นับตั้งแต่ประเทศไทยตกขบวนทำโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าน สปป.ลาว เชื่อมต่อไปประเทศจีน จากสาเหตุของความล่าช้า ขณะที่จีนได้ทำรถไฟฟ้าวิ่งเข้ามาถึงกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ส่งผลให้สินค้าผัก ผลไม้ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยเร็วขึ้น ขณะที่ไทยยังต้องขนผัก ผลไม้ ขึ้นโบกี้รถไฟรุ่นเก่าขนาดรางกว้าง 1 เมตร เพื่อไปขนถ่ายสินค้าขึ้นรถไฟฟ้าจีน-ลาว
รวมทั้งกรณีสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สังคมโลกต่างแบ่งขั้ว แบ่งข้างกันชัดเจนมากขึ้น ประเด็นเรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางภูมิศาสตร์ ที่มีผลต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งโอกาสและลู่ทางการค้า-การลงทุน ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อในการเสวนาของนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ทางด้านความมั่นคงมากขึ้นด้วย
“ดาราสาคร” จะแย่งเรือสินค้า “มาบตาพุด-แหลมฉบัง”
ทีมข่าว “Special Report” สนทนากับ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นักวิชาการที่มีมุมมองและองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ภูมิรัฐศาสตร์” อย่างน่าสนใจ จึงได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในเวทีต่างๆ เป็นประจำ
ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า เรื่องภูมิรัฐศาสตร์นั้น เราสนใจศึกษาและพูดถึงกันทุกพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ทั่วโลก ที่จีนและอเมริกาเข้าไปแย่งชิงผลประโยชน์กันในรูปแบบใดบ้าง หลังสุดตนไปบรรยายในงานของฝ่ายวิชาการ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ฝ่ายทหารเรือได้ให้ความสนใจในเรื่องภูมิทัศน์ทางด้านความมั่นคง กรณีจีนจะเข้ามาลงทุนสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ในโครงการ “ดาราสาคร” ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบังของไทย แล้วกองทัพเรือจะวางบทบาทของตัวเองอย่างไร?
โดยมีการจำลองลากเส้นทางเดินเรือจาก “ดาราสาคร” ของกัมพูชา ไปยังช่องแคบมะละกา และลากเส้นจากดาราสาครไปยัง “คลองไทย” หรือ “คอคอดกระ” ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย เพื่อขุดเชื่อมระหว่างอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน ในช่วงพื้นที่ จ.ตรัง
คือถ้ามองจาก 2 เส้นทางนี้ แล้วท่าเรือดาราสาครพร้อมเปิดใช้งานเมื่อไหร่ ปริมาณเรือสินค้าที่วิ่งเข้าสู่ท่าเรือมาบตาพุด-ท่าเรือแหลมฉบัง อาจจะลดลงไปหรือไม่? เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ 2 ท่าเรือของไทย อยู่ในตำแหน่งที่ลึกเข้าไปในมุมอับกว่า “ดาราสาคร” ส่วนทางแก้ของไทยคือต้องเร่งพัฒนาโครงการอีอีซี ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว เพื่อดึงการค้า การลงทุนเข้ามา
สำหรับ “คลองไทย” พูดกันมานานแล้ว ว่าจะช่วยสร้างรายได้ ทำให้เรือสินค้าผ่านคลองไทย โดยไม่ต้องอ้อมไปช่องแคบมะละกา ได้มีการพูดกันมากว่าถ้าขุดแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ เรือสินค้าจะผ่านเยอะหรือเปล่า เพราะจีนมองละเอียดทุกพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยขยับตัวช้า จีนก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ๆตลอดเวลา ด้วยการผ่านเมียนมา และลาว เห็นได้จากจีนทำรถไฟฟ้าจากคุนหมิงวิ่งเข้ามาที่กรุงเวียงจันทน์ของลาว ถือว่าสร้างความเจริญ สร้างเม็ดเงินให้ลาวมีความคึกคักพอสมควร
“ลาวมองว่าระบบโลจิสติกส์ทางบกของเขาล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาเองอย่างไรก็คงตามเพื่อนบ้านไม่ทัน ลาวจึงเดินทางลัดด้วยการเอาทุนจีนเข้ามา ทั้งเส้นทางรถยนต์ และรถไฟฟ้า ตอนนี้บางพื้นที่ของลาวมีสภาพเป็นไชน่าทาวน์ด้วยพลังของจีน แต่ลาวยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะต้องการออกสู่ทะเล โดยไม่ต้องผ่านไทย เนื่องจากระยะทางไกลกว่าการไปออกทะเลที่เวียดนาม ลาวจึงเข้าไปลงทุนสร้างท่าเรือที่ชายฝั่งตะวันออกของเวียดนาม โดยฝ่ายลาวถือหุ้น 60% และเวียดนาม 40%”
เมียนมาเป็น “ชอร์ตคัต” ให้จีนออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อไปว่า สำหรับจีนนั้นมีการขยับยุทธศาสตร์ตลอด ด้วย 6 เส้นทางบกในรูปทรงเรขาคณิต เพื่อกระจายการค้าการลงทุนไปสู่ลาว-เมียนมา-บังกลาเทศ-อินเดียและปากีสถาน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ จีนเพิ่งเปิดเส้นทางเดินรถไฟลงไปที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา สามารถออกมหาสมุทรอินเดียได้ และมีแผนจะทำถนนจากตอนใต้ของจีน ตัดเฉียงสะพายแล่งเมียนมาลงไปที่เมืองยะไข่ ซึ่งเส้นทางนี้ออกสู่ทะเลได้อีกเหมือนกัน โดย 2 เส้นทางของจีนในเมียนมา กลายเป็น “ชอร์ตคัต” ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยมีมัณฑะเลย์เป็นระเบียงทั้งทางบก ทางน้ำ ไม่ต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา เรียกว่าสร้างความระส่ำระสายให้กับอินเดียที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาได้มากพอสมควร นอกจากนี้จีนยังเล็งๆ ที่จัดถนนไปเชื่อมกับปากีสถานอีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ไทยตกเป็นรองเมียนมา และเวียดนาม คือยุทธศาสตร์ของ “เมืองรอง” เติบโตไม่ทัน ทำให้เรากลายเป็นเมืองโตเดี่ยว คือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยจึงมีลักษณะเป็น “เอกนคร” ทางด้านเวียดนามจะโตไล่ๆ กันทั้งฮานอย-เว้-ดานัง-โฮจิมินห์ มีลักษณะเป็น “ไตรนคร” เหมือนกับเมียนมาก็เป็น “ไตรนคร” คือ ย่างกุ้ง-เนปิดอร์-มัณฑะเลย์ ส่วนของไทยถ้าลากเส้นถนนยุทธศาสตร์จากเมืองเว้ของเวียดนาม ผ่าน จ.ขอนแก่น พิษณุโลก ไปทะลุเมืองมะละแหม่งของเมียนมา โดยส่วนตัวมองว่าพิษณุโลกและขอนแก่นยังเป็นเมืองเล็กอยู่
“วันนี้ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์การค้า การลงทุนของจีนไปเร็วมาก ไปเร็วกว่าอเมริกาที่มุ่งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น-อาเซียน-ออสเตรเลีย แต่มุ่งไปเรื่องการทหาร และการฝึกซ้อมรบมากกว่า และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีช่องโหว่จากการก้าวช้า พัฒนาโครงข่ายล่าช้า จึงต้องกระตือรือร้นให้มากกว่านี้ ทั้งที่ไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดีมากจุดหนึ่งของโลก แต่เรากลับขยับตัวช้าทั้งทางด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์” รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ และแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไม่ทันกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ดังนั้นบทบาทในอาเซียนของไทยจึงตกเป็นรองทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว