ซึ่งนอกจากการเมืองสนามเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทยอย่างพัทยา และการเมืองสนามกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยแล้ว กับ “การเมืองสนามใหญ่ระดับประเทศ” ก็ดูจะมีดีกรี “ความเชี่ยวกรากของกระแสที่ร้อนแรง” สูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ…และเผลอ ๆ ปุบปับก็อาจ “ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลง” ก็ได้??

“การเมืองไทย” กำลังมีหลาย ๆ “ประเด็นร้อน!!”

รวมถึง “เกมการเมืองในสภา” ช่วงนี้ และจากนี้…

อีกทั้งยึดโยง “กลุ่ม-มุ้ง” ที่ “เคลื่อนไหวน่าจับตา??”

มองย้อนไปดูช่วงหลังเลือกตั้งใหญ่ครั้งก่อนหน้า ตอนที่กำลังมีการตั้งรัฐบาลที่มี พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกน ในตอนนั้นกับประเด็นเกี่ยวกับ “กลุ่ม-มุ้ง” นั้นก็มีการ “เคลื่อนไหวกันแบบร้อนฉ่า!!” ยึดโยง “โควตาเก้าอี้รัฐมนตรี” ซึ่งในตอนนั้นกลุ่มการเมืองที่สังคมไทยจับตากันมากคือ กลุ่มสามมิตร ที่มีสมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนไหวโดยเสนอให้อัปเปหิผู้บริหารในพรรคบางคนออกไป ก่อนที่ทุกอย่างจะยุติลงไปดื้อ ๆ เสมือนว่าไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น?? ก็ทำเอาคนไทยงง ๆ กันไม่น้อย… และเมื่อวันเวลาผ่านเลยมาถึงตอนนี้…การเมืองไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกรณี “กลุ่ม-มุ้ง” ก็ดูท่าจะ “ร้อนฉ่าอีก??”

ทั้งนี้ การเมืองไทยจากนี้จะมีอะไร ๆ “เปลี่ยนแปลงปุบปับ??” เช่นไร?-หรือไม่?…ก็ต้องตามดู… ขณะที่ในภาพรวมทางการเมืองที่เกี่ยวกับ “กลุ่ม-มุ้ง” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนพินิจในเชิงวิชาการกัน โดยพลิกแฟ้มสะท้อนข้อมูลจากบทความจาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ที่เรียบเรียงไว้โดย รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น) ที่อธิบายเรื่องนี้ไว้น่าพิจารณา… ซึ่ง “กลุ่มการเมือง” ภายในพรรคการเมือง หรือ “Faction” นั้น มีการอธิบายเชิงวิชาการไว้ว่า…เป็นการรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ ของสมาชิกในพรรค ซึ่งมัก “ก่อตั้ง” ขึ้นในลักษณะของการแข่งขัน…

เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ผลประโยชน์เชิงอำนาจ??”

และมิใช่มีเพียงในประเทศไทย… ในต่างประเทศนั้นก็มีกลุ่มภายในพรรคการเมืองเช่นกัน อาทิ กรณีของ สหรัฐอเมริกา อย่าง พรรคเดโมแครต ที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพล ก็มีกลุ่มภายในพรรคที่มีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ… 1.ฝ่ายเสรีนิยม 2.ฝ่ายแนวทางสายกลาง และ 3.ฝ่ายชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย หรืออย่างกรณีของ ออสเตรเลีย พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่าง พรรคแรงงานออสเตรเลีย ก็มีกลุ่มการเมืองในพรรค คือ… กลุ่มแรงงานฝ่ายขวา กลุ่มสังคมนิยมฝ่ายซ้าย เป็นต้น

ในบทความ-ในแหล่งฐานข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ขยายความคำว่า “Faction” ไว้ว่า… ในอดีตคำ ๆ นี้นั้นเคยถูกใช้ในความหมายของการเป็นพรรคการเมือง ก่อนที่จะมีการพัฒนามาเป็นคำว่า “Political Party” ในภายหลัง ซึ่ง ในอดีตการรวมกันเป็น “กลุ่มการเมือง” มักให้ความหมายในแง่ลบมากกว่าจะเป็นไปในแง่บวก?? โดยกลุ่มนั้นแบ่งเป็น “3 ประเภท” ดังนี้…

กลุ่มที่เป็น “กลุ่มภายในพรรคที่มีความเป็นสถาบันหรือองค์การ (institutionalized or organizational factions)” กลุ่มการเมืองประเภทนี้จะมีลักษณะที่มีความเป็นทางการ หรือเป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่พึ่งพิงหรือผูกพันกันด้วยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กันระหว่างผู้นำกลุ่มกับสมาชิก แต่จะมีลักษณะความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม โดยมีตำแหน่งหรือกฎระเบียบที่แน่นอน …ซึ่งสมาชิกในกลุ่มการเมืองประเภทนี้ มักมีการรวมกลุ่มกันเป็นระยะเวลายาวนาน หรือรวมกันอย่างถาวร

กลุ่มที่เป็น “กลุ่มพรรคพวก (factional cliques)” กลุ่มการเมืองประเภทนี้ ก่อตั้งขึ้นมาจากบุคคลที่มีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน โดยที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการรวมตัวเพื่อแสวงหาเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของกลุ่ม กลุ่มการเมืองประเภทนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ สมาชิกของกลุ่มมีจำนวนที่ไม่แน่นอน และความเหนียวแน่นของสมาชิกในกลุ่มจะค่อนข้างสั้น …ซึ่งกลุ่มการเมืองในพรรคการเมืองประเภทนี้ มักปรากฏในช่วงที่มีประเด็นปัญหาในพรรค หรือในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

กลุ่มที่เป็น “กลุ่มอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ส่วนตัว (personal and client-group factions)” กลุ่มการเมืองประเภทนี้ยังหมายถึง กลุ่มผู้อุปถัมภ์-ผู้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งมีความต่างจากกลุ่มการเมืองประเภทพรรคพวกตรงที่จะมีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นรูปธรรม มีกระบวนการมีวิธีการสรรหา และมีการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกลุ่มกับสมาชิกของกลุ่ม ขณะที่ ความยั่งยืนของกลุ่มการเมืองประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองของผู้นำกลุ่ม เป็นสำคัญ …นี่คือกลุ่มการเมืองอีกประเภท

ในไทยมีประเภทใดบ้าง???…ก็ลองพินิจกันดู…

ทั้งนี้ นอกจากประเภท-ที่มาการจัดตั้ง “กลุ่ม” หรือที่ในไทยบางทีก็เรียก “มุ้ง” แล้ว…กับกรณี “อิทธิพล-ผลกระทบ…จากกลุ่มการเมือง-มุ้งการเมือง”  ก็เป็นอีกกรณีที่น่าศึกษาไม่น้อย เพราะ เมื่อเกิดความขัดแย้งจากกลุ่มก้อนต่าง ๆ ขึ้นครั้งใด…ก็มักมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพและความอ่อนแอ!! ของพรรคการเมืองนั้น ๆ เนื่องจากมักมีการแข่งขัน มีการช่วงชิง และ ท้ายที่สุดผลมักออกมาในรูปของการแยกตัวออกของกลุ่ม เพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือร่วมกับพรรคการเมืองอื่น และ “ต่อสู้กับพรรคการเมืองเดิม” ในฐานะฝ่ายตรงข้าม …ซึ่งสถานการณ์ดังว่านี้ “ในไทยก็เคยมีให้เห็น”…

“กลุ่ม-มุ้งการเมือง” นี่ “ไทยตอนนี้มีให้เห็นเช่นไร??”

ก็ “ลองพิจารณาจากท่าทีที่มีการเคลื่อนไหวกันอยู่”

และเรื่องนี้ตอนต่อไปก็มีข้อมูลให้พินิจกันเพิ่ม…