ณ นาทีที่สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งสูงทำลายสถิติตัวเองรายวัน อาจมองว่าเร็วไปหากจะพูดถึงมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเยือนประเทศไทยในช่วงนี้ แต่ข้อเท็จจริงการนำร่องเร่งรัดเปิด “ภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์” ตามด้วย “สมุย พลัส” อันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยวหลักที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติก็สะท้อนให้เห็น “นัยสำคัญ” การท่องเที่ยว ซึ่งเคยคึกคัก สร้างเม็ดเงินมหาศาล
ก่อนสิ้นสุด “ปีทอง” เพราะโรคระบาด ในปี 62 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่ปี 63 ต่อเนื่องถึงปี 64 แทบไม่ต้องพูดถึง เมื่อทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเดียวกันคือ ต้องเอาตัวรอดจากวิกฤติโรคระบาดให้ได้เสียก่อน
กระทั่งหลายประเทศเริ่มตั้งหลักได้ ขณะที่ประเทศไทยเองยังต้องพยายามทั้งมาตรการคุมเข้ม ควบคู่ไปกับการประคับประคองด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลัก ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากแผนจัดการท่องเที่ยวระยะสั้น การจัดการเพื่อดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว บางเรื่องต้องใช้เวลาเตรียมการและอาจต้องเริ่มต้นกำหนดทิศทางภาพลักษณ์ใหม่ให้สอดรับกระแสการท่องเที่ยวในอนาคตกันตั้งแต่วันนี้…
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เสนอมุมมองที่น่าสนใจกับแผนจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนของนักท่องเที่ยวที่ควรยกระดับเพิ่มขึ้น คู่ขนานกับความปลอดภัยจากโควิด โดยย้ำว่าจากนี้ ประเด็นความปลอดภัยจะมีบทบาทต่อการตัดสินใจเดินทางมากขึ้น หากจุดขายของประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวก็ต้องไม่ลืมว่านักท่องเที่ยวยุคใหม่ จะไม่เพียงใส่ใจความปลอดภัยจากโควิด แต่ยังมีความปลอดภัยอื่นด้วย หนึ่งปัญหาที่พูดถึงกันมากสุดคือ ความปลอดภัยทางถนน
ในโอกาสที่บางพื้นที่เริ่มเปิดรับการท่องเที่ยวหากเป็นไปได้ การจัดการความปลอดภัยทางถนนเพื่อนักท่องเที่ยวจึงควรถูกคิดและออกแบบไปพร้อมกันด้วย ถือเป็นการรีเซต (Reset) ภาพลักษณ์ใหม่ที่ดีขึ้น ยกตัวอย่าง บทเรียนสำคัญจากปัญหาเช่ารถจักรยานยนต์ (จยย.) แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต 10-20 ราย สาเหตุหลักมาจากรถ จยย.ที่ทำความเร็วได้สูง ดังนั้น เสนอหนึ่งวิธีสร้างความปลอดภัยทางถนนกับนักท่องเที่ยวทั้งการเดินและการขับขี่รถ จยย.คือการทำเมืองท่องเที่ยวให้เป็นเมืองความเร็วต่ำ หรือ โลว์ สปีด (Low Speed)
เริ่มจากจัดพื้นฐานทบทวนลำดับชั้นโซนถนนเขตเมือง เพื่อกำหนดความเร็ว (Speed Limit) ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความร้ายแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น กรุงลอนดอน กำหนดความเร็วเขตเมืองเพียง 30 กม./ชม. แม้ชนก็ไม่รุนแรง ขณะที่ประเทศไทยเนื่องจากกฎหมายกำหนดความเร็วเขตเมืองไว้กว้าง เขตเทศบาลความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ความเร็วระดับดังกล่าวยังถือว่าสูง หากชนก็มีโอกาสเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องจัดการด้านกายภาพของถนนก่อน
ขณะที่ความนิยมการเช่ารถ จยย. ซึ่งเร็วกว่าเดินและราคาถูกกว่าค่ารถทั่วไป เมื่อจัดลำดับถนนแล้วควรมีตัวเลือกใช้รถ จยย.ความเร็วต่ำ หรือ จยย.ไฟฟ้า ในเขตที่กำหนด ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าการจัดผังเมืองปกติเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อเริ่มการท่องเที่ยวใหม่อาจใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นโอกาสนำร่องถนนความเร็วต่ำ เพื่อยกระดับความปลอดภัย พร้อมยกตัวอย่าง ผังเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ที่มีนครวัด เป็นจุดท่องเที่ยวหลัก แต่เนื่องจากเนื้อที่กว้างทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกการเช่ารถ จยย.ไฟฟ้า จนกลายธุรกิจหลัก ซึ่งสามารถทำได้เพราะมีผังเมืองที่เอื้ออำนวยกับการกำหนดโซนความเร็ว
“หากเป็นเมืองปกติ การกำหนด สปีด โซน รูปแบบถนนใช้ความเร็วต่ำอาจไม่ง่าย แต่รอบนี้ที่กำลังทำ แซนด์ บ็อกซ์ เราสามารถใช้อำนาจ ศบค. กำหนดเปิดพื้นที่บางจุดเป็นโซนความเร็วต่ำ สิ่งที่รัฐทำได้นอกจากเตรียมความปลอดภัยจากโควิด ควรรองรับการทยอยเปิดให้เมืองท่องเที่ยวมีความปลอดภัยทั้งการเดินเท้าและเช่ารถ จยย. ความเร็วต่ำที่ต้องทำควบคู่กำหนดพื้นที่ความเร็วด้วย”
ทั้งนี้ ทิ้งท้ายหากยังเชื่อว่าทิศทางท่องเที่ยวไทยจะเติบโตได้ ต้องทำความปลอดภัยทางถนนพ่วงไปด้วย ความปลอดภัยจะเป็น “จุดขาย” แต่ต้องใช้เวลาเตรียมการจึงต้องทำแต่เนิ่นๆ เพื่อขยับเป็นองค์ประกอบ หรือคิดเป็นแพ็กเกจเดียวกัน อาศัยจุดเริ่มต้นนำร่องความเป็นไปได้จากการเปิดเมืองท่องเที่ยวรายแรกๆ อย่างกลุ่มแซนด์ บ็อกซ์ ก่อนขยายไปเมืองท่องเที่ยวอื่น.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน