“ฉันรู้สึกเสียใจต่อชาวยูเครนอย่างมาก จากนั้นฉันก็เริ่มกังวลเรื่องฟินแลนด์ และคิดว่าฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง” เธอบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์ โมเบิร์กได้เข้าหลักสูตรสำหรับทหารกองหนุน และเรียนรู้วิธีการใช้ปืนและการเคลื่อนที่ในสนามรบ

สงครามในยูเครนสร้างความตื่นตกใจครั้งใหญ่ในฟินแลนด์ และกระตุ้นให้เกิดการยุตินโยบายการป้องกันและความมั่นคงภายในประเทศที่มีมานานหลายทศวรรษ เมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อฟินแลนด์สมัครเข้าเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

ขณะที่รายงานโดย สมาคมการเตรียมพร้อมสตรีต่อสภาวะฉุกเฉินแห่งชาติของฟินแลนด์ (Finland’s Women’s National Emergency Preparedness Association) ระบุว่า ความต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

“หลังสงครามเปิดฉากมีคนโทรศัพท์และส่งอีเมลมาหาพวกเราเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่า ความต้องการสำหรับการฝึกก็สูงขั้นด้วย” นางซูวี อัคเซลา หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารของสมาคม กล่าว

Reuters

ทั้งนี้ ในจำนวนบุคลากรทางทหารของฟินแลนด์ 13,000 นาย มีสัดส่วน 19% ที่เป็นผู้หญิง และมีเพียง 1-2% ที่มีมาจากการเกณฑ์ทหาร ตามข้อมูลของกองทัพ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โมเบิร์กกลับมาเข้าหลักสูตรอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้เป็นหลักสูตรการฝึกเอาชีวิตรอด ที่จัดโดยสมาคมการเตรียมพร้อมสตรี ที่ฐานทัพ ในเมืองฮัตตูลา อีกทั้งเธอยังไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกกังวล หรือต้องการช่วยปกป้องฟินแลนด์ โดยในระยะเวลา 3 วัน เธอและผู้หญิงคนอื่นอีกมากกว่า 300 คน จะได้เรียนเกี่ยวกับวิธีตั้งแคมป์ การจุดไฟในขณะที่ฝนตก การนำทางในป่า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หญิงชาวฟินแลนด์ เข้าร่วมฝึกฝนหลักสูตรทหารกองหนุน ที่เมืองฮัตตูลา ทางตอนใต้ของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงอีกราว 500 คน ที่อยู่ในรายชื่อของคนที่รอคิว ตามข้อมูลของสมาคมการเตรียมพร้อมสตรี กลุ่มอาสาสมัครที่จัดภาคการฝึกสำหรับพลเมืองหญิง ในทักษะที่จำเป็นต่อสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ซึ่งสมาคมรับเงินสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐ และสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ทางทหารสำหรับการฝึกได้

จากข้อมูลผลสำรวจของกระทรวงกลาโหมฟินแลนด์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า ชาวฟินแลนด์ 85% มองว่า รัสเซียมีผลกระทบด้านลบต่อความมั่นคงของฟินแลนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 34% เมื่อปี 2550 และชาวฟินแลนด์ในสัดส่วน 83% คิดว่าพวกเขาควรจับอาวุธต่อสู้กับเหตุการณ์ที่เป็นการโจมตีประเทศ แม้ผลลัพธ์จะไม่มีความแน่นอนก็ตาม

“ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ดีต่อการอยู่อาศัยและเลี้ยงดูลูกหลาน มันคุ้มค่าที่จะปกป้องอย่างแท้จริง” โมเบิร์ก กล่าวเพิ่มเติมว่า เธอจะเข้าเรียนในหลักสูตรการเตรียมพร้อมมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวิกฤติการณ์ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุใหญ่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“ความกล้า ไม่ได้หมายถึงการไม่กลัว แต่มันคือการกระทำที่ปราศจากความกลัว” เธอทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS