ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป ทุกส่วนของ ต้นกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้นนำไปสกัดเป็นสารสกัด และมีปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol) มากกว่า 0.2% การนำส่วนต่างๆ ของต้นกัญชาไปใช้ สามารถทำได้ แต่การจะนำไปทำเป็น ผลิตภัณฑ์ ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย และดำเนินการตามคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารต้องทำ ตาม พ.ร.บ.อาหาร, ยาต้องทำ ตาม พ.ร.บ.ยา และเครื่องสำอางต้องทำ ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565 มีผลให้ควบคุมเฉพาะ สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชง ที่มีสารTHC (Tetrahydrocannabinol) เกิน 0.2% ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ส่วนอื่นเป็นกัญชาถูกกฎหมาย

จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข การปลดล็อกกัญชา-กัญชงมีเป้าหมายหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ

1.เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
2.ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพรและอาหาร รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรม
3.เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง

ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของ การปลูกต้นกัญชา ภายในครัวเรือนแบบพืชผักสวนครัวประจำบ้าน เพราะสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงจดแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมนำมาใช้ในการจดแจ้งการปลูกกัญชาเพื่อดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งการ ขออนุญาตปลูกในเชิงพาณิชย์เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พืชสมุนไพรที่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่9 ก.พ.2565 หลังจากที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องก็เริ่มปรับตัวมาได้ระยะเวลาหนึ่ง

แต่ยังเกิดช่องโหว่ในช่วงสุญญากาศ ก่อนจะมีการปลดล็อกกัญชา (9 มิ.ย. 65) ความไม่เข้าใจข้อกฎหมายหรือประกาศ ในส่วนของทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนยังมีให้เห็นอยู่

ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนวันปลดล็อกกัญชา กลุ่มตำรวจใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บุกไปจับ หญิงวัย 55 ปี มาดำเนินคดีผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) โดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมของกลาง ต้นกัญชาในกระถางที่ปลูกเอาไว้ในบ้าน 1 ต้น น้ำหนักประมาณ 20 กรัม เมื่อกลายเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคมอย่างมาก ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำชับเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงให้ ผู้บังคับบัญชา และ หัวหน้าชุดจับยาเสพติด ทุกหน่วยใช้วิจารณญาณในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนา ทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

สุดท้าย พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ กิจจาหาญ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ได้มีคำสั่งย้ายตำรวจทั้ง 4 นายของ สภ.ศรีราชา ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.จว.ชลบุรี โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนทางด้านคดีอัยการไม่สั่งฟ้อง จึงปล่อยตัวหญิงวัย 55 เป็นการชั่วคราว และให้มารายงานตัวในวันที่ 18 ก.ค.2565

เชิงผา มองว่าการปลดล็อกกัญชา ในช่วงระยะแรก ประชาชนยังต้องมีข้อสงสัยสอบถามกันอย่างต่อเนื่องแน่นอน เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย อาทิ การปลูกในครัวเรือนได้กี่ต้นกันแน่, การปลูกเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต้องทำอย่างไร, จะสูบกัญชาอย่างเสรีทำได้หรือไม่ ฯลฯ

เรียกว่าช่วงแรกของการปลดล็อกกัญชา นอกจากหน่วยงานทั้ง สาธารณสุข-ป.ป.ส.-ตำรวจ จะต้องเดินหน้าเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนไปอีกสักระยะ นอกจากจะหา “เจ้าภาพใหญ่” ไว้คอยให้ข้อมูลแบบเข้าใจง่ายถูกต้องครบถ้วนแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ต้องวางแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับ “โลกกัญชาเสรี” ด้วยเช่นเดียวกัน!!

————-
เชิงผา