แก้ปัญหาโควิด

คณะกรรมการโรคติดต่ออยุธยา พร้อมแก้ปัญหาการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา HI/CI เพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. และความช่วยเหลือทาง Call Center หมายเลข 0-3532-1456 ตลอด 24 ชม.

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 38/2564 ผ่านระบบ Zoom จากห้องประชุมอโยธยา ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังทุกอำเภอ และได้รับเกียรติจาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 3 มาร่วมประชุมครั้งนี้ โดยมี นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัด พันเอก (พ) เพิ่มศักดิ์ ขุนโขลน รอง ผอ.รมน.จว. นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ. นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom เพื่อติดตามและกำหนดมาตรการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในจังหวัดฯ รวมทั้งพิจารณามาตรการเร่งด่วนให้สอดรับตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 30 และคำสั่ง ศบค. ที่ 11/2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเร่งรัดแก้ปัญหากระบวนการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษา Home/Community Isolation ให้รวดเร็วขึ้น

โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคลัสเตอร์ภายในเรือนจำจังหวัด และทัณฑสถานบำบัดพิเศษ พบผู้ต้องขังคิดเขื้อโควิด-19 ร่วม 1,362 คน มีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 9 ราย ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมโรค มอบให้ทางเรือนจำดำเนินการนำผู้ต้องขังตรวจพบเชื้อแยกกักห้องแยกกักโรคในแดน B เจ้าหน้าที่ให้ทำ HI ที่บ้านพัก ทำ Bubble เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานและ SEAL ผู้ต้องขังทุกแดน งดการเคลื่อนย้าย ประสาน รพศ.พระนครศรีอยุธยา และ รพ.กลางราชทัณฑ์ ขอรับการสนับสนุนยา Favipiravir ให้แก่ผู้ต้องขังสีเหลือง และประสานจัดหาฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ต้องขังทุกรายตามนโยบายกรมราชทัณฑ์ ประสาน สคร. 4 ในการตรวจเอกซเรย์ปอดผู้ต้องขังทุกราย ด้วยรถเอกซเรย์พระราชทาน จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำจังหวัด รองรับผู้ป่วย จำนวน 300 เตียง จัดตั้ง DATA Center ในเรือนจำเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และบันทึกข้อมูลผู้ป่วยประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลแม่ข่าย (รพศ.พระนครศรีอยุธยา) เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง โดยให้ทางเรือนจำและทัณฑสถาน จัดส่งข้อมูลความคืบหน้าให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อทราบอย่างต่อเนื่อง (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

มทร.เปิดศูนย์เกษตร อาหารปลอดภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัยวิท เฉลิมนนท์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า คณะได้จัดตั้งศูนย์ ความเป็นเลิศด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ (Excellent Center in Agricultural and Food Safety) เป็นศูนย์ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านเกษตรและอาหารปลอดภัยพร้อมถ่ายทอดให้เกษตรกรตามความเหมาะสมและความต้องการของพื้นที่ มีคลินิกให้คำปรึกษาและบริการวิชาการประกอบด้วยหลากหลายสาขาวิชา อาทิ เทคโนโลยีการผลิตพืช สัตวศาสตร์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เครื่องจักรกลการเกษตร และวิทยาศาสตร์การแปรรูปอาหาร เป็นต้น ที่เกษตรกร/หน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการพัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัยวิท เฉลิมนนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการบริการวิเคราะห์คุณภาพของปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ดิน ปุ๋ย และน้ำ การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัยพัฒนาในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรท้องถิ่น การบริการเครื่องมือแปรรูปอาหารและวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารสู่อาหารปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด บริการองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอาหารปลอดภัย รวมทั้งการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อให้เกษตรกรก้าวทันนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหารในการพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการแข่งขันต่อไป (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ตรวจเยี่ยม ศูนย์พักคอย

วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์พักคอย ตำบลสามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอย (community isolation) ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยมีนายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน กำนัน ผู้ให้บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหว้า ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้กล่าวขอบคุณ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน ที่เสียสละเพื่อพี่น้อง ประชาชน ในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

