…เป็นตัวเลขน่าสนใจที่พอจะทำให้ “ไทยใจชื้น” ขึ้นได้บ้าง ที่ทาง มาริน สมคิด เกษตรจังหวัดระยอง ได้ให้ข้อมูลไว้ระหว่างคณะสื่อมวลชน รวมถึง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” และผู้บริหาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เยี่ยมชมการดำเนินงานของ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งก็…

ฉายภาพ “สถานการณ์ส่งออกทุเรียนไทยไปจีน”

ที่ต้องดำเนินการ “ภายใต้มาตรการ Zero Covid”

ที่เป็น “กฎเข้มของจีน” เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า

มาริน สมคิด

ทั้งนี้ ทาง มาริน เกษตรจังหวัดระยอง ได้บรรยายให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การส่งออกทุเรียน” เอาไว้อีกว่า… แม้ว่าจะเกิด “การแพร่ระบาดของโควิด-19” ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักมาตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่การส่งออกทุเรียนก็ยังสามารถขยายตัวได้ดี และ จีนยังเป็นประเทศคู่ค้าทุเรียนอันดับต้น ๆ ของไทย เพียงแต่การจะส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนในยุคที่มีโควิด-19 นั้น ก็ มีกฎระเบียบที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งจำเป็นที่เกษตรกรไทยผู้ปลูกทุเรียน และภาคการส่งออก จะต้องศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรค โดยเฉพาะมาตรการ “โควิดเป็นศูนย์” หรือ “ซีโร่ โควิด (Zero Covid)” ของจีน

ทางการจีนได้มีมาตรการใหม่ออกมา หรือซีโร่ โควิด ทำให้ทุเรียนที่จะส่งเข้าไปขายที่ประเทศจีนนั้น จะต้องไม่มีเชื้อโควิดติดไปกับทุเรียนอย่างเด็ดขาด ส่งผลทำให้กระบวนการทุกขั้นตอนเกี่ยวกับทุเรียน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวในสวน การส่งไปล้ง และการขนส่ง ต้องปลอดเชื้อโควิด 100%” …ผู้ให้ข้อมูลระบุถึง “นิวนอร์มัล” เรื่องนี้ ที่ “ผู้ปลูกทุเรียน-ผู้ส่งออกทุเรียน” จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ “การส่งออกทุเรียนไทยไปจีน” ต้องสะดุด

อนึ่ง ทางผู้ให้ข้อมูลคนเดิมยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ “แนวทางดำเนินการ” เรื่องนี้ไว้ โดยได้นำเอา “กรณีศึกษา จ.ระยอง” มาเป็นกรณีตัวอย่าง โดยระบุว่า… การที่จะลดอุปสรรคจากมาตรการใหม่ในเรื่องนี้ จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการล้ง และผู้ส่งออก อาทิ การใช้มาตรการ GAP Plus และ GMP Plus เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโควิดปนเปื้อนผลผลิต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยทุกลูกที่ส่งออกมีความปลอดภัย

“จีนเข้มงวดมากเรื่องโควิด เพราะเขาต้องการให้โควิดเป็นศูนย์ ทำให้เราต้องมาสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ล้งเข้าใจปัญหาและเห็นภาพเดียวกัน  เพื่อที่จะช่วยกัน เพราะตอนนี้การส่งออกทุเรียนของเรายังไม่มีปัญหา จากการที่เราสร้างการรับรู้เรื่องนี้ให้เกษตรกรไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือก่อนที่จะเปิดประเทศเสียอีก”

สำหรับวิธีการที่นำมาใช้นั้น ทาง มาริน อธิบายว่า… เริ่มจากให้ความรู้กับเกษตรกร ซึ่งถ้าเกษตรกรติดโควิดแล้วไปหยิบจับทุเรียน ที่ผลทุเรียนก็อาจมีเชื้อ ซึ่งถ้าติดไปจากสวน และติดไปถึงล้ง แล้วล้งไม่มีการป้องกัน จนคนงานในล้งติดโควิด เวลาที่คนงานแพ็กทุเรียนแล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัย เชื้อก็อาจลงไปติดที่ทุเรียน ซึ่ง ถ้าส่งไปถึงจีน แล้วตรวจเจอเชื้อ ไม่ว่าจะเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย จีนจะสั่งปิดด่านห้ามสินค้าจากกลุ่มเสี่ยงเข้าทันทีแบบไม่มีข้อแม้ และแน่นอนว่าย่อมกระทบผู้ส่งออกทุเรียนทั้งหมด แม้จะมีแค่ 1 รายเท่านั้นที่มีปัญหา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือทุกคนต้องไม่ทำให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ แนวทางป้องกันโควิดติดที่ทุเรียน นั้น ก็มีทั้งในส่วน “เกษตรกร” ที่เริ่มต้นจากแต่ละสวนต้องมีจุดตรวจวัดอุณหภูมิอย่างน้อย 1 จุด มีจุดล้างมือ มีแนวกั้นอาณาเขตของสวน มีจุดเข้า-ออกทางเดียว และผู้เกี่ยวข้องกับการทำงานในสวนทุเรียนนั้นต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม กับต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะทำงาน ตลอดจนตรวจ ATK ทุก 7 วัน ขณะที่ “ผู้ประกอบการล้ง” ก็ต้องมีมาตรการเช่นกัน ด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ และคนที่แพ็กทุเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะทำงาน ซึ่งถ้าล้งใดถูกประเทศคู่ค้าปลายทางแจ้งว่าปนเปื้อนเชื้อ ก็จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ทันที …เหล่านี้เป็น “กฎเข้ม” โดยสังเขป ที่ “เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่” ใน “การส่งออกทุเรียนไทยภายใต้ยุคที่มีโควิด-19 ระบาด”

และนอกจากป้องกันไม่ให้มีเชื้อโควิดติดอยู่ที่ทุเรียนแล้ว อีกหนึ่งเรื่องเดิมที่ยังสำคัญไม่แพ้กันก็คือ “การป้องกันการส่งออกทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” ซึ่งเรื่องนี้ทาง มาริน เกษตรจังหวัดระยอง ก็เน้นย้ำว่า… นอกจากการคุมเข้มโควิดแล้ว การป้องกันไม่ให้มีทุเรียนอ่อนส่งออกไปก็เป็นอีกเรื่องที่ทำควบคู่กัน โดยพื้นที่ จ.ระยอง จะมีมาตรการกำหนดเรื่องของการเก็บเกี่ยว ด้วยการกำหนดวันเก็บเกี่ยว-วันตัด โดยเฉพาะ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งที่ผ่านมามีกำหนดวันตัดผลผลิตไว้ในวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งถ้าพบเกษตรกรหรือล้งใดมีทุเรียนส่งออกก่อนกำหนดตัดจะถูกอายัดไว้ตรวจสอบทันที

“ถ้าเราไม่ทำ ถ้าไม่มีการควบคุม ก็จะทำให้มีทุเรียนอ่อนเต็มตลาด ซึ่งการแก้ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนนี้ช่วยทำให้มีทุเรียนดีมีคุณภาพออกสู่ผู้บริโภคมากขึ้น และเมื่อทุเรียนมีคุณภาพ ราคาทุเรียนก็สูง เกษตรกรผู้ปลูกก็ได้ราคาที่ดีขึ้น” …เป็น “ห่วงโซ่ตลาดทุเรียน” ที่เกษตรจังหวัดคนเดิมเน้นย้ำไว้ เพื่อให้เห็นความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

โควิด” ที่ว่าร้ายก็ “ไม่อาจหยุดการส่งออกทุเรียน”

เป็น “อีกเรื่องที่ยังคงน่าดีใจสำหรับเศรษฐกิจไทย”

ก็ “หวังว่าจะไม่มีเหตุทำให้เรื่องดีนี้เกิดมีปัญหา!!” .