หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ส่งผลให้มีประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาในวงกว้าง ขณะเดียวกันก็มีรายงานผู้ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามมาติด ๆ
เรื่องนี้ ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทน ผอ.รพ.ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า เมื่อมีข่าวผลกระทบจากการเสพกัญชามากขึ้นก็เริ่มมีเสียงสะท้อนจากสังคมว่าเป็นการเร่งรัดผลักดันนโยบายเพื่อหวังผลทางการเมืองในขณะที่ยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดี เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การขออนุญาตผลิต การควบคุมการโฆษณาและการจำหน่ายกัญชาและกัญชง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แปลว่า เป็นการปลดล็อกให้เข้าถึงกัญชาได้ค่อนข้างเสรีโดยที่ยังไม่มีแนวทางในการควบคุมและลดผลกระทบจากการเสพกัญชา
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สภาก็มีมติรับหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ซึ่งเป็นข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในประเด็นเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นการปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะส่งผลให้มีจำนวนผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยผู้เสนอกฎหมายให้เหตุผลว่ากฎหมายเดิมเอื้อต่อทุนใหญ่จนสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายย่อย
แม้เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อมีจำนวนผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น อาจจะพยายามหาช่องทางการโฆษณา ส่งผลให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สะดวกยิ่งขึ้น คนดื่มมากขึ้น และนำไปสู่ผลกระทบต่อสังคมที่มากขึ้นคล้ายกับกรณีปลดล็อกกัญชา
“ทั้งกัญชาและแอลกอฮอล์ต่างประกอบด้วยสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของผู้บริโภคซึ่งส่งผลต่อทั้งผู้บริโภคและผู้คนรอบข้างได้”
แต่โชคยังดีสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ควบคุมการเข้าถึงและกิจกรรมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ แต่ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวก็อยู่ในขั้นตอนของสภา เช่นกัน โดยร่างฯ จากภาคประชาชน 2 ฉบับ และร่างฯ กระทรวงสาธารณสุข 1 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในร่างของภาคประชาชนมีการเสนอแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับการควบคุมกิจกรรมการตลาดและการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้การควบคุมนั้นหย่อนลงอย่างมาก
ดังนั้น หากจะถอดบทเรียนจากกรณีปลดล็อกกัญชาเสรีทำให้คนเข้าถึงสารเสพติดที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทก็ต้องมีมาตรการควบคุมผลกระทบในระดับที่เหมาะสม กรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องมีมาตราควบคุมกิจกรรมการตลาดและการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเดิม แต่แก้ไขให้มีความชัดเจนขึ้น ไม่คลุมเครือในการตีความ
การเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพและลดอิทธิพลของทุนใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่อนาคต แต่ในขณะเดียวกันการควบคุมผลกระทบจากผลข้างเคียงของการบริโภคทั้งกัญชาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานหรือแม้กระทั่งชีวิตของประชาชนไทยจากการใช้สารเสพติดเช่นกัญชาและแอลกอฮอล์นั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการที่ตลาดถูกครอบงำโดยทุนใหญ่.
คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง