มหาวิกฤติโควิด-19 ระลอก 4 ที่เจ้าเชื้อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กำลังระบาดในประเทศไทย ท่ามกลางมรสุมที่ทุก ๆ ฝ่ายกำลังช่วยกันหาทางออกกับ โรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ แม้ทาง ศบค.จะยกระดับมาตรการคุ้มเข้มล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม 13 จังหวัด มากว่าครึ่งเดือนแล้ว แต่ติดเชื้อใหม่รายวัน พุ่งทะยานเกินวันละ 1 หมื่นคนมาตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. เป็นต้นมา โดยวันที่ 29 ก.ค. ทั้งผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตขยับนิวไฮ ไปถึง 17,669 ราย เสียชีวิต 165 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 561,030 ราย ผู้เสียชีวิต 4,562 ราย)
นอกจากวิกฤติโควิดฯ ระบาดแล้ว ยังมีโรคอุบัติใหม่ “ลัมปี สกิน” (Lumpy skin disease,LSD) ที่กำลังเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงโค-กระบือของเกษตรกร ตอนนี้เชื้อกระจายไป 62 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นับเป็นอีกโรคซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย สภาพโค-กระบือที่ติดเชื้อจะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ 2-5 ซม. ขึ้นตามผิวหนัง ก่อนจะลุกลามไปตามคอ หัว ลำตัว ขา ถ้าอาการหนักไข้สูง ต่อมนํ้าเหลืองโต ตุ่มก็จะแตกกลายเป็นแผลเน่า จนทำให้บางตัวทนไม่ไหวล้มตายไปจำนวนมาก
ตะลึงเชื้อโผล่พื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง
ทีมข่าว 1/4 Special Report หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ตามเกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือน พ.ค. แล้ว หลังพบการติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนจะระบาดไปทั่วประเทศ แม้ทางกรมปศุสัตว์ จะเร่งระดมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ กำจัดพาหะสำคัญของโรคคือแมลงดูดเลือด เช่น เหลือบ ริ้น ไร เห็บ ยุง แมลงวัน ฯลฯ พร้อมฉีดวัคซีน และเยียวยาชดเชย ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ล้มตาย ผลกระทบจากโรคลัมปีสกินไปบ้างแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ภายหลังจากมีทีมนักวิจัย จัดการสัตว์ป่าระบบนิเวศ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้วาง กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (คาเมรา แทรป) จำนวน 85 ตัว (ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 64) บริเวณพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ทีมนักวิจัยฯ เปิดเผยว่า กล้องสามารถบันทึกทั้ง ภาพฝูงวัวแดง และ หมูป่า ที่หากินในบริเวณดังกล่าว แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่วัวแดง บางตัวมีตุ่มขึ้นตามลำตัวอย่างเห็นได้ชัด กล้องจับภาพครั้งแรกได้วันที่ 5 มิ.ย. และเริ่มเห็นวัวแดง อีกตัวเป็นตุ่มแผลชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.-12 ก.ค. แสดงให้เห็นเป็นอาการของโรคลัมปีสกิน อย่างน้อย 9 ตัว เป็นตัวไม่เต็มวัย 6 ตัว และตัวเต็มวัยอีก 3 ตัว การกระจายตัวของวัวแดงที่แสดงอาการ พบมากที่บริเวณซับดงเย็น ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่กำหนดเตรียมการฯที่อยู่ติดต่อเนื่อง กับพื้นที่เปิดโล่งทางทิศตะวันตกของเขื่อนทับเสลา และบริเวณทิศใต้ ที่ต่อเนื่องกับห้วยระบำ และสวนป่าระบำ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
“สังเกตได้ว่า การกระจายตัวของโรคมีลักษณะเป็นแบบรวมกลุ่มและกระจายไปตามด่านสัตว์ป่าเข้าไปสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อได้ส่งภาพนี้ไปให้ กรมปศุสัตว์ ดูทุกคนก็ตกใจและยอมรับว่า เป็นโรคลัมปีสกิน อย่างไรก็ตามต้องรอตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการพิสูจน์ด้วย นอกจากนี้ได้ส่งข้อมูลทั้งหมด รายงานไปยัง ผวจ.อุทัยธานี โดยในช่วงกลางเดือน ส.ค. จะทำการกู้ภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าอีกครั้ง”
