“เหตุผลหลักที่ตุรกีเปลี่ยนชื่อประเทศ คือ เพื่อกำจัดความเชื่อมโยงกับนกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็คือ ไก่งวง” นายซินาน อุลเกน ประธานของศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศ (อีดีเอเอ็ม) ในเมืองอิสตันบูล กล่าว “นอกจากนี้ มันยังใช้ในภาษาพูดเพื่อแสดงถึงความผิดพลาดอีกด้วย”

ขณะที่ ประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ซึ่งผลักดันเรื่องนี้มานาน กล่าวว่า ชื่อใหม่ของตุรกีแสดงถึง “วัฒนธรรม อารยธรรม และคุณค่าของประเทศในแนวทางที่ดีที่สุด”

องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งถูกบังคับให้ใช้ชื่อใหม่แล้ว แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนสำหรับสาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งอุลเกนให้ความเห็นว่า “มันอาจต้องใช้เวลาหลายปีสำหรับสาธารณชนในระดับนานาชาติ ที่จะเปลี่ยนจากการใช้ชื่อตุรกี เป็นตุรเคีย”

TRT World Now

นอกจากนี้ เขากล่าวเพิ่มเติมว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตุรกีพยายามเปลี่ยนชื่อประเทศ ความพยายามที่คล้ายกันเกิดขึ้นเมื่อกลางยุคทศวรรษที่ 1980 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีทูร์กุต โอซาล แต่มันไม่เคยได้รับความสนใจมากนัก

อย่างไรก็ตาม มันอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวนี้ เมื่อชาวตุรกีจะกลับมาเลือกตั้งใหม่ในเดือน มิ.ย. ปีหน้า ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่สร้างความเจ็บปวด

นี่คือ “กลยุทธ์อีกอย่างหนึ่ง ที่รัฐบาลอังการาใช้เพื่อเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาตินิยมในปีสำคัญต่อการเมืองตุรกี” นายฟรานเซสโก ซิคคาร์ดี ผู้จัดการแผนงานอาวุโส ที่คลังสมอง คาร์เนกี ยุโรป กล่าวว่า ช่วงเวลาของการเปลี่ยนชื่อ “มีความสำคัญ” ต่อการเลือกตั้งในปีหน้า และ “การตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศประกาศเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เออร์โดกันมีคะแนนนิยมตามหลังฝ่ายค้าน ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม อุลเกน กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อเป็นเหมือนกลยุทธ์ปรับภาพลักษณ์ เพื่อที่จะส่งเสริมจุดยืนระหว่างประเทศ มากกว่าที่จะเป็นการแสดงก่อนการเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ประธานาธิบดีหันไปพึ่งความเคลื่อนไหวของประชานิยม เพื่อหันเหความสนใจจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น นางเซเรน คอร์กมาซ นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า “ในช่วงที่รัฐบาลขาดนโยบายรูปธรรมที่ใช้รับมือปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ประธานาธิบดีเออร์โดกันมองหาทางรอดในการเมืองเชิงอัตลักษณ์ของประชานิยม”

ทั้งนี้ ซิคคาร์ดี แสดงความเห็นว่า ชื่อใหม่ของประเทศจะเบี่ยงเบนความสนใจของชาวเติร์กออกจากปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนและเร่งด่วน และเป็น “การสร้างความชอบธรรม” ให้แก่เออร์โดกัน ในการสร้างตุรกีที่แข็งแกร่ง บนพื้นฐานของความเป็นอนุรักษนิยม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES