การห้ามการส่งออกไก่ของมาเลเซีย คือสัญญาณล่าสุดของการขาดแคลนอาหารในระดับโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยหลายประเทศ ซึ่งปั่นป่วนจากผลกระทบของสงครามในยูเครน, สภาพอากาศรุนแรง และการชะงักงันด้านอุปทานที่เกี่ยวข้องกับการระบาดโรคโควิด-19 ต่างแย่งชิงกันกักตุนสินค้าภายในประเทศ และควบคุมภาวะเงินเฟ้อด้านอาหาร

นายแดเนียล ตัน เจ้าของร้านข้าวมันไก่ “โอเค ชิกเก้น ไรซ์” กล่าวว่า การระงับการส่งออกของมาเลเซีย จะเป็น “หายนะ” สำหรับผู้ประกอบการหลายคน รวมถึงเขา เมื่อไม่มีไก่ ก็ขายข้าวมันไก่ไม่ได้ เหมือนกับแมคโดนัลด์ที่ไม่มีเบอร์เกอร์

ตันกล่าวเพิ่มเติมว่า ร้านของเขามักจะจัดซื้อไก่เป็นจากมาเลเซีย แต่เขาจะต้องเปลี่ยนไปใช้เนื้อไก่แช่แข็งแทน และยังคาดการณ์ถึง “ผลกระทบอย่างหนักต่อยอดขาย” จากท่าทีของบรรดาลูกค้าที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพของเมนู

แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งมากที่สุดในทวีปเอเชีย สิงคโปร์ต้องพึ่งพาอาหารนำเข้า พลังงาน และสินค้าอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไก่เกือบทั้งหมดในประเทศนำเข้ามาจากมาเลเซีย 34%, บราซิล 49% และสหรัฐ 12% ตามข้อมูลของสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (เอสเอฟเอ)

รายงานของเอสเอฟเอ ระบุว่า การขาดแคลนสามารถชดเชยด้วยเนื้อไก่แช่แข็งจากบราซิลได้ และเขิญชวนให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารโปรตีนอื่นแทน อาทิ ปลา

Reuters

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียเองก็เผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ต้องตัดสินใจห้ามการส่งออกไก่ จนกว่าการผลิตและราคาในประเทศจะคงที่

ทั้งนี้ มาเลเซียนำเข้าอาหารไก่ที่ประกอบด้วยเมล็ดข้าวและถั่วเหลือง ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาทางเลือกอื่นท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารสัตว์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อาหารสัตว์คุณภาพต่ำทำให้ไก่ไม่เติบโตเร็วเหมือนปกติ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดชะลอตัว

นายไชซุล อับดุลละห์ ชามิล ซุลคาฟฟลี หนึ่งในเกษตรผู้เลี้ยงไก่ในมาเลเซีย กล่าวถึงสถานการณ์ของตัวเอง ว่าสามารถผลิตไก่ได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี คิดเป็นจำนวนไก่ 45,000 ตัวต่อครั้ง แต่ในปีนี้ เขาคาดการณ์ว่าจะทำได้เพียง 5 ครั้ง

นายไชซุล ที่เริ่มรู้สึกถึงวิกฤติของค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูงขึ้นในช่วงการระบาด กล่าวว่า การระงับการส่งออกมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง

“ผมไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะสามารถใช้ยังชีพไปอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าได้ไหม” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า เขาจำเป็นต้องติดหนี้เพื่อตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ทัน “บางทีผมควรไปทำงานที่สถานีบริการน้ำมัน หรืออะไรสักอย่างคงจะดีกว่า มันคงจะปวดหัวน้อยกว่าการจัดการฟาร์มไก่”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES