ชาวอเมริกันครอบครองปืนมากกว่าใครในโลก และอาวุธปืนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนมากกว่า 45,000 คนในสหรัฐเมื่อปี 2563

ขณะที่การกราดยิงนับเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเสียชีวิตจากปืนในสหรัฐ มันสามารถดึงดูดความสนใจส่วนมากด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างล่าสุดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เด็ก 19 คน และครู 2 คน ถูกยิงเสียชีวิตที่โรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ชนบทของรัฐเทกซัส ซึ่งผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียวจากเหตุการณ์กราดยิงที่ซูเปอร์มาร์เกตในเมืองบัฟฟาโล ของนครนิวยอร์ก ที่มีผู้เสียชีวิต 10 คน

นอกจากนี้ การฆาตกรรม 17 ศพ ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่งในเมืองพาร์คแลนด์ ของรัฐฟลอริดา เมื่อปี 2561 ทำให้เกิดกลุ่มใหม่ของนักเคลื่อนไหวและนักเรียน ที่เรียกร้องการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยผลสำรวจของสำนักวิจัยพิวในปี 2564 พบว่า คนอเมริกัน 53% มีความเห็นว่ากฎหมายควรเคร่งครัดมากกว่านี้ ซึ่งลดลงมาจากสัดส่วน 60% เมื่อปี 2562 อีกทั้งสมาชิกของพรรคเดโมแครต 73% และสมาชิกของพรรครีพับลิกัน 18% แสดงความคิดเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดจากปืน “เป็นปัญหาใหญ่มาก” สำหรับสหรัฐ

ส่วนมากกฎหมายปืนถูกกำหนดโดยแต่ละรัฐ และตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์การกราดยิงในเมืองพาร์คแลนด์ ข้อกำหนดใหม่จึงถูกประกาศใช้ในหลายรัฐ มาตรการต่างๆ สนับสนุนข้อเรียกร้องต่อการตรวจสอบประวัติของผู้ซื้อปืน, การห้ามใช้อุปกรณ์ติดตั้งที่ทำให้ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติยิงได้เร็วขึ้น และมุ่งเป้าไม่ให้ปืนแก่ผู้ใช้ความรุนแรงภายในบ้าน

ทั้งนี้ รัฐนิวยอร์กเป็นรัฐแห่งแรก ที่อนุญาตให้คนที่ถูกทำร้ายด้วยปืนสามารถพาตัวผู้ขายและผู้ผลิตอาวุธปืนขึ้นศาลได้ เมื่อปี 2564 อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในเรื่องการควบคุมที่เข้มงวดนั้นไม่ได้เป็นแบบเดียวกัน ในปัจจุบัน มันเป็นเรื่องถูกกฎหมายใน 21 รัฐ ที่สามารถพกอาวุธปืนในที่สาธารณะโดยไม่ต้องได้รับอนุญาต จากเดิมที่เคยมีเพียงแค่ 4 รัฐ เมื่อปี 2557

เจ้าของปืนหลายคน ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท มองว่าการควบคุมการใช้ปืนมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา และสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (เอ็นอาร์เอ) ล็อบบี้ยิสต์ด้านอาวุธปืนทรงอิทธิพลที่สุดของสหรัฐ ให้ความเห็นว่า อาชญากรคือคนที่ไม่สนใจข้อบังคับของการใช้งานปืน

นอกจากนี้ สมาชิกสภาคองเกรสหลายคนที่สนับสนุนเอ็นอาร์เอ กล่าวว่า การกราดยิงไม่ได้พิสูจน์ถึงความต้องการกฎข้อบังคับใหม่ และมันจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ในการให้ประชาชนครอบครองอาวุธมากขึ้น รวมถึงบุคลากรครูด้วย เพื่อที่พวกเขาจะสามารถป้องกันตัวเองและผู้อื่นได้ อีกทั้งยังชี้ถึงเรื่องที่หลังจากสภาคองเกรสปล่อยให้การห้ามใช้อาวุธจู่โจมหมดอายุในปี 2547 การกราดยิงในสหรัฐก็ลดลงในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม กลุ่มควบคุมการใช้ปืนหลายกลุ่ม กล่าวว่าตัวเลขที่ลดลงนั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดลงโดยรวมในอาชญากรรมรุนแรง เกิดขึ้นเพราะเหตุผลอื่น โดยเฉพาะการปรับปรุงในภาคตำรวจ ยกตัวอย่าง กฎหมายปืนที่เคร่งครัด ซึ่งประกาศใช้ในออสเตรเลีย หลังจากเหตุการณ์การกระหน่ำยิงเมื่อปี 2539 ที่มีผู้เสียชีวิต 35 คน โดยกฎหมายดังกล่าวสามารถยุติการกราดยิงในประเทศได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS