบคุมหรืออุปกรณ์ไม่ครบถ้วน มีจำนวน 128,926 ใบ
13.ใช้รถที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนโดยยังไม่ได้ตรวจสภาพ มีจำนวน 121,813 ใบ
มองโดยรวมใบสั่งเหล่านี้เป็นเพียงวินัยเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่าจะทำเป็น “เรื่องใหญ่” แต่ในมุมมองด้านความปลอดภัย การเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่วนรวมจำเป็นต้องปฏิบัติ
แม้บางสุ้มเสียงจะโอดครวญ คล้ายซ้ำเติมภาวะเงินในกระเป๋า แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญกว่า “ราคาค่าปรับ” คือการคาดหวังจะ “ดัดนิสัย” เสียๆ ของคนทำผิดซ้ำๆ ให้ “เข้าที่ เข้าทาง” และเป้าหมายชัดเจนว่าเน้นผู้เจตนาฝ่าฝืนความผิดเดิมๆ ส่อพฤติกรรมซ้ำซาก!!!
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน
[email protected]