กระแสข่าวเกี่ยวกับการที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) เตรียมใช้พื้นที่ฐานทัพในกัมพูชา เป็นรายงานด้านความมั่นคงซึ่งแพร่สะพัดไปทั่วทั้งภูมิภาคมานานหลายปีแล้ว จนกระทั่งวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา สมเด็จเตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมของกัมพูชา และนายหวัง เหวินเทียน เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงพนมเปญ เป็นประธานร่วมกันในพิธีเปิดหน้าดิน โครงการพัฒนาฐานทัพเรือเรียม ในจังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา ติดกับอ่าวไทย

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตจีนกล่าวในตอนหนึ่ง ว่าความร่วมมือทางทหารระหว่างทั้งสองประเทศ “เป็นรากฐานอันแข็งแกร่ง” ของการเป็นพันธมิตรระดับทวิภาคี เพื่อผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมของชาวจีนและชาวกัมพูชา อย่างไรก็ดี สมเด็จเตีย บัญ ยังคงยืนกรานว่า กัมพูชาไม่มีทางอนุญาตให้ประเทศใดก็ตาม เข้ามาใช้พื้นที่ภายในราชอาณาจักรเพื่อตั้งฐานทัพ

สมเด็จเตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา และนายหวัง เหวินเทียน เอกอัครราชทูตจีน ร่วมเปิดโครงการพัฒนาฐานทัพเรือเรียม ที่จังหวัดพระสีหนุ

พิธีดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน หลังเดอะ วอชิงตัน โพสต์ เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ “สิ่งก่อสร้างแห่งใหม่” ภายในฐานทัพเรือเรียม มีวัตถุประสงค์สร้างขึ้น “เป็นพิเศษ” เพื่อการใช้งานของพีแอลเอ แม้กัมพูชายืนกรานมาตลอด ว่าโครงการพัฒนาและก่อสร้างฐานทัพแห่งนี้ “ไม่เคยเป็นความลับ”

สหรัฐจับตาความเคลื่อนไหวที่ฐานทัพเรือเรียมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 ตามรายงานอีกชิ้นหนึ่งของ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ซึ่งระบุว่า รัฐบาลพนมเปญและรัฐบาลปักกิ่งทำสัญญากัน อนุญาตให้จีนใช้ฐานทัพในระยะแรกได้นานถึง 30 ปี ก่อนมีการพิจารณาขยายระยะเวลาทุก 10 ปี โดยพีแอลเอสามารถนำสินทรัพย์ทางทหาร ที่รวมถึงเรือรบและกำลังพลไม่จำกัดจำนวน เข้ามาติดตั้งและประจำการที่ฐานทัพเรือแห่งนี้

South China Morning Post

ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันประกาศมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธต่อกัมพูชา เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องรัฐบาลพนมเปญ “เปิดโอกาสทางทหาร” ให้แก่จีน ในการขยายอิทธิพล และใช้งานทรัพยากรในฐานทัพเรือเรียม ซึ่ง “ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคง และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ” และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา “ที่ยังคงน่าวิตกกังวล”

ฐานทัพเรือเรียม เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทะเลในบริเวณนี้ และเป็นที่รู้จักดีสำหรับรัฐบาลวอชิงตัน เนื่องจากเป็นสถานท่ ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐและกองทัพเรือของกัมพูชา ใช้ฝึกซ้อมรบร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2553-2559 โดยเมื่อปี 2555 สหรัฐมอบงบประมาณมหาศาล เพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมและการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแห่งใหม่ภายในฐานทัพเรือแห่งนี้

แบนเนอร์แสดงแผนการก่อสร้างภายในฐานทัพเรือเรียม ซึ่งรัฐบาลจีนจะเป็นผู้สนับสนุนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับกัมพูชากลับเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ในเวลาเดียวกับที่กระแสข่าว เรื่องการที่จีนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาฐานทัพแห่งนี้ แพร่กระจายหนาหูมากขึ้นทุกขณะ แล้วในที่สุด กองทัพกัมพูชาทำลายโครงสร้างทั้งหมดที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐ เมื่อปี 2563 สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่รัฐบาลวอชิงตัน

แม้กองทัพเรือของกัมพูชายังคงมีศักยภาพห่างชั้น จากอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน แต่ฐานทัพเรือเรียมอยู่ในตำแหน่งที่เรียกได้ว่า เป็น “เพิร์ลฮาร์เบอร์แห่งอ่าวไทย” ซึ่งโครงการปรับปรุงพื้นที่อันจะได้รับความสนับสนุนจากจีน รวมถึง ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ซ่อมบำรุง โรงพยาบาล และท่าเทียบเรือที่รองรับเรือรบได้ 2 ลำ ซึ่งกัมพูชายืนยันว่า เป็นการใช้ประโยชน์ภายในประเทศเท่านั้น และเป็นไปได้น้อยมาก ที่รัฐบาลพนมเปญจะให้จีนเข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานทัพแห่งนี้ “อย่างเต็มตัว” โดยเฉพาะเพื่อเป็นฐานปฏิบัติการโจมตีทางทหาร

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เป็นการที่พีแอลเอสามารถเข้ามาใช้งานที่ฐานทัพเรือเรียมได้อย่างเต็มที่จริง รัฐบาลวอชิงตันก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะตีโพยตีพายอะไรไปได้มากกว่านี้ เพราะ “ประวัติศาสตร์ยาวเหยียด” ที่สหรัฐได้สร้างไว้ในกัมพูชา เป็นเรื่องที่ชาวเขมรและชาวอเมริกันในยุคนั้น ตลอดจนผู้ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว “จำไม่ลืม”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, Ministry of National Defence (Cambodia)