กองบิน 4 ร่วมบริจาคโลหิต

กองทัพไทย กองบิน 4 ร่วมกับ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 8 จังหวัดนครสวรรค์ จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาโลหิตสำรองขาดแคลนเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ที่ขยายวงกว้างไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลง รวมถึงโลหิตสำรองที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลอยู่ในภาวะขาดแคลน

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย ในการนี้ นาวาอากาศเอก เนาวมรัตน์ ประพัฒน์ทอง ผู้บังคับการกองบิน 4 มอบหมายให้ นาวาอากาศเอก นพนันท์ เมืองมีศรี รองผู้บังคับการกองบิน 4 นำข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ ทหารกองประจำการ ครอบครัว กองบิน 4 ร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิต ได้โลหิตจำนวนทั้งสิ้น 57,600 มิลลิลิตร โดยใช้การบริหารจัดการให้ผู้รับบริจาคเข้าพื้นที่ มีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก 2 ชั้น และมีจุดพักคอยแยกจากจุดรับบริจาคโลหิต จุดบริการละไม่เกิน 50 คน ตามมาตรการ และแนวทางปฏิบัติรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ณ อาคารอเนกประสงค์ กองบิน 4 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา (อุทัย นิ่มสิทธิกุล / นครสวรรค์)

มอบเครื่องผลิตออกซิเจน

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้นำเครื่องผลิตออกซิเจน ขนาด 5 ลิตร จำนวน 12 เครื่อง มูลค่า 200,000 บาท มอบให้แก่ รพ.พระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ติดเขื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขาดออกซิเจนหรือมีออกซิเจนต่ำ (หรืออยู่ในเกณฑ์สีเหลือง) ที่แยกรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์กักตัวในชุมชน (community isolation) โดยมี ผศ. (พิเศษ) นพ.ทศพร ศิริโสภิตกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช พร้อมด้วย พญ.หทัยรัตน อัจจิมานนท์, นางสมหวัง โรจนะ รองผู้อำนวยการ และ พญ.ปาริชาติ ตริรวัฒน์ วิสัญญีแพทย์ ร่วมรับมอบ (กฤษณพงศ์ อยู่รอด / ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

เทศบาลเมืองชัยนาทส่งมอบความห่วงใย

นายเจษฎา สี่พี่น้อง นายกเทศมนตรีเมืองชัยนาท ได้มอบหมายให้นายไพโรจน์ พัวพานิช รองปลัดเทศบาลเมืองชัยนาท ส่งมอบความห่วงใยพร้อมข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่มช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มเสี่ยง ที่ถูกกักตัวดูอาการ 14 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมด้วยข้าราชการกองสาธารณสุขฯ เทศบาลเมืองชัยนาท ให้คำปรึกษาแนะนำ ในการปฏิบัติตัวระหว่างที่ต้องกักตัว เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (สุรพล บำรุงศรี – วรชล ฟักขาว / ชัยนาท)

จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประชุมจัดสรรวัคซีน ในการกระจายวัคซีนซิโนฟาร์ม ชุดแรก จำนวน 34,340 คน ได้จัดสรรให้กับอำเภอทั้ง 16 อำเภอ และหน่วยงาน องค์กร กลุ่มฯ ตามที่ขอมา โดยพิจารณาให้กับอำเภอที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด อาทิ อำเภอบางปะอิน 6,982 คน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 6,378 คน อำเภอวังน้อย จำนวน 3,663 คน อำเภออุทัย จำนวน 2,358 คน เป็นต้น นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ยังได้รับการประสานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มเพิ่มเติม จำนวน 115,660 คน ( 221,320 โด๊ส) ซึ่ง อบจ. สามารถดำเนินการจัดหาวัคซีนดังกล่าวได้ เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ชาดา ไทยเศรษฐ์ สร้าง รพ.สนาม

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส.ส.อุทัยธานี ได้กล่าวว่า ตนได้ใช้เงินส่วนตัวทำการปรับปรุง รร.กาญจนาภิเษก อำเภอหนองขาหย่าง เพื่อใช้เป็น รพ.สนาม ทำการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 450 เตียง

ด้านนายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ได้นำภาคการเมืองท้องถิ่นทั้ง ส.จ. และ อบต.รวมทั้งประชาชน ช่วยกันทำความสะอาด เก็บกวาด ซ่อมแซมบำรุงอาคารสถานที่ที่จะใช้เป็น รพ.สนาม ในครั้งนี้ โดยเร่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ยังได้ใช้สื่อเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ ระบุข้อความว่า “รับคนอุทัยธานี กลับบ้าน” ชาวอุทัยธานีที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความประสงค์กลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา ให้ติดต่อ มูลนิธิไทยเศรษฐ์ โทรศัพท์ 09-6123-5583, 06-4785-8196 โดยไม่ค่าใช้จ่ายใดๆ

เพียงมีข้อปฏิบัติดังนี้

1. ต้องติดต่อทางโรงพยาบาลท้องที่หรือโรงพยาบาลสนามให้เรียบร้อย สามารถหาเตียงให้ท่านได้เสียก่อน

2. จะต้องเป็นคนที่ไม่สามารถเดินทางมาได้จริงๆ ไม่มีรถ ไม่มีญาติไปรับทางเรายินดีจัดการให้

3. อาจต้องมีการรอตามคิวและจะต้องเป็นผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น

4. ต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อม และปฏิบัติตามที่สาธารณสุขแนะนำอย่างเคร่งครัดด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.64 ที่ผ่านมา นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและตรวจความพร้อม รพ.สนาม โรงเรียนกาญจนาภิเษก อำเภอหนองขาหย่าง รวมทั้งให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับ รพ.สนามแห่งนี้ได้ทำการปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รักษาได้จำนวน 450 เตียง ขณะนี้มีผู้เข้ารับการรักษาแล้ว จำนวน 171 ราย

(ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม / อุทัยธานี)

รองผู้ว่าอยุธยา รับมอบชุด PPE

ที่โรงพยาบาลบางปะอิน อ.บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเป็นประธานรับมอบชุด PPE จำนวน 45 ชุด และน้ำดื่ม 100 แพ็ก จากโครงการบ้านพิมพ์พรรณสไมล์ (บางปะอิน-อยุธยา) ให้แก่โรงพยาบาลบางปะอิน เพื่อสนับสนุนภารกิจในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะในอำเภอบางปะอิน ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยมี นายวัชระ กระแสฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน นายแพทย์ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบางปะอินร่วมรับมอบและเป็นสักขีพยาน (วุฒิภัทร ไทยสม ขตว. อยุธยา)

ช่วยส่งผู้ป่วยกลับบ้าน

พล.ต.ต.วรณัฏฐ์ ผันผ่อน ผบก.ภ.จว.ชัยนาท ได้กล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้นำยานพาหนะรับส่งผู้ป่วย หายจากโควิด-19 ส่งกลับบ้านพัก ว่าเป็นนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรภาค 1 ใด้มอบหมายให้ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท สนับสนุนภาระกิจช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในการรับส่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เข้าทำการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม (อบจ.ชัยนาท) และแพทย์ได้ลงความเห็นว่า ได้ทำการรักษาหายเป็นปกติแล้ว ให้กลับไปพักอาศัยที่บ้านได้ ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ ดังกล่าวได้ดำเนินการป้องกัน และควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด และเป็นไปตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรภาค 1 (สมชัย – ประนอม ลัทธิเดช /ชัยนาท)

กฟผ. มอบหมวกป้องกันเชื้อPAPR

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าวังน้อย เป็นตัวแทน โรงไฟฟ้าวังน้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirotor) ซึ่งเป็นหมวกความดันบวก ช่วยให้อากาศภายในไหลเวียนดี รองรับการใช้งานให้แพทย์มีความปลอดภัยสู้โควิด-19 ให้แก่ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3 ชุด และโรงพยาบาลวังน้อย จำนวน 2 ชุด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลหนองเสือ จำนวน 1 ชุด โรงพยาบาลคลองหลวง จำนวน 1 ชุด จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลหนองแค จังหวัดสระบุรี จำนวน 1 ชุด เพื่อติดเกราะป้องกันให้ทีมแพทย์มีความมั่นใจและลดความเสี่ยงติดเชื้อในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

สู้โควิด

กฤตภาส อิสราพานิช สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรีพร้อมครอบครัว (โรงแรมใกล้กันเพลส) บริจาคทรัพย์สมทบทุนในการสร้าง Modular ICU เพื่อรองรับผู้ป่วย โควิด-19 จำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยมี นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี พร้อมคณะรับมอบ ณ โรงพยาบาลสระบุรี (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)