ดังนั้น “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องสนทนากับ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่า มีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ และความเห็นต่อพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง จะเกิดรอยร้าวซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ?
โดย “ชัยธวัช” เปิดฉากกล่าวว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลเราคิดว่าประเด็นสำคัญที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะอยู่ที่ 2 เรื่องคือ 1.ผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.จำเป็นที่จะต้องปิดสวิตซ์ ส.ว.ให้ได้ เพราะว่าถ้าปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ได้ การแก้ไขรายมาตราอื่นๆ ก็ไม่ได้มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเลือกตั้ง หรือเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่ควรเพิ่มขึ้นมา ในส่วนของการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น แต่ตอนนี้มีได้ 2 ทาง คือ 1.ผลักดันให้ร่างกฎหมายออกเสียงประชามติผ่านสภาให้ได้ ซึ่งตอนนี้ค้างการพิจารณาอยู่ และเมื่อ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติบังคับใช้ เราก็สามารถที่จะยื่นญัตติให้รัฐสภามีมติให้ทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน อันนี้เป็นทางที่หนึ่ง
ทางที่สองคือสามารถยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ซึ่งก็คงจะถูกท้วงเหมือนกับคราวที่ผ่านมาโดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าหากจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จำเป็นที่จะต้องมีการทำประชามติก่อน ร่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอตอนนี้ก็คงเข้าสู่กระบวนการแบบนั้น ทุกคนก็คงคาดเดากันได้ แต่ว่าถ้าเกิดเมื่อยื่นมาตรา 256 ไปแล้ว สภาบอกว่าควรจะมีการทำประชามติก่อน ก็ต้องวนกลับมาในการใช้ช่องที่ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติได้เปิดไว้อยู่ดี ช่องทางหนึ่งก็คือสามารถให้รัฐสภามีมติเห็นชอบให้มีการทำประชามติแล้วก็ส่งไปที่ ครม. ดำเนินการ ดังนั้นทำได้ทั้ง 2 ทางแต่ว่าในส่วนของการยื่นแก้มาตรา 256 อย่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอตอนนี้ เราไม่เห็นด้วยในเชิงเนื้อหา คือการจำกัดอำนาจของประชาชนที่ถือว่าเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 นี่ไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะแก้หมวด 1 หมวด 2 แต่ว่าเชิงหลักการ การไปจำกัดตรงนั้นในทางหลักการเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเราเห็นว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานในทางการเมืองที่ผิด เพราะหมวดดังกล่าวมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว เอาเข้าจริงๆ การจะแก้หรือไม่แก้ในหมวดต่างๆ เป็นเรื่องของประชาชนที่เลือก ส.ส.ร.เข้ามา
เราเชื่อว่า ส.ส.ร.จะเป็นเวทีที่เปิดกว้าง มีหลายฝักหลายฝ่าย หลายแนวคิดทางการเมืองที่ถูกเลือกเข้ามา และจะเป็นเวทีที่เกิดการถกเถียงและหาจุดร่วมที่ลงตัวได้อยู่ดี ไม่ต้องไปกังวลว่าห้ามแก้ตรงโน้นตรงนี้ เป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่ประเด็นใหม่เพราะเราไม่ได้ เห็นด้วยมาอยู่แล้วในอดีต แต่อยากจะให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเห็นต่างที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างการทำงานร่วมกัน แต่ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญท่ามกลางความเห็นต่าง เรามีความเห็นร่วมกันว่าข้อเสนอในการปิดสวิตซ์ ส.ว.เป็นเรื่องสำคัญ จึงเซ็นร่วมกัน
@คิดเห็นอย่างไรต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ
ต้องบอกว่าพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมาเราเห็นอยู่แล้วว่า เขาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแก้ไขที่จะเปิดช่องให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการแก้ไขรายมาตราที่สำคัญ เช่น การตัดอำนาจ ส.ว. วันนี้อยู่ดีๆ กลายมาเป็นมีบทบาทนำในการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งก็จะเห็นว่าเนื้อหาสาระคือการไม่พูดถึงการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วและไม่แตะอำนาจ ส.ว.
หัวใจสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ คือ อะไรทุกคนทราบดีคือวันนี้ตัวเองเห็นว่าถ้ากลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 มั่นใจว่าตัวเองจะได้เปรียบแล้ว คิดว่าตอนนี้เป็นพรรคใหญ่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีอำนาจเครือข่ายอิทธิพลต่างๆ แล้วก็อำนาจทุนที่ตัวเองสะสมได้ จึงมั่นใจว่าวันนี้จะกลายมาเป็นพรรคใหญ่ แล้วอยากจะแก้ระบบเลือกตั้งแค่นั้นเอง และยังมีประเด็นสำคัญอีกบางอย่าง เช่น พยายามจะแก้บางมาตราที่จะเปิดช่องให้ทาง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล สามารถเข้าไป มีส่วนในการจัดการเรื่องงบประมาณ และแทรกแซงข้าราชการได้สะดวกมากขึ้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอเยอะแยะไปหมดที่อาจจะเหมือนดูดี แต่หัวใจสำคัญมีอยู่แค่ 2-3 เรื่องนี้
“เรื่องนี้เป็นอุปสรรคต่อการที่เราจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ฉบับปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการที่จะแก้วิกฤติรัฐธรรมนูญจริงๆ วิกฤติรัฐธรรมนูญที่แท้จริงในปัจจุบัน ถามว่า คืออะไร หัวใจสำคัญจริงๆ ก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าจะเลือกตั้งอย่างไร ได้วางกลไกต่างๆ เอาไว้ให้รักษาอำนาจของผู้นำที่มาจากการรัฐประหารให้อยู่ในตำแหน่งไปเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ จึงไม่สามารถแก้วิกฤตรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้”
@ มีการมองว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบจะทำให้พรรคก้าวไกลเสียเปรียบทางการเมือง
เราวางหลักไว้ตรงนี้ว่า ระบบการเลือกตั้งที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ระบบเลือกตั้งที่ดีอย่างแรก คือ ควรจะสะท้อนเสียงของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งการคิดแบบสัดส่วนผสมจะเห็นว่าคะแนนเสียงของประชาชนไม่ตกน้ำไปไหน และทุกเสียงทั้งประเทศก็จะถูกนำมาคำนวณ ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค
อันที่สองระบบเลือกตั้งที่ดีควรจะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบปี 2560 ทำลายตรงนั้น เกิดความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อกับ ส.ส.เขต ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในเชิงนโยบายมากเท่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เป็นต้น ระบบการเลือกตั้งที่ดีควรจะสร้างประสิทธิภาพในระบอบรัฐสภา ในฝ่ายบริหาร ทำให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอสมควร ไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยที่เรียกว่าเป็นพรรคปัดเศษเกิดขึ้น ถ้าถามว่าข้อเสนอนี้เป็นเพื่อประโยชน์ของพรรคก้าวไกลหรือเปล่าในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองระดับกลางก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้มองเรื่องนั้น เรามองว่าสุดท้ายตั้งแต่การตั้งพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกล วันหนึ่ง เราก็มีเป้าหมายอยากจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งในสภาเช่นเดียวกัน
ดังนั้นไม่ได้เกี่ยวกับว่า เราจะออกแบบการเลือกตั้งเพื่อรักษาสถานะพรรคระดับกลาง ออกแบบระบบการเลือกตั้ง เพื่อดีกว่าพรรคระดับกลาง เพราะเราก็อยากจะเป็นพรรคใหญ่ อยากเป็นพรรคอันดับหนึ่งในสภา เพื่อเป็นผู้นำในทางการเมือง ไม่ได้คิดว่าเราจะเป็นพรรคระดับกลางตลอดไป ข้อเสนอของเราเพียงแต่มองว่านี่เป็นข้อเสนอระบบเลือกตั้งที่น่าจะดีที่สุด