ขอแสดงความยินดีและต้อนรับ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชนะใจคนเมืองหลวงได้รับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ในรอบ 9 ปีสำเร็จ แถมชนะขาดแบบ “แลนด์สไลด์” คะแนนมากสุด นับแต่เคยมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มา สมกับที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเดินย่ำเท้าเก็บข้อมูลมานานกว่า 2 ปี นับว่าไม่สูญเปล่า ครั้งนี้ วาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” สิ้นมนต์ขลัง แป้กสนิท ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เป็นที่คาดหวังของคนเมืองหลวงมากมาย จากสภาพที่ทรุดโทรมทั้งทางสุขภาพและกายภาพ ไม่มีเวลาให้ “ฮันนีมูน” เมื่อไหร่เหยียบศาลาว่าการ กทม. เมื่อนั้นคือเสียงระฆังบอกว่า ทำงาน ทำงาน และทำงาน ใน 100 วันแรกต้องมีผลงานให้จับต้องได้?!?

อย่างที่รู้ เลือกตั้งหนนี้มีเลือก ส.ก.ด้วยเป็นหนแรก ส.ก.คือมือที่จะไปหนุนหรือค้านนโยบายของผู้ว่าฯ ในสภา กทม. ถ้าไปกันคนละทาง ผู้ว่าฯ ก็เหนื่อย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีฐาน ส.ก. ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ดร.ชัชชาติ รู้ตัว จึงบอกว่า สิ่งแรกที่จะทำคือ โทรฯ ไปแสดงความยินดีกับ ส.ก.ทุกคน “ผมจะส่งนโยบายของผมไปให้ ส.ก.ทุกท่านดูพร้อมกับฟังนโยบายรายเขต ผมไม่มีพรรค มีแต่ ส.ก.ที่ประชาชนเลือกมา เชื่อว่าจะเป็นผู้นำความหวังและความสามัคคีให้คนมาร่วมทำงานให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้”

พูดราวกับวิ่งอยู่ใน “ทุ่งลาเวนเดอร์” แต่เอาจริง ๆ บุคลิกของคนนี้ก็ไม่ชอบท้าตีท้าต่อย ปากดี แซะไปทั่ว แต่เก่งในการรับฟังและแสวงหาความร่วมมือ เป็นจุดแข็งที่ดี และต้องรู้ โลกยุคดิจิทัล ใครหาเสียงอะไรไว้ ขุดได้หมด “200 เรื่องที่ต้องทำ” แสดงถึงปัญหาที่หมักหมมมานาน

กรุงเทพฯ มีคนเป็นสิบล้าน เป็นเมืองใหญ่ของโลก ใหญ่เท่าสิงคโปร์ ทำให้เจริญก้าวหน้า สะอาด สะดวกสบาย น่าอยู่เท่าเขา ก็เจ๋งแล้ว

คีย์เวิร์ดหลักของ ดร.ชัชชาติ คือ “จะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก ถ้าตั้งใจทำ แบบไม่ได้ขายฝัน เช่น ปัญหาจราจร กทม.ไม่ควรทำรถไฟฟ้า เพราะต้องลงทุนขนาดใหญ่และเครือข่ายอยู่กับ รฟม.หมด ควรยกให้ รฟม.ทำเลย ตัดปัญหา “ค่าแรกเข้า” ที่ทำให้ค่ารถไฟฟ้าแพงเกินเหตุ เช่นจาก บีทีเอส (กทม.) ไปใต้ดิน (รฟม.) ไปสายสีแดง (การรถไฟ) มี 3 เจ้าของ ค่ารถจึง 302 บาท (เกินค่าแรงขั้นต่ำ) กทม.ควรทำรถเมล์สายย่อย เปลี่ยนสายใน 2 ชม.ไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม

ขณะที่เลนจักรยานในถนน เคยลองขี่จากบ้านสุขุมวิท ผลคือล้อติดท่อ (เจ้าของฝาท่อมีหลายเจ้ามาก เฮ้อ) หัวทิ่มเลย ทางวิ่งจักรยานจึงยาก กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่คนตกท่อ เรื่องเล็ก แต่ใหญ่อีกเรื่อง กทม.มี 15 สำนัก 50 เขต แต่งบประมาณลงไปที่สำนักเป็นหลัก ขณะที่กรุงเทพฯ มีถึง 1,600 ชุมชน ตั้งแต่แรงงานไปถึงมหาเศรษฐี สุขุมวิท แหล่งคนรวยยังมีถึง 4 ชุมชน คนค้าขาย รถผลไม้ ลูกชิ้นปิ้ง แผงลอย ตึกใหญ่แบ่งพื้นที่ว่างระหว่างตึกได้ จุดผ่อนผัน 700 กว่าแห่งที่ยุบเหลือร้อยกว่า จะรีวิวอีกครั้ง ไม่มีเทศกิจนอกแถวรีดไถ (พูดง่าย ทำยาก) ต้องให้เงินลงไปเขตมากขึ้น แทนไปกองที่สำนัก ประชาชนประเมินการทำงานของ ผอ.เขตได้ เพื่อกระตุ้นการทำงาน

ยังมีปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 รถติด น้ำท่วม น้ำรอระบายชาติหน้า แบตฯ หมด กุญแจหาย ตัวเงินตัวทองขวาง ไฟดับ ถนนมืดฟุตปาธพังพินาศ ขาดสวนหย่อม เมืองที่เครียดจนคนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก

ตอนเกิดโควิด พิสูจน์ได้ว่า ระบบสาธารณสุขของ กทม.ห่วยแตก ที่คิดว่าคนเมืองหลวงมีโรงพยาบาลแยะ จึงแค่ภาพลวงตา 50 โรงพยาบาล 50 เขต ที่ ส.ก.พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ผู้ว่าฯ กทม.ควรทำให้สำเร็จจริง ๆ ใน 4 ปี ฝากไว้เป็นงานชิ้นโบแดง

สุดท้าย ฝากอีกเรื่อง แม้ ดร.ชัชชาติ ไม่ได้พูดถึง แต่เป็นเรื่องสำคัญ บ่งบอกถึงความเป็น “เสรีประชาธิปไตย” อย่างมาก สานต่อ คืนสนามหลวงให้คนกรุงเทพฯ ตามที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากก้าวไกล หาเสียงไว้ ในเมื่อใช้ภาษีประชาชนมาดูแล ก็ควรเป็นสนามของประชาชนทุกคนด้วย

รัฐยึดไว้นานเกินไปแล้ว มันไม่ยุติธรรมเลย

————————
ดาวประกายพรึก