แนวความคิดสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าของคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจุดประกายความคิดจากนโยบายรัฐที่ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2504-2509 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2510-2514 จึงเป็นเหตุนำไปสู่การสัมมนาร่วมกันจนตกผลึกทางความคิดใน การดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมชนบท
การก่อตั้งกลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อกลางปี 2509 เกิดจากการริเริ่มของนิสิตซึ่งเป็นคนต่างจังหวัด 3 คน ประกอบด้วย นายบำรุง บุญปัญญา ชาวสุรินทร์ (NGOอาวุโส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นิสิตปี 4 คณะเกษตร ดร.เวท ไทยนุกูล ชาวสงขลา (อดีตนักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร) นิสิตปี 4 คณะเกษตร และ รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ชาวสงขลา (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ อดีต ส.ว. สงขลา) นิสิตปี 1 คณะเกษตร โดยมีนายบำรุง บุญปัญญา เป็นประธานกลุ่มนิสิตอาสาสมัคร
ต่อมาในปี 2510 กลุ่มนิสิตอาสาสมัครมีการออกค่ายเป็นครั้งแรกที่ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความทุรกันดาร แห้งแล้ง ประชาชนมีความยากจนค่นแค้น ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการศึกษา เด็กๆไม่มีโรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นเป้าหมายในการออกค่าย พื้นที่การออกค่ายแห่งแรก ไปที่ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือชาวบ้านพัฒนาคูคลองและแนะนำความรู้ด้านการเกษตรเป็นระยะเวลา 10 วัน แห่งที่สอง ไปที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือชาวบ้านสร้างอาคารเรียนและแนะนำความรู้ด้านการเกษตรเป็นระยะเวลา 10 วัน
การออกค่ายในครั้งแรกนี้มี ดร.เวท ไทยนุกูล เป็นผู้อำนวยการค่าย และมี ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัทย์ ชาวพิษณุโลก (อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) นิสิตปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นเลขานุการค่าย พร้อมด้วยกลุ่มนิสิตอาสาสมัครรวม 34 คน ในจำนวนนี้มีนิสิตหญิงชาวค่าย 2 คนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 อีก 1 คน จากโรงเรียนสตรีวิทยาร่วมออกค่ายด้วย ซึ่งนักเรียนหญิงผู้นี้เป็นน้องสาวของ ศ.ดร.อารี ตรีเพชรไพศาล ชาวเชียงใหม่ (อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) นิสิตปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พักในการการออกค่ายครั้งนี้ นิสิตหญิงพักอาศัยอยู่ที่บ้านของชาวบ้าน ส่วนนิสิตชายพักที่ศาลาวัด
การออกค่ายในห้วงเวลานั้นสภาพการณ์ความไม่สงบยังปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการแทรกซึมและบ่อนทำลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีการปลูกฝังและครอบงำความคิดของประชาชนในชนบทโดยอาศัยเงื่อนไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความอยุติธรรมที่ถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นสิ่งเปราะบางในสังคมชนบทที่นำไปสู่เหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งชาวบ้านลุกขึ้นจับปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ดำเนินการขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความรุนแรงและขยายวงกว้างออกไปตามจังหวัดตลอดแนวเทือกเขาภูพาน
กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังคงดำรงเป้าหมายในการพัฒนาสังคมชนบท ออกค่ายในพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามแผนงานเดิม โดยไม่หวั่นเกรงหรือหวาดกลัว เพราะมีความตั้งใจและบริสุทธิ์ใจกับการ ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมชนบทอย่างแท้จริง การออกค่ายในครั้งแรกจึงยังคงมุ่งไปในพื้นที่ของ จ.นครพนม โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้การดูแลและรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกพื้นที่และออกจากพื้นที่การทำงาน
ในปี 2511 กลุ่มนิสิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกค่ายเป็นครั้งที่ 2 ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.เรณูนคร เพียง 15 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก”เมื่อปี 2508 โดยมีนายเกียรติศักดิ์ มัธยมางกูร (อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคกลาง) นิสิตปี 3 คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการค่าย ได้สร้าง โรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 1 ชื่อว่า โรงเรียนบ้านคับพวง เกษตรศาสตร์อนุสรณ์
ตั้งแต่ปี 2512-2519 กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผลงานออกค่ายสร้างโรงเรียนปีละ 3 โรง ดังนี้
ปี 2512 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 2-4 คือ โรงเรียนบ้านวังโพธิ์ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ปลาปาก จ.นครพนม โรงเรียนบ้านโคกกลาง เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ปลาปาก จ.นครพนม และโรงเรียนเกษตรประชาตาทวด เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
ปี 2513 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 5-7 โรง คือ โรงเรียนประชาเกษตรพัฒนา เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.วัฒนานคร จ.ปราจีนบุรี (จ.สระแก้วในปัจจุบัน) โรงเรียนบ้านน้ำคิว เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.เมือง จ.เลย และโรงเรียนเกษตรนาสมหวังสามัคคี เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (จ.หนองบัวลำภูในปัจจุบัน )
ปี 2514 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 8-10 คือ โรงเรียนบ้านหนองแต้พัฒนา เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และโรงเรียนบ้านนาสามัคคี เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
ปี 2515 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 11-13 คือ โรงเรียนบ้านดอนจำปา เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ โรงเรียนบ้านหนองเขียด เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ภูหลวง จ.เลย และโรงเรียนบ้านโนนสะอาด เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (จ.มุกดาหารในปัจจุบัน)
ปี 2516 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 14-16 คือ โรงเรียนบ้านหนองเหล็ก เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โรงเรียนบ้านหัวดงยาง เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และโรงเรียนบ้านแดง (บุญเสริมอุทิศ) เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
ปี 2517 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 17-19 คือ โรงเรียนบ้านป่งขาม เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (จ.มุกดาหารในปัจจุบัน) ศูนย์เยาวชนบ้านดงยาง เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และโรงเรียนบ้านทุ่ง เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
ปี 2518 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 20-22 คือ โรงเรียนบ้านหนองเป็ด เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ โรงเรียนวัดคลองโนน เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.เมือง จ.พิจิตร และโรงเรียนบ้านคำแวง เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (จ.บึงกาฬในปัจจุบัน)
ปี 2519 สร้างโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 23-25 คือ โรงเรียนบ้านราษฎร์ดำเนิน เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด โรงเรียนบ้านไร่เหนือ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี และโรงเรียนบ้านซำงู เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี
ปี 2520 สร้างโรงเรียน 1 โรง เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 26 คือ โรงเรียนบ้านคลองสาย เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
ปี 2521 สร้างโรงเรียน 2 โรง เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 27-28 คือ โรงเรียนหนองหญ้าปล้องวิทยา เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และโรงเรียนบ้านยางชุมภูมิตำรวจ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
ปี 2522 สร้างโรงเรียน 3 โรง เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 29-29/1 และ 30 คือ โรงเรียนบ้านสร้างเอี่ยน เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โรงเรียนน้ำตกห้วยสวนพลู เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.สวนผึ้ง (อ.บ้านคาในปัจจุบัน) จ.ราชบุรี และโรงเรียนบ้านโป่งดู่ประชาอุทิศ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์30 อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร
ปี 2523 สร้างโรงเรียน 2 โรง เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 31-32 คือ โรงเรียนบ้านเนินดินราษฎร์อุทิศ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์31 อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และโรงเรียนบ้านหนองตลับ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์32 อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย
ปี 2524 สร้างโรงเรียน 2 โรง เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 33-34 คือ โรงเรียนบ้านแยประชาสรรค์ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร และโรงเรียนโนนสวรรค์ประชาสรรพ์ภูปอ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
ปี 2525 สร้างโรงเรียน 2 โรง เป็นโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์แห่งที่ 35-36 คือ โรงเรียนเด่นกระต่ายประชาสรรค์ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ และโรงเรียนบ้านป่าระกำ เกษตรศาสตร์อนุสรณ์ 36 อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี (จ.สระแก้วในปัจจุบัน)
ในปี 2526 กลุ่มนิสิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการเปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมนิสิตค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2526-2563 มีการสร้างโรงเรียนเกษตรอนุสรณ์แห่งที่ 37-78 รวม 42 โรง
ปณิธาน และ อุดมการณ์ ของชาวค่ายมีจุดมุ่งหมายให้สังคมชนบทมีโอกาสและได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโรงเรียนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาหาความรู้ เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและดำเนินชีวิต การทำงานอย่างหนักด้วยความไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคทั้งหลาย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ ได้รับขวัญและกำลังใจ จากการเยี่ยมค่ายของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะผู้บริหาร รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนการเยี่ยมค่ายของนิสิตเก่ารุ่นพี่ในแต่ละจังหวัดมิได้ขาด
ศ.ระพี สาคริก เลขาธิการรองอธิการบดีและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามลำดับในห้วงเวลานั้นตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ได้ให้ความสำคัญกับการเยี่ยมค่ายทุกค่ายมาเป็นเวลาต่อเนื่องชาวค่ายให้ความเคารพนับถือในความเมตตาและกรุณาที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกิจกรรมชาวค่ายเสมอมา ชาวค่ายทั้งมวลจึงมีความเคารพรักและมีความผูกพันกับท่านอย่างลึกซึ้ง เรียกท่านว่า “คุณพ่อ” การเยี่ยมค่ายในแต่ละครั้งท่านได้ให้การชี้แนะแนวทางการบริหารจัดการค่ายยามค่ำคืนท่านเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการกับชาวค่ายและชาวบ้านอย่างเป็นกันเองก่อนเข้านอนมีการประชุมสรุปกิจกรรมประจำวันรวมถึงกำหนดแผนงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความราบรื่นในการปฏิบัติงานเมื่อถึงวันเดินทางกลับชาวค่ายต่างอดกลั้นน้ำตากันไม่อยู่ด้วยความอาลัยอาวรณ์ที่ซาบซึ้งถึงคุณความดีของท่าน
การอยู่ร่วมกันของชาวค่ายมีกฏระเบียบและข้อบังคับ ที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด อาทิ ชาวค่ายหญิงนอนอยู่รวมกันมีแผ่นไม้และผ้าใบหรือผ้ากระสอบกั้น ชาวค่ายหญิงรุ่นพี่นอนประกบด้านหัวท้ายและตำแหน่งประตูเข้า-ออก ส่วนชาวค่ายชายนอนที่เต็นท์อำนวยการ เพิงเก็บสัมภาระและเครื่องมือก่อสร้าง รวมถึงโรงครัว ชาวค่ายชายซึ่งเป็นรุ่นพี่แบ่งกันทำหน้าที่เป็นเวรยามเฝ้าระวังและคุ้มครองสวัสดิภาพของชาวค่ายทุกคนโดยมีอาวุธติดตัว
ห่างออกไปจากบริเวณที่ตั้งค่ายมีชาวบ้านซึ่งเป็น อาสารักษาดินแดน (อส.) ทำหน้าที่ลาดตระเวนตลอดทั้งคืนตามมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด หากใครเข้า-ออกบริเวณที่ตั้งค่าย ไม่สามารถตอบคำถาม อส. หรือตอบรหัสผิด มีโอกาสถูกยิงทันที
กาลเวลาได้ล่วงผ่านไปถึง 55 ปี แล้ว คนหนุ่มสาวในอดีตก็ได้ล่วงพ้นผ่านวัยสู่การเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน แต่ ปณิธาน และ อุดมการณ์ ในการพัฒนาสังคมชนบทยังคงต้องดำเนินต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด นิสิตเก่าชาวค่ายได้ผนึกกำลังรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ในการก่อตั้งชมรมนิสิตเก่าค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยมีนายนพดล วัดขนาด ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชมรมฯ คนแรก วาระการทำงานปี 2558-2560 ต่อมา ดร.เกลียวพันธ์ สุวรรณรักษ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชมรมฯ วาระการทำงานปี 2560-2562 และวาระการทำงานปี 2562-2564 ตามลำดับ ชมรมนิสิตเก่าค่ายอาสาพัฒนาได้ดำเนินโครงการค่ายคืนถิ่นตั้งแต่ปลายปี 2558-2564 ดำเนินกิจกรรมมาแล้ว 9 ครั้ง ใช้งบประมาณ 6,523,829.48 บาท ซึ่งไม่รวมมูลค่าวัสดุก่อสร้างและสิ่งของที่มีผู้บริจาคอีกจำนวนมาก อีกทั้งยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งเป็นยุวเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มการทำงานด้านการเกษตร โดยสามารถพึ่งตนเองและนำความรู้และประสบการณ์ไปช่วยเหลือกิจการการเกษตรของครอบครัว
โครงการค่ายคืนถิ่นได้มอบทุนการศึกษา “ทุนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์” แก่นักเรียนในโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ทั้ง 78 แห่ง ซึ่งมีทั้งทุนให้ครั้งเดียวและทุนต่อเนื่องโดยโรงเรียนคัดเลือกและรับรองเด็กที่ยากจน เรียนดี มีจิตอาสา เข้ารับทุน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันได้มอบทุนให้ครบทุกโรงเรียนแล้ว รวมทั้งสิ้น 266 ทุน เป็นเงิน 828,000 บาท และได้บริจาคเงิน 213, 500 บาท สมทบ “กองทุนการศึกษาชมรมนิสิตเก่าค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และศิษย์เก่าโรงเรียนเกษตรประชาตาทวด” บริจาค 100,000 บาท สมทบ “กองทุนการศึกษาต่อเนื่องโรงเรียนหนองหญ้าปล้องวิทยา” ในโอกาสนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย
ทั้งนี้ชมรมนิสิตเก่าค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนเกษตรศาสตร์อนุสรณ์ทั้ง 78 แห่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,141,500 บาท
คลื่นลูกใหม่ทยอยไล่คลื่นลูกเก่าคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันควรศึกษาและเรียนรู้จากคนหนุ่มสาวในอดีตการพัฒนาสังคมชนบทมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติที่นิสิตค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องมีความศรัทธาและยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงและประชาชนมีความเจริญผาสุก
……………………………….
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”