ไม่เคยคิดจะมาเป็นเกษตรกรแม้แต่นิดเดียว แถมตอนนั้นอยากใช้ชีวิตเป็นคนเมืองมาก แต่สุดท้ายก็ได้มาทำอาชีพนี้ หลังจากพบว่าความสุขที่แท้จริงของเรานั้นอยู่ที่ไหนเสียงจาก “โอ๋-นิธิภัทร์ ทองอ่อน” เกษตรกรหนุ่มเล่าให้เราฟังเรื่องนี้ โดยเขาเป็นหนึ่งใน Young smart farmer ที่ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวของเส้นทางเกษตรกรหนุ่มรายนี้มานำเสนอ…

เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะ ธ.ก.ส. นำโดย สมเกียรติ กิมาวห รองผู้จัดการ และ พงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อเยี่ยมชม “สวนลุงแกละ” ที่เป็นสวนผลไม้ดั้งเดิมของที่นี่ที่มีชื่อเสียง โดยปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ โอ๋-นิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เป็นทายาทของสวนผลไม้แห่งนี้ โดยนอกจากจะเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มีเส้นทางน่าสนใจแล้ว แนวคิด-แง่คิดในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการในสวนทุเรียนก็มีเรื่องราวน่าสนใจ… 

“อะไรที่คิดว่าตอบโจทย์ มีประโยชน์กับสวนได้ ผมใช้หมดครับ อย่างเรื่องของการดูฟ้าฝนซึ่งเป็นหัวใจหลักของอาชีพเกษตรกร ผมก็นำแอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศมาใช้ เพื่อนำมาวางแผนการผลิตทุเรียนนอกฤดู นอกจากนั้น ผมก็ยังเปิดสวนให้ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ที่สนใจการทำเกษตรสมัยใหม่ด้วยครับ

โอ๋-นิธิภัทร์ เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนที่จะเล่าย้อนอดีตเกี่ยวกับชีวิตของเขาให้เราฟังว่า จริง ๆ กับอาชีพเกษตรกรนี้ไม่ได้อยู่ในความคิดของเขาเลยตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยจุดเปลี่ยนชีวิตบางอย่าง สุดท้ายชีวิตของเขาก็ได้ก้าวเดินตามรอยเท้าของพ่อแม่ โดย โอ๋-นิธิภัทร์ บอกว่า สวนแห่งนี้เป็นมรดกตกทอดของครอบครัว ซึ่ง คุณพ่อสำรวย และ คุณแม่สุนันทา ของเขาเป็นผู้ดูแลมาตลอด ต่อมาภายหลังเมื่อเขาตัดสินใจหันหลังให้กับชีวิตการทำงานในเมือง เขาก็ได้มีโอกาสมาสานต่อธุรกิจสวนผลไม้ของครอบครัว โดยเขาบอกว่า ที่บ้านมีอาชีพทำสวนผลไม้ โดยจะทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำให้ในสวนจึงมีทั้งผลไม้อย่าง ทุเรียน เงาะ ลองกอง ขนุน รวมถึง ยางพารา ปลุกแซมกันอยู่บนพื้นที่ 60 ไร่

“โอ๋” กับ “คุณแม่สุนันทา” และ “คุณพ่อสำรวย”

“ตัวผมเองเกิดและเติบโตอยู่ที่สวน ทำให้ตอนเด็ก ๆ ผมจึงใช้ชีวิตในสวนผลไม้มาตลอด เขากล่าว พร้อมบอกให้ฟังอีกว่า แต่ถึงแม้เขาจะโตและใช้ชีวิตอยู่กับสวนผลไม้ ก็ไม่เคยคิดที่จะเป็นเกษตรกรเลย เพราะเขาชอบการใช้ชีวิตในเมืองมากกว่า ทำให้จึงตัดสินใจไปเรียนด้านการจัดการอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเมื่อเรียนจบก็ทำงานตามสายที่เรียนมาทันที โดยไม่คิดจะกลับไปทำงานในสวน โดยเขาเล่าว่า “ตอนเรียนจบผมปักหมุดเลยว่า จะทำงานประจำ จะใช้ชีวิตในเมืองมากกว่าจะกลับไปเป็นชาวสวน แต่กลายเป็นว่าหลังทำงานประจำที่คิดว่าตัวเองชอบและต้องการชีวิตแบบนี้ กลายเป็นว่าสิ่งที่ผมทำไม่ตอบโจทย์ทางด้านความสุขของชีวิต เพราะรู้สึกเหนื่อยกับการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ และแข่งกับเวลา จนไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเอง ซึ่งหลังจากต้องใช้ชีวิตในวังวนเดิม ๆ แบบนี้ระยะหนึ่ง ผมก็เริ่มรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ชีวิตที่ต้องการ”

ทั้งนี้ โอ๋-นิธิภัทร์ ได้ขยายจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนในช่วงนี้อีกว่าหลังจากเริ่มรู้ว่า ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่ตัวเอง เขาจึงเริ่มตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเราชอบชีวิตแบบไหน หรือเราอยากจะไปอยู่ที่ไหน ที่อยู่แล้วมีความสุขโดยไม่ต้องปรุงแต่ง จนสุดท้าย ค้นพบว่าการได้ใช้ชีวิตในสวนของพ่อแม่ ได้อยู่กับต้นไม้ คือความสุขที่แท้จริง เขาจึงตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตในเมืองในที่สุด “จริง ๆ จุดเปลี่ยนอย่างจริงจัง มันเกิดขึ้นตอนที่ผมจะต้องกลับบ้านมาบวช ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นอายุประมาณ 25 ตอนนั้นผมตั้งใจจะบวช 1 พรรษา แต่ทางบริษัทให้ลาหยุดได้แค่ 15 วันเท่านั้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาบวช และหลังจากที่สึกออกมาแล้ว ผมก็มาเริ่มทำอาชีพเกษตรกรแบบเต็มตัว โดยเริ่มจากช่วยพ่อแม่ดูแลสวนทุเรียน ซึ่งแรก ๆ ก็ไม่รู้อะไรเลย ต้องเริ่มจากศูนย์หมด แต่ก็พยายามครูพักลักจำจากคุณพ่อคุณแม่ จนไม่นานคุณพ่อคุณแม่ก็ไว้ใจ ยอมปล่อยมือให้ผมเข้ามาดูแลสวนนี้อย่างเต็มตัว” โอ๋-นิธิภัทร์ บอกเรื่องนี้

ใช้ “รถกระเช้า” ใน “สวนทุเรียน”

พร้อมเล่าให้ฟังอีกว่า ช่วงแรกที่กลับมาทำงานในสวน เขาต้องทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ดูแลรดน้ํา รวมถึงกำจัดแมลงให้กับต้นทุเรียน โดยเขาเป็นคนฉีด คุณพ่อเป็นคนลากสาย และคุณแม่เป็นคนคุมเครื่อง ซึ่งเขาสังเกตเห็นว่า ภารกิจนี้เป็นงานหนัก ต้องใช้พลังมาก และเขาเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่นั้นก็อายุมากแล้ว จึงเกิดไอเดียที่จะนำเครื่องจักรมาใช้เพื่อทุ่นแรงและประหยัดเวลา จึงเป็นที่มาของการนำ รถยนต์พ่นยา มาใช้ที่สวนแห่งนี้ โดยเขาบอกว่า ได้ไปเห็นการฉีดพ่นยาด้วยรถยนต์พ่นยาของประเทศญี่ปุ่นจากยูทูบ ก็เลยมองว่าสวนของเราก็น่าจะนำมาใช้ได้ เขาจึงนำความคิดนี้ไปบอกกับคุณพ่อ ปรากฏคุณพ่อไม่เห็นด้วย เพราะคุณพ่อมองว่าวิธีเดิม ๆ ที่ทำอยู่ก็ดีแล้ว และคุณพ่อเชื่อมั่นตัวเองว่ายังทำสวนไหวอยู่ แต่เขาอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้พัก

“ช่วงแรก ๆ ผมทะเลาะกับพ่อเรื่องนี้อยู่เป็นปี ๆ ซึ่งพ่อก็ปฏิเสธตลอด แต่เราก็ใช้ความพยายาม โดยพาพ่อไปดูสวนที่เขาใช้รถยนต์พ่นยาว่าสะดวกและรวดเร็ว ที่สำคัญปลอดภัยกับตัวเองด้วย จนพ่อเริ่มเข้าใจและยอมรับ ยอมให้ซื้อรถยนต์พ่นยามาใช้ในสวน ซึ่งคันแรกที่เราซื้อเป็นรถมือ 2 ซื้อมาในราคา 2 แสนกว่าบาท” เกษตรกรหนุ่มบอกเรื่องนี้ พร้อมกับเล่าว่า หลังจากนำรถยนต์พ่นยามาใช้ ก็ทำให้สะดวกสบายขึ้น โดยจากที่ต้องทำงาน 3 คน คือ พ่อ แม่ ลูก ก็เหลือเป็นเขาคนเดียว ซึ่งแม้กำลังคนจะลดลง แต่ไม่มีปัญหาเลย โดยพื้นที่สวน 60 ไร่ จากเดิมที่เคยต้องใช้เวลาถึง 3 วัน ใช้เวลาครึ่งวันก็พ่นยาทั้งสวนได้หมด ซึ่งทำให้เหลือเวลาไปทำงานอื่น และประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงได้สุขภาพที่ดีขึ้นด้วย…เขาเล่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

“รถพ่นยา” และ “รถตัดหญ้า”

หลังจากโปรเจคท์แรกสำเร็จ กับรถยนต์พ่นยา แต่เขาก็ยังไม่ยอมหยุดคิด โดยเขามองว่าแม้รถยนต์พ่นยาคันแรกจะใช้ได้ดี แต่เขามองว่ายังไม่เซฟสำหรับคนขับ เขาจึงตัดสินใจซื้อรถยนต์พ่นยาที่เรียกชื่อว่าแอร์บลาส อีก 1 คัน เพราะเป็นรถยนต์พ่นยารุ่นที่เซฟตี้สุขภาพคนขับได้มากกว่า เนื่องจากมีแอร์ มีกระจกปิดมิดชิด ซึ่งช่วยป้องกันละอองยาที่ฉีดได้ดีกว่า โดยก็เป็นรถมือ 2 แต่ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เขาตัดสินใจลงทุน เนื่องจากรถคันนี้มีสนนราคาสูง 1 ล้านกว่าบาท “คราวนี้แพงกว่าเก่า แต่ถึงจะมีราคาที่แพง แต่พ่อกับแม่ก็อนุมัติให้ผมซื้อได้ในทันที เพราะพ่อกับแม่มองว่าเงิน 1 ล้านบาท ถ้าซื้อชีวิตผมได้ ถือว่าคุ้มค่า

เขาบอกอีกว่า หลังจากที่คุณพ่อเห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถตอบโจทย์และมีประโยชน์กับอาชีพเกษตรกร หลัง ๆ ไม่ว่าเขาจะเสนออะไร คุณพ่อคุณแม่ก็จะตกลงแทบจะทันที เพราะทั้งสองท่านเริ่มเปิดใจยอมรับมากขึ้น ทำให้เขาจึงนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพิ่มขึ้น อาทิ รถตัดหญ้าแบบนั่ง ที่ช่วยทำให้ตัดหญ้าในสวนได้รวดเร็วขึ้น, รถกระเช้า สำหรับใช้ยกตัวขึ้นบนต้นไม้เพื่อตัดตกแต่งกิ่งและผลผลิต “รถกระเช้านี่ คุ้มค่ามาก ๆ เพราะนอกจากช่วยให้ตัดแต่งกิ่งทุเรียนได้ดีขึ้น ยังช่วยเซฟชีวิตอีกด้วย เพราะไม่ต้องเสี่ยงปีนป่าย ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นเรื่องนี้ หลัง ๆ พ่อของผมจะคอยมองหาเครื่องจักรต่าง ๆ เข้ามาใช้เองเลย เกษตรกรหนุ่มคนเดิมบอกเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้ม

แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้บริหาร ธ.ก.ส.

และยังระบุด้วยว่า การนำนวัตกรรมมาใช้ในการทำเกษตรนั้น เป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันในยุคที่แรงงานภาคเกษตรลดลง อีกทั้งต้นทุนต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้แบบนี้ ช่วยได้มากทั้งในเรื่องของการลดต้นทุนและการลดระยะเวลาการทำงาน ทำให้เกษตรกรมีเวลาเหลือพอที่จะนำไปใช้คิดสร้างสรรค์เรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม แต่เขาก็มี “คำแนะนำ-คำย้ําเตือน ถึงเกษตรกรที่สนใจแนวคิดนี้ว่า ก่อนที่จะนำเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมอะไรสักอย่างมาใช้นั้น จำเป็นที่เกษตรกรต้องมองก่อนว่า สวนของเรามีปัญหาอะไร และการนำเครื่องจักรมาใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่าบางเรื่องเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรก็สู้ฝีมือของมนุษย์ไม่ได้…

ก่อนจบการสนทนากันในวันนั้น “โอ๋-นิธิภัทร์” เจ้าของสวนลุงแกละ จ.ระยอง Young smart farmer ที่ทาง ธ.ก.ส. เข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ได้บอกย้ํากับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า “ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาทำอาชีพเกษตรกันมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวแล้วรู้สึกดีใจที่มีคนที่รู้สึกแบบนี้เหมือนกับเรา ทำให้ผมตั้งใจไว้กับตัวเองว่า ทุกวันนี้จะพยายามนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งวิธีการสอนของผมก็คือ จะไม่เน้นวิชาการ แต่เป็นเหมือนพูดให้น้อง ๆ ฟังมากกว่า ซึ่งผมก็หวังว่าเรื่องราวของเรานั้นน่าจะพอมีประโยชน์…

ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น”.

‘สร้างมูลค่าเพิ่ม’ ด้วย ‘นวัตกรรม’

การนำ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” มาใช้กับ “อาชีพเกษตร” นั้น เรื่องนี้ โอ๋-นิธิภัทร์ บอกว่า นอกจากลดเวลา-ลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรแล้ว ประโยชน์อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ “ช่วยเพิ่มผลผลิต-ช่วยเพิ่มรายได้” อย่างตัวเขานั้น ตัดสินใจ “ปลูกทุเรียนนอกฤดู” ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่าการปลูกทุเรียนในช่วงปกติ แต่หลังจากศึกษาจนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง และได้ลองลงมือทำไปสักระยะ เขาก็พบว่า ถ้าเข้าใจก็ทำได้ และอีกเคล็ดลับของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เขาบอกว่าเกิดจากเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้แบบผสมผสาน “ผมเปิดกว้างอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ตลอด อย่างเรื่องฝนฟ้าอากาศ ผมก็ใช้แอพพยากรณ์อากาศเข้ามาช่วย ซึ่งแอพนี้นอกจากใช้ตรวจสอบสภาพดินแล้ว ยังใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าได้ ทำให้วางแผนการผลิตได้ จนผมสามารถบังคับให้ทุเรียนออกดอกได้ในหน้าแล้ง ทำให้ที่สวนได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น หรือจากที่เคยทำผลผลิตได้ 1 ตันต่อไร่ ก็เพิ่มเป็น 2-3 ตันต่อไร่”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน