ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้วกับมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งชิงชัยโรมรันกันระหว่างวันที่ 12-23 พ.ค.ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า “เจ้าภาพ” เวียดนาม ผงาดครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง ไปตามความคาดหมาย คว้าไปทั้งสิ้น 205 เหรียญทอง 125 เหรียญเงิน 116 เหรียญทองแดง ซึ่งเหรียญทองของเวียดนาม ถือว่าทำได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ซีเกมส์อีกด้วย

ส่วน “ทัพนักกีฬาไทย” ตามมาเป็นอันดับ 2 ตัวเลขอยู่ที่ 92 เหรียญทอง 102 เหรียญเงิน 138 เหรียญทองแดง ส่วนอันดับ 3 อินโดนีเซีย 69 เหรียญทอง 91 เหรียญเงิน 81 เหรียญทองแดง

ถามว่า ทำไมเวียดนามถึงโกยเหรียญทองได้มากจังเลย ทะลุไปถึง 200 เหรียญทอง??? แล้วทำไมนักกีฬาไทย ถึงทำผลงานไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ แบบนี้ล้มเหลวหรือไม่???

ก่อนอื่นต้องมาวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นกันก่อนว่า “ซีเกมส์ 2021” หนนี้ ชาติเจ้าภาพ จัดชิงชัย 41 ชนิดกีฬา รวม 525 เหรียญทอง นั้น ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เจ้าภาพกวาดเหรียญเป็นกอบเป็นก็คือ

การเลือกบรรจุชนิดกีฬา ที่เป็น “กีฬาพื้นบ้าน” เข้ามาชิงเหรียญทอง เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในหลายๆ ชนิดกีฬา มี “การจำกัดรุ่น” อีกด้วย อธิบายง่ายๆ ก็คือ หากกีฬานั้นๆ มีแข่งขัน 10 รายการ เจ้าภาพ สามารถส่งนักกีฬาได้เต็มที่ทุกรายการ ส่วนชาติคู่แข่งสามารถส่งได้ไม่เต็มจำนวน เต็มที่อาจจะ 6-7 รายการ เท่านั้น

เหตุผลต่อมาการเลือกจัดแข่งขัน “กีฬาต่อสู้” ที่นักกีฬาไทย ไม่มีความเก่งกาจ ไว้เป็นจำนวนมาก และแต่ละกีฬาก็มีการชิงเหรียญทองที่เยอะมากเกินพิกัดรวมๆ แล้วเกินกว่า 120 เหรียญ

ลองดูผลงานของนักกีฬาเวียดนาม ในกีฬาต่อสู้ ยูโด ได้มา 9 ทอง จาก 15 ทอง, ยูยิตสู 2 ทอง จาก 5 ทอง, คาราเต้ 7 ทอง จาก 15 ทอง, คิกบ็อกซิ่ง 5 ทอง จาก 11 ทอง, คูราช 7 ทอง จาก 17 ทอง, มวยไทย 4 ทอง จาก 11 ทอง (ไทย ต้นตำรับยังได้แค่ 3 ทอง), ปันจักสีลัต 6 ทอง จาก 13 ทอง, เทควันโด 9 ทอง จาก 17 ทอง (เหรียญทองส่วนใหญ่จะมาจากประเภทท่ารำ ซึ่งตัดสินด้วยสายตา), โววีนั่ม 6 ทอง จาก 14 ทอง, วูซู 10 ทอง จาก 20 ทอง และ มวยปล้ำ 17 ทอง จากทั้งหมด 18 ทอง เป็นต้น เพิ่มเติมอีกชนิดกีฬาก็คือ “ฟินสวิมมิ่ง” หรือ ว่ายน้ำใส่ตีนกบ เวียดนาม ก็กวาดมาได้ถึง 10 ทอง จากทั้งหมด 18 ทอง ที่มีชิงชัย

อย่างที่บอกว่า “กีฬาต่อสู้” เป็นกีฬาที่ตัดสินด้วยสายตา หากรอบชิงชนะเลิศ ใครก็ตามต้องเจอกับนักกีฬาเจ้าภาพ ย่อมเสียเปรียบทุกประตู เพราะถ้าออกอาวุธสูสี โอกาสที่จะเป็นผู้ชนะแทบจะเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้ เรื่องนี้นักกีฬาและโค้ชรู้กันดี

นอกจากเรื่องของ “กรรมการ” แล้ว “เสียงเชียร์” จากแฟนกีฬาเจ้าถิ่น ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพราะบางครั้ง “กรรมการ” ก็มักจะเทคะแนนตามเสียงเชียร์เช่นกัน

ทีนี้มามองดูฝั่ง “ทัพไทย” กันบ้าง จากข้อมูลของ “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้ว่าหากนับเฉพาะในส่วนของกีฬาสากล ซีเกมส์ครั้งนี้ “ทัพไทย” ทำไปได้ 64 ทอง จากยอดเหรียญรวมที่ทำไป 92 ทอง เป็นอันดับ 2

ซึ่งจำนวนเหรียญกีฬาสากล ถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ คือ 72 ทอง ขณะที่ เจ้าภาพเวียดนาม เป็นอันดับ 1 ทั้งกีฬาสากล ทำไป 100 ทอง และยอดเหรียญรวมได้ไป 205 ทอง

ผู้ว่าก้องศักด บอกว่าสำหรับ “กีฬาสากล” ในซีเกมส์ครั้งนี้ สามารถแยกออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก เป็นกีฬา ที่นับคะแนนและทำสถิติ ซึ่งทั้ง แบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส, เทนนิส และมวยสากล ต่างทำได้ดี ทำได้กีฬาละ 4 ทอง ขณะที่ กรีฑา, ยิมนาสติก และว่ายน้ำ ที่พัฒนาได้ดีเช่นกัน

“อีกส่วนเป็นกีฬาที่ตัดสินด้วยสายตา และมีการแบ่งรุ่นน้ำหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่แตกต่างจากส่วนแรกมาก ทั้งการตัดสินที่ไม่แน่นอนและจำนวนรุ่นที่บางครั้งไม่ตรงกับในโอลิมปิกเกมส์ ก็มี ดังนั้นการทำได้ขนาดนี้ถือว่าน่าพอใจ” บิ๊กก้อง ย้ำ

ผลงานของนักกีฬาไทย ในซีเกมส์ 2021 อาจจะไม่ตรงตามเป้าหมายที่ประเมินกันเอาไว้ก่อนมาแข่งขัน แต่นักกีฬาไทย ก็ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และตัวเลขเหรียญทองที่ได้มาก็ถือว่า “ไม่ขี้เหร่” แต่อย่างใด

“ซีเกมส์” คือ กีฬาแห่งมิตรภาพของชาวภูมิภาคอาเซียน ใครเป็นเจ้าภาพก็ย่อมจะทำให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุด โดยเฉพาะกับการบรรจุและชิงเหรียญทองในกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาต่อสู้ ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสถิติเหรียญทอง ที่ “เจ้าภาพ” เวียดนาม ได้มาในซีเกมส์ครั้งนี้ก็บ่งบอกชัดเจนอยู่แล้ว

ถามว่าเป็นไปได้มั๊ย ที่ในอนาคตศึกซีเกมส์ จะเน้นแต่เฉพาะกีฬาสากล ที่มีแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ หรือ เอเชี่ยนเกมส์ เป็นหลัก เรื่องนี้ ประเทศไทย เองได้แสดงจุดยืนและพยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ผล!!

ล่าสุด ผู้บริหารองค์กรกีฬาของไทย ทั้งจากการกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ก็เตรียมเดินหน้าเรื่องนี้ พร้อมวางเป็น “วาระแห่งชาติ” เลยก็ว่าได้ โดยเตรียมผนึกกำลังจากประเทศที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่าง มาเลเซีย และ สิงคโปร์ เดินหน้าอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ และขั้นตอนในการโหวตเลือกชนิดกีฬา ก็ยังขึ้นอยู่กับ “มนตรีซีเกมส์” ของทั้ง 11 ประเทศ อีกด้วย ซึ่งการต่อรองการบรรจุชนิดกีฬา ย่อมคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติตัวเองเป็นหลัก

ประเทศไทย ได้คิวเป็นเจ้าภาพจัดศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2025 ก็ต้องมารอดูกันว่าเราเองที่ร้องเย้วๆๆ ว่าจะต้องเป็น “ต้นแบบ” จัดแต่ “กีฬาสากล” เป็นหลัก เพื่อยกระดับมาตรฐานนักกีฬาก้าวไปสู่ระดับโลกให้ได้นั้น

เราจะทำได้มากน้อยเพียงใด และจะทำได้ดีดั่งที่พูดไว้หรือไม่!!!

## ศรีเชลียง ##