ห่วงระบาดฝูงวัวแดง–กระทิง–ควายป่า
ทีมนักวิจัยฯ ยังมีมุมมองถึงผลกระทบของโรคลัมปีสกิน ต่อสัตว์ป่าในอาณาบริเวณของพื้นที่ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ใน กลุ่มสัตว์กีบ ว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อน การคาดการณ์ผลกระทบมาจากตัวเลขงานวิจัยด้านสัตว์ป่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผลกระทบของโรคที่มีต่อสัตว์เลี้ยงที่เผยแพร่โดยกรมปศุสัตว์ สามารถคาดการณ์ผลกระทบของโรคลัมปีสกิน ที่มีต่อสัตว์ป่าในกลุ่มวัวควาย ได้แก่ วัวแดง กระทิง และควายป่า ได้ดังนี้ 1.จากลักษณะธรรมชาติของโรคหากไม่มีการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพพอ คาดว่าจะมีการแพร่ระบาดไปทั่วพื้นที่ตั้งแต่พื้นที่กำหนดเตรียมการฯ เข้าไปสู่พื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะหุบทับเสลาและเขานางรำ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าผลัดใบที่ราบผืนใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย
2. จากประชากรวัวแดงที่ปรากฏอยู่ ประมาณ 350-400 ตัว ในบริเวณหุบทับเสลา หากประเมินเลวร้ายที่สุด อาจจะติดโรคลัมปีสกินได้ถึง 45% โดยเฉพาะในวัวแดง 158-180 ตัว และส่งผลอาจให้ล้มตายได้ 35-40 ตัว คาดว่าการตายส่วนใหญ่น่าจะเกิดในกลุ่มของวัวแดงที่เพิ่งเกิดในปีนี้และวัวแดงที่ยังไม่เต็มวัย นอกจากนี้แล้วโรคนี้อาจส่งผลกระทบสัตว์ลดความสามารถในสืบพันธุ์ ทำให้จำนวนวัวแดงในธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงจะส่งผลกระทบโดยตรงกับโครงสร้างประชากรวัวแดงในระยะยาว ประชากรวัวแดงถูกคาดการณ์ว่ายังหลงเหลือในธรรมชาติอยู่ราว 5,000-8,000 ตัว ซึ่งกระจายอยู่ในเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3.สำหรับวัวแดงในพื้นที่กำหนดเตรียมการฯ และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นประชากรกลุ่มเดียวกัน มีอาณาเขตหากินครอบคลุมพื้นที่รายป่าผลัดใบของพื้นที่ทั้งสองแห่งวัวแดงเดินเวียนหากินในพื้นที่ทั้งสองแห่งเป็นประจำ ประชากรบางส่วนไม่ย้ายถิ่นฐาน ขณะที่ประชากรบางส่วนมีการเคลื่อนย้ายเข้าไปในพื้นที่ตอนในของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากลักษณะของโรคลัมปีสกิน ที่ไม่ได้มีผลทำให้สัตว์ป่าตายในทันที เมื่อมีพาหะเป็นแมลงกินเลือดสัตว์ สัตว์ป่าที่เป็นโรค จึงมีแนวโน้มเดินทางไปได้ไกลจากแหล่งที่ติดโรค
4.การลดลงของประชากรวัวแดง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อจำนวนเหยื่อของเสือโคร่ง เมื่อเหยื่อของเสือโคร่ง ใช้ประโยชน์มากที่สุดชนิดหนึ่งและหายไป ย่อมส่งผลต่อขีดความสามารถในการรองรับประชากรของเสือโคร่ง ในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสือโคร่งอาจมีแนวโน้มต้องเลือกใช้เหยื่อชนิดอื่นมากขึ้น ถ้าหากวัวแดง กระทิง และควายป่า ทั้งหมดในมรดกโลกห้วยขาแข้ง ได้รับผล กระทบจากโรคระบาดลัมปีสกิน อาจส่งผลต่อโครงสร้างประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในระยะยาว เช่นกัน และอาจเป็นแรงกดดันให้เสือโคร่งออกมา รบกวนชุมชนที่อาศัยอยู่ตามขอบชายป่า มากยิ่งขึ้น
ดังนั้นคาดว่า ปัจจุบันน่าจะมี ’วัวแดง“ ติดโรคลัมปีสกินเข้าไปอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และถ้าหากมีการกระจายของโรคไปสู่ ’กระทิง“ เมื่อใด คาดว่าการระบาดของโรคนี้ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง จะอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากกระทิงมีความสามารถในการเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่าวัวแดงมาก มีแนวโน้มเป็นพาหะของโรคนำไปติดต่อกับประชากรของวัวแดงและกระทิงฝูงอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังอาจจะระบาดไปถึง ’ควายป่า“
ปัจจุบันมี ควายป่า หรือ “มหิงสา” ฝูงสุดท้าย อาศัยหากินอยู่ ราว 50-70 ตัวอยู่ทางตอนใต้ของผืนป่ามรดโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวนประชากรอันน้อยนิดนี้ถือว่าเปราะบาง บรรดานักอนุรักษ์จึงหวั่นวิตกจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
‘อุทยานฯ-ปศุสัตว์’ งัด 7 มาตรการเข้ม
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ สั่งการให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ โดยให้เร่งดำเนินการ ดังนี้ 1.สังเกตอาการป่วย/ตายผิดปกติของวัวป่า ควายป่า และกลุ่มสัตว์กีบในพื้นที่รับผิดชอบ และให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสัตว์ป่า ติดตามสถานการณ์ของโรค สุขภาพ และการทำวัคซีนในสัตว์ปศุสัตว์โดยรอบพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสัตว์กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ทำการควบคุม ป้องกันแมลงพาหะอย่างเข้มงวด รวมถึงเฝ้าระวังและสังเกตอาการของสัตว์ป่าเป็นประจำ
2.กรณีสัตว์ป่าป่วย จะมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 ซม. ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และช่วงขา ดังนั้น หากพบ สัตว์ป่าที่มีอาการเดินผิดปกติ หรือพบสัตว์ป่าตาย ให้แจ้งสัตว แพทย์ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานใกล้เคียงเข้าดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วยหรือตาย 3.กำหนดแนวเขตกันชน ห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ 4.ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเฝ้าระวังการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่า ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการต่อไป
5.กรณีที่พบการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์กีบ และสงสัยว่าป่วยเป็นโรคลัมปีสกินในพื้นที่รับผิดชอบให้รายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบโดยด่วน 6.ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานปศุสัตว์ หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เข้ามาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและยากันแมลงในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ พื้นที่รอยต่อเขตปศุสัตว์ และพื้นที่ปศุสัตว์ของหมู่บ้าน ตลอดจนดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ปศุสัตว์ของราษฎรที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด และ7. เฝ้าระวังและติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายอภิชัย โพธิ์เจริญ ปศุสัตว์ จ.อุทัยธานี เปิดเผยว่า โรคลัมปีสกิน มีแมลงดูดเลือด เป็นแมลงพาหะ สามารถบินได้ในระยะทางไกล กว่า 50 กม. ในด้านการป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ป่า เราจะเน้นหนักการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ในหลายหมู่บ้านของ ต.ระบำ อ.ลานสัก ซึ่งเป็นรอยต่อของผืนป่าห้วยขาแข้งกับพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน หรือแนวกันชนเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านเลี้ยงโค-กระบือ เป็นอาชีพ มีประมาณ 2,000 กว่าตัว ขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีน LSD ไปแล้ว 1,951 ตัว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลามไปสู่สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง.