ท่ามกลางความสับสนของภาครัฐ ในห้วงเวลาที่ประชาชนหวังว่า วัคซีนจะมาเป็นตัวช่วยในการยุติการระบาดของโรคโควิด 19 ที่กินเวลาเกือบ 2 ปี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประชาชนคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนได้ทันต่อเวลาที่โรคระบาดกำลังไล่ล่าคร่าชีวิตคนทั่วโลก แต่ด้วยวัคซีนเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องการ และประเทศไทยก็มีข่าวลือหนาหูว่า เราจะได้วัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ
อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำกันเกิดขึ้น รวมถึงความผันผวนของราคาตลาด จึงทำให้รัฐบาลเรือเหล็กที่กำลังเจรจานำเข้ามาเกิดปัญหาอุปสรรค์ จนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในการบริหารประเทศต่อสถานการณ์วิกฤติ และ“วัคซีน” จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง “ทีมการเมือง เดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “นายสาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงสถานะของรัฐบาลขณะนี้
โดย “นายสาธิต” เปิดฉากยอมรับว่า ประชาชนก็คงพอมองออกว่า เวลานี้รัฐบาลเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเองของรัฐบาล เป็นลักษณะของต่างคนต่างทำ แทนที่จะใช้หลักการในการขจัดและเดินหน้าด้วยการไม่มีใครเสียประโยชน์ มีแต่ประชาชนได้ประโยชน์ ถ้าใช้หลักนี้ก็จะสามารถทำงานได้
“สถานการณ์ก่อนหน้านี้ก็กลายเป็นคนมองว่า “การเมืองนำการแพทย์” ในทุกเรื่อง แล้วถ้าข้างบนไม่นิ่ง การสื่อสารคนก็ไม่เชื่อมั่น จะไปหนักคนทำงานที่หน้างาน ถ้าเราไม่ปรับข้างบนการกระจายวัคซีนจะเป็นปัญหาและทำให้สถานการณ์โควิดยืดยาวออกไปจนสุดท้ายจะมีคนป่วยมากขึ้น คนตายมากขึ้น บุคลากรการแพทย์จะเกิดภาวะหมดไฟ”
เพราะฉะนั้น การกระจายวัคซีน ต้องเป็นธรรมตามหลักการแพทย์ อย่างเช่น กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต หากติดเชื้อ ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับวัคซีนในลำดับต้นๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตลดอาการรุนแรงตรงนี้ และช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ส่วนเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการระบาดในพื้นที่ระบาดหรือการนำร่องในพื้นที่เศรษฐกิจพื้นอาชีพที่มีความเสี่ยงก็ถูกจัดลำดับความสำคัญลดหลั่นกันมา
ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอด้วยว่า เมื่อได้วัคซีนมา หักพื้นที่ระบาด พื้นที่ตามนโยบาย กลุ่มเสี่ยงแล้ว แล้วจัดสรรให้จังหวัดในอัตรา 20% ของประชากร เช่น ระยองมีคน 1 ล้านคน ก็ได้วัคซีน 2 แสนโด๊ส เป็นต้น ถ้าเราทำตามหลักการที่วางตัวเลขชัดเจนแล้วจะตอบได้หมด ความหวาดระแวงก็จะหมดไป ดีกว่าทำไว้กว้างๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ ซึ่งเกิดจากเจตนาดีเพื่อรองรับสถานการณ์ แต่ทำในสถานการณ์นี้ไม่ได้แล้วเพราะคนไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ
ทั้งนี้ ถ้าเรามีหลักการแพทย์ที่อธิบายได้ เราจะตอบคำถามได้ ไม่ว่าจะเป็นส.ส. ฝ่ายค้าน แล้วถ้าสส.ฝ่ายค้านทำหน้าที่โดยขาดวุฒิภาวะหรือความหวังดีกับประเทศ ประชาชนจะเห็นเอง หากประชาชนได้ศึกษาว่าเขาทำได้ทำหน้าที่อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือว่าเอาแต่ด่าอย่างเดียว อันนี้เขาก็ต้องรับผิดชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเขาเอง เพราะฉะนั้นทุกเรื่องในการบริหารประเทศเริ่มต้นที่ผู้มีอำนาจ ถ้าผู้มีอำนาจมีหลักการที่ถูกต้องอธิบายได้ ทุกส่วนก็อธิบายได้หมด
@ แต่ในทางปฏิบัติการบริหารจัดการกระจัดกระจายทำให้ประชาชนไม่ยอมรับ
ต้องยอมรับว่าปัญหาก่อนหน้านี้เกิดจากการสื่อสารที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้คนเข้าใจได้ว่า มีความขัดแย้งทางการเมือง แล้วคนที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณในเชิงปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดึงเอาความเชื่อมั่นนั้นกลับมาโดยเอาหลักการจัดสรรวัคซีนให้คนไทย ภายใต้หลักวิชาการทางการแพทย์ให้ได้ ไม่ใช่วัคซีนเพื่อใคร ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่อยากให้ประชาชนเข้าใจ บางเรื่องเป็นชั้นความลับจริงๆ ซึ่งวันนี้ประชาชนก็มีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว
@ การดึงอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่ที่ศบค. เกิดจากการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอง
แง่ของ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขนั้นความจริงเป็นการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว การดึงอำนาจไป เป็นเรื่องปกติถ้าใช้ระบบ Single Command ซึ่งเมื่อเอาไปตรงนั้นแล้ว ถ้าไขปัญหาให้ประชาชนได้จริงๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่สุดท้ายแก้ไขปัญหาได้จริงๆ หรือไม่ สถานการณ์จะเป็นการตอบคำถามของตัวเอง ส่วนตัวไม่เคยน้อยใจอะไร แต่สงสารคนทำงาน บางคนพอข้างบนไม่ราบรื่น ก็มองเป็นลบไปหมด การบูรณาการ การประสานงานติดขัด กทม. กระทรวงสาธารณสุขไปไม่ได้ คนที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชนและคนป่วย เราจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้ จะโกรธแค่ไหนยังไงยังไงก็ต้องมาคุยกัน และเดินหน้าต่อเพราะถ้าช้าตัวเลขคนป่วย คนตายจะมากขึ้น หมอทำงานหนักมากขึ้น
จริงๆ การเมืองก็เป็นเรื่องที่จะต้องประสานผลประโยชน์ให้ได้ การแข่งขันก็ต้องอยู่ในกติกาที่สวยงาม มีนโยบายใหญ่ แข่งขันกันทำผลงานกับประชาชน ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด อย่าแย่งกันทำงานเพราะประชาชนเสียประโยชน์
@ อยากจะบอกอะไรกับคนการเมืองในห้วงเวลาวิกฤตินี้
อยากให้หันหน้ามาร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์โควิด เพื่อเดินไปข้างหน้า ถ้ามีบรรยากาศความหวาดระแวงก็ต้องคุยกันให้มากขึ้น อาจจะเปิดใจในการบอกไทม์ไลน์ให้ชัดเจน สมมุติว่า มีความไว้เนื้อเชื่อใจเราต้องมานั่งคุยกันว่าจะต้องทำเรื่องนี้ให้ผ่านไปให้ได้ รวมทั้งเงื่อนไขอื่น เช่นกันแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ทำไปพร้อมกัน แล้วกำหนดว่าจะไปยุบสภา ในเดือนธ.ค. ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นแล้ว
ความชัดเจนในไทม์ไลน์นี้ อาจจะแปลกในมุมมองของนักการเมืองทั่วไป แต่สำหรับตนเห็นว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะเมื่อประกาศอย่างนี้ แล้วใครชิงถอนตัว คนนั้นถือว่าซ้ำเติมปัญหา ใครไม่ให้ความร่วมมือประชาชนจะติดตามเฝ้าดู แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่ที่ผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะไปกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในทุกเรื่อง แก้ในระบบข้างบน คือ ครม. พรรคร่วมรัฐบาล ก็จะได้ปราศจากความหวาดระแวงกัน
ทั้งการแก้ปัญหาโรคระบาด และแก้ปัญหาทางการเมืองนั้นสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ถ้าผู้มีอำนาจ มีความจริงใจที่จะเห็นว่าสถานการณ์นี้ต้องทำเพื่อประเทศชาติ เรื่องสืบทอดอำนาจพักไว้ โดยการแสดงออกว่าไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็ไม่ต้องหาเสียง อาจจะหาเสียงได้โดยการทำงานแก้ไขสถานการณ์ แล้วประชาชนจะแยกได้เองว่าใครทำอะไร ใครซื่อสัตย์สุจริต นี่คือระบบที่ถูกต้อง แต่ถ้ายังทำงานอื่นๆ แบบนี้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ นับวันนอกจากจะนับถอยหลังของแต่ละฝ่ายแล้ว ก็นับวันเป็นการถอยหลังของประเทศด้วย