เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และเพชรบุรี เมื่อเดือน พ.ย.12 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นนาข้าว พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงความเสียหายที่เกิดกับอาคารบ้านเรือน ถนนหนทางถูกตัดขาด
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยถึงความเดือดร้อนของราษฎร ได้เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งทอดพระเนตรสำรวจสภาพการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5 พ.ย.12 พร้อมพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เป็นองค์กรที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดมหาวาตภัยและอุทกภัยที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2505 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎร ที่ประสบภัยธรรมชาติในครั้งนั้น กรณี ที่เกิดอุทกภัยใน 3 จังหวัด ภาคกลางครั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือราษฎรร่วมกับหน่วยบรรเทาสาธารณภัย สภากาชาดไทย และจังหวัดที่ประสบอุทกภัย
ต่อมามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อขอกำลังของนิสิตเข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กลุ่มนิสิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ดังกล่าว
หลังการได้รับมอบหมายภารกิจจากมหาวิทยาลัย กลุ่มนิสิตอาสาสมัครซึ่งมีนายระลึก หลีกภัย นิสิตปี 3 คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฯ ในขณะนั้น ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการกลุ่มนิสิตอาสาสมัครทันที เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์ ในทิศทางเดียวกัน มีการวางแผนและกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน สำหรับตนในฐานะประธานกลุ่มฯ มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัย และมอบหมายให้ นายจงรัก วณิชาชีวะ นิสิตปี 3 คณะเกษตรซึ่งเป็นรองประธานกลุ่มฯ ในขณะนั้น ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการตามแผนงานและแนวทางการทำงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลุ่มฯ
การดำเนินการตามแผนงานของกลุ่มนิสิตอาสาสมัคร เริ่มจากประกาศรับนิสิตทั่วมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นปี 1-4 เข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ปรากฏว่านิสิตมีความตื่นตัวและสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมากเกินกว่าความต้องการตามแผนงาน นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นนิสิตกลุ่มอาสาสมัคร และอีกส่วนหนึ่งเป็นนิสิตทั่วไป มีการแบ่งกลุ่มการทำงานออกเป็น 6 สาย จังหวัดละ 2 สาย สายละ 30 คน รวม 3 จังหวัด 180 คน นอกจากนี้ยังมีนิสิต 5-6 คน ในแต่ละสายทำหน้าที่ดูแลจัดการด้านอาหาร รวมจำนวนนิสิตทั้งสิ้นราว 210 คน
ก่อนออกเดินทางเข้าสู่พื้นที่ประสบอุทกภัยมีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ซ่อมแซมหรือสร้างที่พักชั่วคราว ส่วนใหญ่จะเป็นสังกะสี เครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์การเกษตร ปุ๋ยสำหรับปลูกพืช รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม และอุปกรณ์ครัว อีกทั้งยังมีสิ่งของที่ได้รับจากการบริจาคสำหรับผู้ประสบอุทกภัย โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้จัดเตรียมไว้ให้
การปฏิบัติภารกิจของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เดินทางออกจากมหาวิทยาลัยในตอนเย็นของวันศุกร์และเดินทางกลับมหาวิทยาลัยในตอนเย็นวันอาทิตย์ การลงพื้นที่ประสบอุทกภัยครั้งที่ 1 วันที่ 21 -23 พ.ย.12 ครั้งที่ 2 วันที่ 28-30 พ.ย.12 ครั้งที่3 วันที่ 4-6 ธ.ค.12 ครั้งที่ 4 วันที่ 11-13 ธ.ค.12
สิ่งไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นแก่นิสิตซึ่งอยู่ในระหว่างการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานจากการลงพื้นที่เกิดอุทกภัยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ย. 12 และวางแผนเตรียมงานที่จะลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย. 12 บนเวทีหอประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงพลบค่ำของวันที่ 27 พ.ย.12 คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งมายังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีหมายกำหนดการแจ้งล่วงหน้า ขณะที่นิสิตกำลังประชุมอยู่นั้น พระองค์เสด็จฯ เข้าสู่ภายในหอประชุมใหญ่ และเสด็จขึ้นเวทีหอประชุมใหญ่ นิสิตที่กำลังประชุมอยู่บนเวทีไม่ทราบการเสด็จฯ มาถึงของพระองค์ นิสิตที่กำลังยืนกล่าวทำความเข้าใจกับนิสิตบนเวที เพื่อเตรียมการลงพื้นที่เกิดอุทกภัยในวันรุ่งขึ้นพลันทรุดฮวบลงกับพื้นเวทีอย่างกะทันหันด้วยความตื่นตะลึง นิสิตที่นั่งฟังการประชุมต่างเข้าใจว่านิสิตผู้นั้นมีอาการไม่สบายปัจจุบันทันด่วน ส่วนนิสิตที่นั่งอยู่แถวหลังต่างหันกายตามเสียงฝีพระบาทของพระองค์ที่เสด็จฯ มาประทับยืนอยู่บริเวณกลางเวที เมื่อนิสิตทั้งหลายทราบว่าเป็นพระองค์เสด็จฯ มา ต่างทรุดตัวลงนั่งกับพื้นเวทีพร้อมกับการก้มลงกราบ
นายศิริ ชมชาญ นิสิตกลุ่มอาสาสมัคร ชั้นปี 2 คณะเกษตร (อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ) ได้กล่าวย้อนหลังถึงอดีตที่ล่วง ผ่านมาแล้วถึง 52 ปี ว่า บรรยากาศและ ความรู้สึกในวินาทีนั้นตกอยู่ในสภาวะคล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่นเหมือนฝันไป ไม่มีสรรพเสียงสำเนียงใดๆ เงียบสนิท ทุกคนพูดไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก พระองค์ทรงทราบว่านิสิตจะไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจึงทรงมีรับสั่งถึงความรู้สึกเป็นห่วงลูกๆ ขอให้เดินทางไปและกลับโดยปลอดภัย พร้อมกับ ทรงนำวิทยุสื่อสารวอล์คกี้ ทอล์คกี้ มาทดลอง ส่งผ่านเสาวิทยุที่มีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งไว้แล้วบนหลังคาด้านหลังหอประชุมใหญ่ เพื่อส่งคลื่นวิทยุไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพื่อถ่ายทอดเสียงการทรงดนตรีร่วมกับวง อส. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ย.12 ให้นิสิตที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือในพื้นที่เกิดอุทกภัยได้ฟัง และจะได้กราบบังคมทูลถวายรายงานกลับมายังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากที่พระองค์ทรงทดลองระบบการถ่ายทอดวิทยุสื่อสารแล้วจึงเสด็จฯ กลับ
ในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 29 พ.ย.12 หลังการรับประทานอาหารกันแล้ว นิสิตที่ออกปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคกลางต่างพากันรวมตัวอยู่ใกล้กับรถวิทยุสื่อสารเพื่อรอรับฟังการส่งสัญญาณในวันทรงดนตรีจากหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้ว่าจะมีปัญหาการรบกวนสัญญาณวิทยุสื่อสารอยู่บ้าง แต่ก็ยังได้ยินเสียงการบรรเลงดนตรีเป็นช่วงๆ และมีการกราบบังคมทูลถวายรายงานถึงการปฏิบัติงานของนิสิต หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับรายงานจากนิสิตในพื้นที่แล้วก็ทรงมีความสบายพระทัยกับการปฏิบัติงานของนิสิตที่ไม่มีปัญหาและอุปสรรคอะไรมากมาย
ความบางตอนของ พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในโอกาสวันทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2512 ความว่า “…เพื่อน ๆ จำนวนกว่าสองร้อยคนไปฏิบัติการอยู่ในจังหวัดที่น้ำท่วม และเมื่อวานซืนนี้มารับอบรมหรือชี้แจงในหอประชุมนี้ และเมื่อวานนี้ก็ออกเดินทางไป เมื่อวานนี้ไปถึงก็เข้าปฏิบัติการเลยทีเดียว ซึ่งก็ได้รับข่าวการปฏิบัติมาโดยตรง มีอยู่ในแฟ้มนี่เหมือนกัน และวันนี้ก็กำลังปฏิบัติอยู่ด้วยความเข้มแข็งที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมมือกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์และสภากาชาดไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทหาร ตำรวจ พลเรือน ได้ช่วยกันบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบอุทกภัย วิธีการที่นิสิตเกษตรศาสตร์ได้ออกไปปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมนั้นป็นการดีที่สุด ก็เมื่อวานซืนนี้ได้มาชมเชยเขา และบอกเขาว่าตัวผู้ที่ออกไปนั้นจะได้กำไรเองเพราะจะได้ความพอใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และจะได้ความรู้แก่ตัวเอง เพราะว่าได้ออกไปปฏิบัติในท้องที่ในที่ที่เขาต้องการจริง ๆ ในสภาพที่เป็นจริง ถ้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็อาจเรียนเป็นทฤษฎีหรือแม้แต่ในการปฏิบัติก็ปฏิบัติตามปกติ คือนำเอาทฤษฎีมาปฏิบัติ และถ้าหากว่าการปฏิบัตินั้นเกิดมีความบกพร่องบ้าง ก็หาทางแก้ไขด้วยทฤษฎี ที่ออกไปคราวนี้การปฏิบัติไม่ใช่ตามทฤษฎีแท้ เพราะว่าไปอยู่ในที่ที่สถานการณ์ผิดปกติคือ ถูกอุทกภัยและคราวนี้อุทกภัยเป็นอุทกภัยที่นับว่าร้ายแรงพอใช้และเป็นอุทกภัยที่มีขึ้นเพียง 50 ปีต่อครั้งหนึ่ง ประชาชนทั้งหลายที่อยู่ในบริเวณแถวนั้นจึงไม่ทราบว่าจะป้องกันตัวอย่างไร เมื่อน้ำพัดไปแล้วก็ต้องพยายามสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ฉะนั้นการที่นิสิตออกไปปฏิบัติการก็เป็นการช่วยให้เขาสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าแย่ที่สุด ลำบากที่สุด การที่ปฏิบัติในคราวนี้ เมื่อวานนี้และวันนี้และจะปฏิบัติอีกพรุ่งนี้ ก็มีการช่วยซ่อมสร้างทาง ซ่อมบ้าน และอธิบายวิธีปลูกพืชต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านเหล่านั้นมีความรู้เพิ่มขึ้นและให้สามารถที่จะตั้งตัวได้ การปฏิบัติจึงเป็นการปฏิบัติที่กว้างขวาง และผู้ที่ได้ปฏิบัติจะได้รับความรู้อย่างยิ่งเพราะว่าเป็นชีวิตจริงดังนี้ วิธีออกไปช่วย ไปทำ ของเหล่านิสิต เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด และเป็นดำริที่ดีที่สุด เป็นที่น่าชื่นชมที่สุด… ขอให้ทุกคนที่ได้พยายามปฏิบัติการบำเพ็ญประโยชน์ ประพฤติตนให้ดี ขอให้ทุกคนจงประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการ”
เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคกลาง และทรงมีพระเมตตาแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยสภากาชาดไทยและจังหวัดที่เกิดอุทกภัย นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาของพระองค์ตลอดไป
……………………………….
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”