โดยมี 9 ผู้นำองค์กรระดับภูมิภาคอาเซียน เอกอัครราชทูต และผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมแบ่งปัน “แง่มุมที่น่าสนใจ” หัวข้อ “Reopening >> Recovery >> Resilience” หรือ “เปิดประเทศอย่างไร ให้พลิกฟื้น และยืนหยัด” ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะนำเสนอในวันนี้…

“เปิดประเทศ-ฟื้นฟู-สร้างความยืนหยัด” อาเซียน…

นี่เป็นประเด็นน่าสนใจ…ที่ “เกี่ยวพันไทย-คนไทย”

ทั้งนี้ “C asean Forum 2022” ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก… สำนักงานเลขาธิการอาเซียน, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน), ดีลอยท์ ประเทศไทย, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประเด็นเปิดประเทศ ผู้เสวนาคือ… ศ.ตานศรี ดร.เจมิลาห์ มาห์มุด ผู้ได้รับรางวัลอาเซียน ปี 2019, ลิซ ออร์ติเกรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA), ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท.

ผู้เสวนาประเด็นฟื้นฟู… ดาโต๊ะ ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน, ดร.เอเคพี ม็อกตาน เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO), ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ส่วนประเด็นสร้างความยืนหยัด ผู้เสวนา… พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก, เดเชน เซอริง ผู้อำนวยการ และผู้แทนสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP), สุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย

ทั้งผู้เสวนา และองค์กรที่สังกัด ล้วน “น่าสนใจ”…

รวมถึง “แง่มุม” ที่สะท้อนไว้ใน “C asean Forum”

ประเด็น “เปิดประเทศ” ที่ยึดโยงกรณี “โควิด-19” นั้น ยกตัวอย่างบางส่วน เช่น… ศ.ตานศรี ดร.เจมิลาห์ ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… ก็ยังคง “ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อยและผู้เปราะบาง เพื่อออกแบบการบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ส่วนกรณีที่โยงเรื่อง “รายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยว” นั้น… ลิซ ออร์ติเกรา ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… “ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมีสามัญสำนึก คือ การเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบ รักษาสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่เอาเปรียบชุมชนและผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่น และอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม” สอดคล้องกับที่ ศิริปกรณ์ ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… “การท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน ความปลอดภัยเฉพาะบุคคลนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องครอบคลุมไปถึงความปลอดภัยของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย” …ซึ่งตอนนี้ไทยก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้

ประเด็น “ฟื้นฟู” ที่โยงถึงกรณี “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่หลัง ๆ ในไทยก็ได้ยินบ่อย ยกตัวอย่างบางส่วน เช่น… ดาโต๊ะ ลิม ระบุถึงกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนกรณีนี้ไว้ว่า… “สนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสัมพันธ์ และโครงสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจดังกล่าว” ขณะที่ ดร.เอเคพี ก็ได้ระบุไว้บางช่วงว่า… “การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ต้องไม่คิดเพียงแค่กรอบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย” พร้อมแนะนำกรณี… “ปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับประชากร มีความเสมอภาคทางสังคม ทั้งยังลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต”

ประเด็น “สร้างความยืนหยัด” ยกตัวอย่างเช่น…เดเชน เซอริง ระบุไว้ในเวที C asean Forum 2022 บางช่วงว่า… “การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นว่าเมื่อเราทุกคนปรับพฤติกรรม เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก” และรวมถึง… “ความยืดหยุ่น ทำให้เกิดความสามารถในการยืนหยัดและฟื้นคืนสู่สภาวะปกติแม้ในเหตุการณ์วิกฤติ ความยืดหยุ่นเป็นพื้นฐานสำคัญในการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ปั่นป่วนอย่างเช่นปัจจุบัน”

ทั้งนี้ ในส่วนของ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ท่านระบุถึงการสร้างความยืนหยัดไว้บางช่วงว่า… “เมื่อตกอยู่ในความมืด แม้แสงไฟเพียงจุดเล็กก็อาจนำไปสู่ทางออกที่ส่องสว่างได้…” “การเริ่มต้นใหม่หลังวิกฤติ ความแข็งแรงของจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ…” “จิตมนุษย์นั้น เมื่อคิดลบ มันจินตนาการให้ปัญหายิ่งใหญ่กว่าความเป็นจริงเสมอ ทางออกที่ดีสำหรับความมืดมนนั้นคือสติ เพื่อทบทวนทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วจะพบว่าปัญหาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และเมื่อจิตใจหายจากความตื่นตระหนก ก็จะเกิดความสงบ แล้วทางออกก็จะตามมา…”

“เปิด” อีกครั้ง…ระดับประเทศหรือตัวบุคคลก็ตาม…

“ฟื้นฟู” เพื่อ “ยืนหยัด” ประเทศหรือบุคคลก็ตาม…

“แง่มุม” เวที “C asean Forum” นี่…“มีแง่คิดดี ๆ”.