ส่วนอีกกรณี…เป็น “กระแสดราม่า” หลังมีผู้ใช้โซเชียลโพสต์ภาพพร้อมเสียงชื่นชม “เยาวชนชายที่ยืนขายนมอยู่ริมถนน” ซึ่งได้มีชาวเน็ตบางคนคอมเมนต์ว่า… “เพราะหน้าตาดีจึงได้เปรียบเสมอ??” จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง มีทั้ง “เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” กับคอมเมนต์ดังกล่าว…

ทั้งนี้ ในภาพรวมทั่วไป ว่าด้วย “ดราม่า” ที่เกี่ยวกับเรื่อง “รูปร่างหน้าตา” กรณีนี้-เรื่องนี้ก็น่าพินิจ ซึ่งจากที่มีหลายคนมองว่า “คนหน้าตาดี-คนหน้าตาสวยหล่อน่ารัก” นั้น “มักได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า” คนอื่น…โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีหน้าตาสะสวยหรือหล่อเหลา จนทำให้เรื่องนี้ถูกสังคมไทยนำมาเป็นประเด็นถกเถียง และมีการเรียกร้องให้ “ยกเลิกการเลือกปฏิบัติ” เนื่องจากมองว่าเรื่องนี้ยิ่งส่งผลทำให้เกิด “ความไม่เท่าเทียม-ความเหลื่อมล้ำ” เพิ่มมากขึ้น …จาก 2 กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้…

จากกระแส…ตามมาด้วยคำว่า… “บิวตี้ พรีวิเลจ”

หรือในภาษาไทย… “สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี”

สำหรับคำทับศัพท์ “บิวตี้ พรีวิเลจ” หรือในภาษาอังกฤษ “beauty privilege” นั้นแปลเป็นภาษาไทยที่ให้ความหมายได้ใกล้เคียงมากที่สุดก็จะแปลออกมาได้ประมาณว่า… “สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี” โดยคำ ๆ นี้ได้กลายเป็น “ปุจฉาอื้ออึง” ขึ้น หลังจากที่สังคมไทยได้ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากที่หลาย ๆ คนมีความรู้สึกว่า… “ไม่ค่อยได้รับโอกาสเท่ากับคนรูปร่างหน้าตาดี…ที่มักจะได้สิทธิพิเศษกว่าคนทั่วไป” จนทำให้คนที่ไม่ได้มีหน้าตาหล่อสวย หรือ “ไม่ได้มีรูปเป็นทรัพย์” นั้น…รู้สึกเหมือนเป็น “กลุ่มคนตกขอบ” ที่ไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน…เมื่อเทียบกับ “คนที่รูปร่างหน้าตาดี”

โฟกัส “มุมสะท้อน” ที่มีต่อประเด็น “บิวตี้ พรีวิเลจ” หรือ “สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี” กรณีนี้มีแง่มุมที่น่ารับฟังและน่าคิดตามไม่ใช่น้อย โดยทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้สะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้-กรณีนี้ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… เรื่องนี้ถูกสังคมนำมาถกเถียงกันกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ผู้คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามว่า… ทำไมคนหน้าตาดีมักได้สิทธิประโยชน์ หรือมักจะได้การยอมรับมากกว่า?? เมื่อเทียบกับหลาย ๆ คนที่อาจจะมีรูปร่างหน้าตาธรรมดา และที่สำคัญ…ประเด็นดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่วงการใดวงการหนึ่ง…แต่เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วงการ…

อย่างเรื่องการงาน คนหน้าตาดีก็จะมีโอกาสถูกจ้างมากกว่าคนที่หน้าตาธรรมดา หรือในสถานศึกษา ก็เห็นได้ชัดเจนว่า…คนหน้าตาดีจะได้โอกาสให้ยืนอยู่แถวหน้ามากกว่า…” …ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนไว้

พร้อมกันนี้ยังมีการระบุถึงกรณีนี้-เรื่องนี้เอาไว้อีกว่า… เรื่องของ “ความไม่เท่าเทียมด้านหน้าตา” นั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ระดับโรงเรียน จนทำให้เกิดค่านิยมที่ยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์ภายนอก เช่น หน้าตา รูปร่าง ทำให้คนที่หน้าตาหล่อสวยนั้นจึงมักจะได้รับโอกาสไปสู่เส้นทางที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้หล่อสวยเหมือนกับคน ๆ นั้น อย่างไรก็ตาม แต่ในปัจจุบันนี้ก็ถือว่า…สังคมไทยเริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้มากขึ้น ดูได้จากการที่สถานศึกษา หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งนั้น “ยกเลิกประกวดดาวเดือน” เนื่องจากมองเป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ แถมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วย…

“ขณะนี้ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากคนไทยตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยก เพราะเวทีประกวดแบบนี้ในรั้วสถานศึกษานั้น มีคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ นอกจากนั้น กิจกรรมแบบนี้ยังสะท้อนถึงค่านิยมที่ยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์ภายนอก มากกว่าจะส่งเสริมค่านิยมในเรื่องความเก่งและความดี”

นอกจากนั้น ทาง จะเด็จ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังได้สะท้อนถึงกรณีที่สังคมเกิดกระแสถกเถียงในเรื่องของ “บิวตี้ พรีวิเลจ” ต่อไปว่า… “ค่านิยม” ดังกล่าวนี้มีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และในปัจจุบันนั้น ค่านิยมแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่านิยมเช่นนี้ฝังรากลงลึกในสังคมมาช้านานนั้น เนื่องจากสังคมไทยกลายเป็น “สังคมบริโภคนิยม” ที่ผู้คนเคยชินกับ “ภาพลักษณ์ภายนอก-รูปลักษณ์ภายนอก” ที่ต้อง ดูดี-ดูโดดเด่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่า… คนที่มีหน้าตาหล่อสวย หรือ “คนที่มีรูปโฉมเป็นทรัพย์” นั้น จะได้รับโอกาสที่ดี จะได้รับสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น ๆ ที่อาจดูไม่หล่อไม่สวยเท่า…

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้สะท้อนเน้นย้ำผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… สังคมไทยต้องพยายามช่วยกัน “ปลดล็อก” ความเหลื่อมล้ำด้านนี้… เนื่องจากหากเกิด “สิทธิพิเศษแตกต่างกัน” แบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ กรณีนี้ก็อาจจะผลักให้กลุ่มคนหน้าตาไม่ดีตัดสินใจไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มคนที่หน้าตาดี จน เกิดการ “แอนตี้-แบ่งแยก” ระหว่างกัน เนื่องจากกลุ่มคนที่ไม่ได้ดูสวยหรือหล่อ ก็จะรู้สึกกับตัวเองว่า… “ไม่ได้รับความเป็นธรรม” ไม่ได้รับความเท่าเทียม…

“สังคมไทยกำลังตื่นตัวเรื่องบิวตี้ พรีวิเลจมากขึ้น โดยคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งถ้าสังคมถูกพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมกัน ก็จะช่วยทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันสามารถเดินไปได้ด้วยกันทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีใครถูกทิ้งไว้” …เป็น “มุมสะท้อน” จาก จะเด็จ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

สิทธิพิเศษคนหน้าตาดี”หรือ “บิวตี้ พรีวิเลจ”

เป็น “ปรากฏการณ์สังคมไทย” ที่ “ยุคนี้มี 2 มุม”

“มุมปลดล็อกเข้มข้นขึ้น”…เซ็งแซ่ “น่าพินิจ??”.