ซึ่งหลายกรณีถึงขั้นเป็น “พิษรักมรณะ” เกิดการ “ฆาตกรรมโดยมีต้นสายปลายเหตุเกี่ยวกับเรื่องรัก-รักไม่สมหวัง-หึง” โดย ณ ที่นี้ในวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอไม่หยิบยกพฤติการณ์น่าตกใจรายใด ๆ มาอ้างอิง…แต่จะขอสะท้อนย้ำแง่มุมชวนคิด…

“พิษร้ายพิษรัก” ตอนนี้ “ระบาดหนักในไทย” อีก

“เกิดความสูญเสียอันน่าสลดใจบ่อยครั้ง” อีกแล้ว

โดยที่ “โซเชียลมีเดียกระตุ้นการเกิดเหตุเพิ่มขึ้น!!”

ทั้งนี้ กับกรณี “รัก…แต่ทำร้าย!!” “รัก…แต่ฆ่า!!” ที่ในสังคมไทยมีเหตุการณ์ “เกิดขึ้นต่อเนื่อง” และหลัง ๆ ก็ “เกิดถี่” อีกแล้วนั้น กับเรื่องนี้มีมุมวิเคราะห์โดยหัวหน้าสาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน ที่เคยสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ และนับวันยิ่งน่าพินิจ กล่าวคือ… ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับชีวิตผู้คนยุคนี้ที่มีปัจจัยทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น นี่อาจทำให้ “มีปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว!!”

ผศ.ดร.อรพิน ระบุถึง “ปัญหาที่อาจซ่อนอยู่และรอการระเบิด” กรณีนี้ไว้ว่า… จะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อคนคนนั้นถูกทำให้กระทบกระเทือนทางอารมณ์ ทางความรู้สึก ซึ่งอาจ แสดงออกผ่านการกระทำที่ขาดสติ-ขาดความยั้งคิด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ โดย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มเสี่ยงที่มักตกเป็น “เหยื่อ” ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้น “บุคคลใกล้ชิด” เช่น คู่รัก แฟน ครอบครัว ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่บุคคลนั้น ๆ สามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างสะดวก-โดยง่าย ๆ จน…

“เป็นเหยื่ออารมณ์ ความรุนแรง โดยไม่ทันตั้งตัว!!”

ถามว่า…เหตุใดจึงมีการหยุด “พิษรักแรงหึง” ด้วยการ “ทำร้าย-ฆ่า” กันมากขึ้น?? กับสาเหตุ-ประเด็นปุจฉานี้ ทาง ผศ.ดร.อรพิน ชี้ไว้ว่า… มีปัจจัยจาก 3 เรื่องหลัก ๆ คือ… 1.การเลี้ยงดู 2.สภาพแวดล้อมทางสังคม 3.ค่านิยม ทั้งนี้ จากหลาย ๆ กรณีครึกโครมน่าเศร้าสลดที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อวิเคราะห์ถึง “แรงจูงใจ” ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุตัดสินใจ “จบรักที่ไม่สมหวังด้วยความรุนแรง” ส่วนใหญ่นั้นก็จะพบข้อมูลปัจจัยคือ… มักจะถูกเลี้ยงดูหรือมีพื้นฐานมาจากการเติบโตขึ้นมาโดยเห็นเรื่องการใช้ความรุนแรงเป็นประจำ จนทำให้เกิดความรู้สึกที่ “เคยชิน-ชาชิน” กับการ “ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา!!”

