หลังพบข้อมูลบ่งชี้ว่าขบวนการค้ายาเสพติดยุคใหม่มีการนำเอาช่องทางออนไลน์มาใช้เพื่อค้ายาเสพติด ซึ่งได้มีการเปิดเผยไว้ว่า…ยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟูได้ “พบกรณีค้ายาเสพติดผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น” ซึ่งนี่ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็น “พัฒนาการร้าย ๆ ของการค้ายาเสพติด” ที่ก็ปรับตัวทันยุคทันสมัย ด้วยการหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งก็ทำให้ผู้ค้า ผู้ซื้อผู้เสพ “สะดวกยิ่งขึ้น” ในการติดต่อซื้อ-ขายยาเสพติด และที่สำคัญ…

“ความสะดวก” ด้วย “ช่องทางออนไลน์” กรณีนี้…

ไม่เพียง “ยาเสพติดซื้อง่ายขายคล่องขึ้น” เท่านั้น…

นี่ยังส่งผลให้ “ตลาดยาเสพติดขยายตัวมากยิ่งขึ้น!!”

เกี่ยวกับข้อมูลที่น่าตกใจในเรื่องนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ เป็นชุดข้อมูลจากรายงานวิจัยเรื่อง… “การตลาดและการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดบนโลกอินเทอร์เน็ต ระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2564” โดย กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบหลากหลายประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการ “การค้ายาเสพติดผ่านระบบออนไลน์” โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า… ปัจจุบันตลาดยาเสพติดบนอินเทอร์เน็ตมีการขยายตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการขายยาเสพติดออนไลน์ยังเป็นการเชื่อมทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน

ที่เป็น “ปัจจัยสำคัญทำให้ตลาดยาเสพติดขยายตัว”

ทั้งนี้ ในเอกสารรายงานวิจัยดังกล่าวได้มีการฉายภาพ “ตลาดยาเสพติดยุคออนไลน์” ไว้ว่า… เมื่อเทคโนโลยีออนไลน์มีการใช้งานกันแพร่หลาย นอกจากจะช่วยให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกและตลอดเวลาแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็ยังส่งผลทำให้ ขบวนการยาเสพติดนั้นมีโอกาสทำตลาดยาเสพติดเพิ่มขึ้น ด้วย เนื่องจาก มีหลาย ๆ ช่องทางที่ทำให้ผู้ขาย-ผู้ซื้อเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น และนอกจากนี้ เทคโนโลยีออนไลน์นั้นได้ช่วยสร้างโอกาส-ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ค้ายาเสพติด อีกต่างหาก เพราะก็สามารถ ตั้งแจ้งเตือนข้อความ เพื่อช่วยให้ผู้ค้ายาเสพติดสามารถที่จะ ให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

นี่เป็น “พัฒนาการการค้ายาเสพติด” ที่เกิดขึ้นในยุคนี้

นอกจากนั้น ทางผู้ที่ทำวิจัยเรื่องนี้ยังได้ระบุไว้ถึงข้อมูลที่พบจากกรณี “การค้ายาเสพติดบนสื่อสังคมออนไลน์” โดยพบว่า… มีผู้ค้าสารเสพติดต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์สูงถึง 2,280 บัญชีรายชื่อ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมานั้น พบผู้ค้ายารายใหม่ลงทะเบียนในสื่อสังคมออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 77.76 ซึ่งกับ “สื่อออนไลน์ยอดฮิต” ที่บรรดาผู้ค้ายาเสพติดเลือกใช้มากที่สุดนั้น ได้แก่ ทวิตเตอร์ โดยพบคิดเป็นร้อยละ 94.82 และที่รอง ๆ ลงมาคือ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ ไลน์

ขณะที่ข้อมูลอีกมุมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่รายงานวิจัยค้ายาเสพติดออนไลน์ชิ้นนี้ได้ระบุไว้ คือพบว่า… ระยะเวลาช่วงปี 2564 นั้น พบกรณีการโพสต์ขายยาเสพติดผ่านสื่อสังคมออนไลน์รวม 11,951 โพสต์ และที่สำคัญ…ในช่วง เดือน พ.ค.–เดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยก็กำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง พบการโพสต์ขายยาเสพติดสูงที่สุดมากกว่าช่วงอื่น!! โดยประเภทยาเสพติดที่นิยมโพสต์ขายมากที่สุด อันดับหนึ่งคือ “ยาไอซ์” อยู่ที่ร้อยละ 49.99 รองลงมาคือ “กัญชา” ร้อยละ 15.38 “ยาบ้า” ร้อยละ 14.63 “ยาอี” ร้อยละ 5.94 และ “เคตามีน” ร้อยละ 4.58

ในรายงานวิจัยดังกล่าวนี้ยังได้มีการฉายภาพให้เห็นถึง “กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ของผู้ค้ายาเสพติด” เอาไว้ว่า… จากผลการศึกษาที่พบการกระจายตัวของนักค้ายาเสพติดอยู่ที่ 45 จังหวัด โดย กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พบการขายยาเสพติดบนสังคมออนไลน์มากที่สุด รองลงมาได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี นครรราชสีมา กับกลยุทธ์ในการดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ-นักเสพนั้น หลัก ๆ มีอาทิ โพสต์ข้อความ รูปภาพ คลิปเคลื่อนไหว เพื่อที่จะ บรรยายลักษณะ-วิธีการเสพ อีกทั้งยังมีการ แนะนำอุปกรณ์สำหรับเสพยาเสพติด และ รวมถึงอาการที่เกิดขึ้นหลังจากเสพ เพื่อ กระตุ้นให้อยากรู้อยากลอง ยาเสพติด…

นอกจากนี้ ผู้ที่ “ค้ายาเสพติดออนไลน์” ยังมีการ ทำประชาสัมพันธ์ และ มีการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูน่าเชื่อถือ ในกลุ่มของลูกค้าหรือผู้ซื้อยาเสพติดอีกด้วย เช่นการ “รีวิวสินค้าให้ดู” เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นในสินค้า ขณะที่ในเรื่อง ราคาขาย นั้น พบว่า… ได้มีการ นำเรื่องกลยุทธ์การตั้งราคาขายมาใช้ เพื่อที่จะ แยกเกรดลูกค้าตามกำลังซื้อ เช่น หากลูกค้าเป็นกลุ่มรายได้น้อย ก็จะใช้วิธีแบ่งขายให้ทีละปริมาณน้อย ๆ แทนที่จะปล่อยขายยาเสพติดให้ครั้งละมาก ๆ ทีเดียว และที่สำคัญยังพบว่า… ราคายาเสพติดออนไลน์นั้นจะแพงกว่าแบบออฟไลน์ …ซึ่งในขณะที่ราคาสินค้าออนไลน์ทั่วไปมักจะถูกกว่าราคาหน้าร้าน…

กรณีนี้ก็ดูจะ “สวนทางกับโลกค้าขายออนไลน์สุจริต”

“การเชื่อมโยงจากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์นั้นเกิดขึ้นก็เพื่อต้องการเข้าถึงผู้เสพให้ได้มากขึ้น และถึงแม้จะมีนโยบายจำกัดการเข้าถึง และมีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่ แต่ ผู้ขายก็มีการนำคำสแลง ชื่อเรียก สัญลักษณ์อิโมจิต่าง ๆ มาใช้แทนชื่อสารเสพติด เพื่อหลบเลี่ยงและป้องกันตัว ซึ่งสะท้อนว่าผู้ค้ายาปรับตัวอยู่ตลอดเวลา” …งานวิจัยฉายภาพไว้

ฉายภาพ “ผู้ค้ายาเสพติดยุคนี้” ที่ “ก็เก่งเทคโนโลยี”

ที่แม้ “เจ้าหน้าที่ก็มีการตรวจจับผู้ค้าได้อยู่เรื่อย ๆ”

ก็ “เหมือนแมวไล่จับหนู”…ที่ “มีหนูรอดอีกอื้อ??”.