ประธานาธิบดีคาอิส ไซเอด แห่งตูนิเซีย ใช้อำนาจพิเศษตามที่ระบุอยู่ในมาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญ ว่า “ในภาวะฉุกเฉินหรือเร่งด่วน” ประธานาธิบดีสามารถเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารร่วมกัน หรือแทนนายกรัฐมนตรีได้ “จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ” ปลดนายฮิเชม เมชีชี ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตูนิเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และสั่งระงับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 30 วัน พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิคุ้มกันทางการเมืองของสมาชิกทุกคน
สถนการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่า ตูนิเซีย ประเทศซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” เมื่อปี 2554 กำลังเผชิญกับ “ภาวะอันตรายที่สุดทางการเมือง” ครั้งใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ไซเอดประกาศเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 19.00 น.-06.00 น. เป็นเวลานาน 1 เดือน และห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนมากกว่า 3 คนในสถานที่สาธารณะ โดยการดำเนินการทั้งหมด “ได้รับความสนับสนุน” จากกองทัพ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวลว่า หรือเส้นทางการปฏิรูปสู่การเป็นประชาธิปไตยของตูนิเซีย จะสิ้นสุดภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ
ปัจจุบันตูนิเซียยังคงเผชิญกับอัตราการว่างงานที่ยังคงสูง และปัญหาการคอร์รัปชันที่ยังคงฝังรากลึกยากเกินแก้ไข ส่งผลต่อภาพลักษณ์ และการใช้อำนาจตามหลักนิติรัฐ บวกกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับทุกโครงสร้างในสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเปรียบเทียบสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับช่วงเวลาในยุคของประธานาธิบดีซิเน เอล อาบิดีน เบน อาลี ซึ่งครองอำนาจปกครองตูนิเซียเพียงคนเดียวยาวนาน 24 ปี ก่อนยอมลาออกในที่สุด หลังการลุกฮือของประชาชนในช่วงอาหรับสปริง
ไซเอด วัย 63 ปี ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนต.ค. 2562 ท่ามกลางความคาดหวังของทุกฝ่ายในประเทศ ว่าการที่ไซเอดเป็นนักกฎหมาย และยังเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยตูนิส น่าจะนำมาซึ่งการปฏิรูปการเมือง และขุดรากถอนโคนปัญหาคอร์รัปชันในตูนิเซียให้ได้มากที่สุด แต่สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ กำลังทำให้หลายฝ่ายไม่มั่นใจ
การที่ไซเอดประกาศ “ควบคุมอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ทำให้จะเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “รัฐประหาร” ก็คงจะไม่เต็มปากนัก พรรคเอ็นนาห์ดาซึ่งเป็นพรรคมุสลิมสายกลาง และเป็นการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของตูนิเซีย ณ เวลานี้ แสเงความไม่พอใจอย่างชัดเจน และกล่าวหาไซเอด “รัฐประหารรัฐธรรมนูญ” หลังจากนั้นปรากฏว่า สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังสอบสวนเส้นทางการเงินของพรรคเอ็นนาห์ดา หลังตรวจพบในเบื้องต้น ว่ามีเงินบริจาค “ไม่ทราบที่มาชัดเจน” และการพัวพันกับกองทุนของต่างชาติ เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่พนักงานสอบสวนยืนยันว่า เริ่มตรวจสอบก่อนที่ประธานาธิบดีประกาศปลดนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ไซเอดยืนยันความจำเป็น “ต้องทำแบบนี้” เพื่อปกป้องบ้านเมืองจากการคอร์รัปชั่น และความขัดแย้งทางสังคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตูนิเซีย ลุกลามขยายวงกว้างมากขึ้นจนเข้าขั้นวิกฤติ และ “ธรรมาภิบาลที่ผิดพลาด” ส่งผลให้การเมืองขาดเสถียรภาพ และเศรษฐกิจกลับมามีปัญหาตลอดทั้งโครงสร้าง ส่งผลต่อการจ้างงาน และการชำระหนี้
ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญของตูนิเซียมอบอำนาจบริหารเกือบทั้งหมดให้อยู่ในมือของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ประธานาธิบดียังมีอำนาจในด้านการต่างประเทศและการทหาร อย่างไรก็ตาม ไซเอดไม่เคยปิดบังแนวคิดอนุรักษนิยมของตัวเอง ทั้งในเรื่องการต่อต้านการยกระดับสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ( แอลจีบีที ) และจุดยืนการต้องเป็น “นักการเมืองมือสะอาด” แต่ในเวลาเดียวกัน ไซเอดไม่เคยปิดบังความปรารถนา ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดี
ความชัดเจนของไซเอดส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับพรรคเอ็นนาห์ดา ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภา โดยเฉพาะระหว่างไซเอดกับนายราชิด กันนูชี นักการเมืองอาวุโสของพรรคเอ็นนาห์ดา ซึ่งกลับมาทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังบ้านเมืองเริ่มสงบจากช่วงอาหรับสปริง
นอกจากนี้ การแย่งชิงอำนาจกันระหว่างหลายฝ่าย ในการควบคุมหน่วยงานด้านความมั่นคง และการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ยิ่งเพิ่มความยุ่งยากให้กับกระบวนการปฏิรูปประเทศ และสัญญาณการกระชับอำนาจของไซเอดชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อออกคำสั่งให้กองทัพเข้ามาบริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ หลังเกิดเหตุวุ่นวายเมื่อช่วงกลางเดือนที่แล้ว
นายไอเหม็ด อายาดี หนึ่งในสมาชิกอาวุโสของพรรคเอ็นนาห์ดา เปรียบเทียบไซเอดกับประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอียิปต์ ซึ่งทำรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เมื่อปี 2556 ว่า “ไซเอดคือซิซีคนใหม่” และชาวตูนิเซียจะลุกฮือต่อสู้กับ “การรัฐประหาร” อีกครั้ง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS, AP