และกับปัจจัยการเลี้ยงดูนี้ ทางนักวิชาการด้านจิตท่านเดิมก็ได้เคยชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… การที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกหลานแบบตามใจมากเกินไป หรือการที่ไม่มีเวลาดูแลอบรมลูกหลาน ปล่อยให้เด็กต้องอยู่คนเดียวลำพังมาเป็นเวลานาน ทำให้เด็ก ขาดทักษะทางสังคม ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็อาจ ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าควรตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตตนเองอย่างไร?? รวมถึงกับปัญหาที่มีเรื่อง “ความรัก” เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งทำให้ เมื่อพบความรักที่ไม่สมหวัง หรือผิดหวังความรัก บางคนตัดสินใจผิด ๆ โดยแก้ปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรง อย่างการ “ทำร้าย” ไปจนถึงขั้นลงมือ “ฆ่า” แม้แต่กับ “คนที่ตนเองรัก” ซึ่งบางคนก็มีความคิดที่ว่า “ฆ่าเพื่อไม่ให้คนอื่นได้ครอบครองความรักไปแทน!!”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อรพิน สะท้อนไว้อีกว่า… “หลายคนก็รู้ดีว่าความรุนแรงไม่ใช่วิธีแก้ เพราะท้ายที่สุดก็ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการอยู่ดี ซ้ำยังแก้ปัญหาไม่ได้ และยังเพิ่มปัญหาชีวิตให้มากขึ้นไปอีก แต่เพราะคิดว่าไม่มีทางออก คิดว่าไม่มีทางเลือก ประกอบกับบางคนอาจมีอารมณ์โมโหรุนแรง รักแรง-หึงแรง ก็เลยเลือกทางออกนี้ในการตัดสินปัญหา”

ถามต่อว่า… จะ “แก้ไข-ป้องกันเรื่องร้าย” กรณีนี้ได้อย่าง ไร?? นักวิชาการท่านนี้ก็แนะผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ทำได้ด้วยการเสริมสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งระดับบุคคล ก็ “ฝึกควบคุมอารมณ์” โดยเฉพาะยามโกรธ และ “คิดก่อนทำ ให้มากขึ้น เช่น คิดถึงผลกระทบที่ครอบครัวต้องได้รับจากการกระทำให้มาก ส่วนระดับครอบครัวพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
หลาน “ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา” ขณะที่ระดับสังคมก็จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ด้วยการ “สร้างสภาพแวดล้อมที่ไร้ความรุนแรง” เช่น การไม่สร้างถ้อยคำ หรือไม่แสดงพฤติกรรมที่รุนแรง ผ่านสื่อต่าง ๆ

กับปัญหา “ทำร้าย-ฆ่า…เพราะรัก-เพราะหึง” นี้ ทาง ผศ.ดร.อรพิน ยังมีคำแนะนำฝ่ายที่อาจเสี่ยงเป็นเหยื่อไว้ด้วยว่า…หากใครจะจบความสัมพันธ์กับใครก็ต้องพยายามจบแบบด้วยดีการจะบอกเลิกก็ต้องพยายามพูดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ห้ามโทษฝ่ายตรงข้ามเด็ดขาด รวมถึงต้องไม่ทำให้ผู้ที่ถูกบอกเลิกยังมีความหวังด้วย และ ที่สำคัญเช่นกันในยุคโซเชียล… เมื่อเลิกกันแล้ว มีคนใหม่แล้ว ก็ไม่ควรโพสต์ให้คนเก่าเห็น เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงได้!!

และเพิ่มเติมไว้อีกส่วนสำคัญ… กรณี เลิกกับคนที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง นอกจากพยายามจบความสัมพันธ์แบบด้วยดีแล้ว ควรเลี่ยงการพบปะอีก รวมถึงไม่พูดคุยผ่านโซเชียล และไม่ควรอยู่ลำพัง ควรอยู่ในสถานที่ปลอดภัยเสมอ และมีคนที่ไว้ใจพึ่งพาได้อยู่เป็นเพื่อน จะดีที่สุด …นี่ก็เป็นอีกส่วนสำคัญจากคำแนะนำโดยนักวิชาการด้านจิตวิทยา เกี่ยวกับแนวทางหลีกเลี่ยง“เหตุรุนแรง-ร้ายแรง…เพราะเรื่องความรักที่ไม่หวานชื่น” ที่นับวันดูจะ “คล้ายโรคระบาด!!”

“โรครักร้าย” พิษรุนแรง “ทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องป้องกัน”

มัน “ระบาดหนักในสังคมไทย” ต่อเนื่อง-แรงขึ้น…

“เหมือนโรคประจำถิ่น” ที่ “ยังคงดุถึงขั้นตาย!!”.