@ เริ่มต้นที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่มีการระบาดของ “โควิด-19” รุนแรงที่สุดในภาคใต้ มีคนติดเชื้อวันละ 200 กว่าคน มีคนตายวันละ 6-7 คน ซึ่งหากการป้องกัน ยังเป็นแบบเดิมคือ ปิดหมู่บ้าน ให้คนป่วย กักตัวในบ้าน ให้ รพ.สต.ผู้นำท้องที่ รับผิดชอบ เชื่อว่าการระบาดยังแพร่กระจาย และจำนวนคนตายจะมากขึ้น.. 1. เพราะคนติดเชื้อ และคนในชุมชน ยังมีอยู่มากที่ไม่ทำตามกติกาของสังคม  2. ผู้สูงอายุที่มีสุขอนามัยไม่ดีมีอยู่เป็นจำนวนมาก 3. คนจำนวนมากยังมีการกิน อยู่ พบปะกันแบบเดิมๆ จนนำเชื้อกระจายในในครอบครัว…ก็เห็นใจ ราชิต พุ่มสุด ผวจ.และ ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ที่พยายามแล้วอย่างเต็มที่ แต่การป่วย และตาย ไม่ลดลง เพราะพื้นที่ 3 จังหวัด ไม่เหมือนพื้นที่อื่นในโครงสร้าง สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อเรื่อง ศาสนา การแก้ปัญหาโดยการบังคับใช้กฎหมายจึงไม่เป็นผล ใครที่ไม่เคยทำงานในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่รู้ถึงความ “ยากเย็น” กับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่…

@ ซึ่งไม่แตกต่างกับในพื้นที่ จ.ยะลา ที่  ชัยสิทธิ์ พานิชพงษ์ ผวจ. ยังต้องออกคำสั่งปิดหมู่บ้านเพิ่มขึ้นทุกวัน และล่าสุดมีการปิดหมู่บ้านหลายแห่งใน อ.เบตง ซึ่งเป็น เมืองท่องเที่ยว “ใต้สุดสยาม” กันแล้ว…และ ที่ จ.นราธิวาส แม้จะมีการ “ซีล” ชายแดนอย่างเหนียวแน่น เพื่อป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ตามนโยบายของ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 จนไม่มีผู้ลักลอบเข้าเมืองหลุดรอดมาได้ แต่ยังมี “คลัสเตอร์” ใหม่ๆ เกิดขึ้น ล่าสุดเกิด “คลัสเตอร์” ในโรงงานอุตสาหกรรม “ยางไทยปักษ์ใต้” จนเป็นเหตุให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.นราธิวาส และ ไพโรจน์ จริตงาม รอง ผวจ. จึงจำต้องเหน็ดเหนื่อย แบบที่ไม่สามารถตอบได้ว่า ปัญหาทุกอย่างจะจบเมื่อไหร่….

@ และ “โควิด-19” ก็สร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ พ่อค้าคนกลาง ไม่กล้าเข้ามารับซื้อผลผลิต ทั้ง ทุเรียน, มังคุด และตามมาด้วย ลองกอง เพราะกลัวการติดเชื้อ และไม่สะดวกกับการเข้าพื้นที่เพราะมาตรการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ของ ศบค. ในพื้นที่ แต่ยังโชคดีที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบริษัทของนักลงทุนจากประเทศจีน “หม่านกู่หว่านฟู้ด” ที่ อยู่ใน อ.เทพา จ.สงขลา ยังประกาศรับซื้อทุเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง และ พ่อค้าในท้องถิ่น ยังกดราคาโดยอ้างปัญหาของ “โควิด-19” ซึ่ง ขณะนี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เตรียมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรและการพาณิชย์ เพื่อวางมาตรการในการรับมือกับผลผลิตที่เริ่มออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ “ซ้ำรอย” กับที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุด นำมังคุดไปเททิ้งกลางถนนเพื่อเป็นการประชดที่พ่อค้าคนกลาง กดราคารับซื้อเหลือ กิโลกรัมละ 5-8 บาท และประชดหน่วยงานราชการที่ไม่มี “น้ำยา” ในการช่วยเกษตรกรทั้งที่รู้ล่วงหน้าว่าปัญหาต้องเกิด ราคานี้อย่าว่าแต่กำไรเลย ค่าปุ๋ยกับค่าจ้างเก็บก็ไม่คุ้มแล้วนี่คือความ “เสดสา” ของอาชีพการเป็นเกษตรกรในภาคใต้ …

@ เรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวใต้ ครั้งนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป., รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค แล รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คงไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าตามสโลแกนที่ว่า “เกษตรผลิต พาณิชย์ขาย” จึงปล่อยให้ราคามังคุดตกต่ำจนต้อง “เททิ้ง” หลังเกิดปัญหาจึง “กุลีกุจอ” หาทางแก้ไข…เช่นเดียวกับราคายางพารา ที่ ขณะนี้ตกต่ำเหลือ กิโลกรัมละ 41 บาท ทั้งที่ผลผลิตยางก็ไม่ได้ออกสู่ตลาดมากนัก เพราะมีฝนตกเป็นระยะๆ สุดท้ายจึงต้องใช้ เงินภาษี ของคนทั้งประเทศ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการประกันราคา วิธีการนี้เขาไม่เรียกว่าทำงานด้วย “กึ๋น” เพราะใครๆ ก็ทำได้…และที่ชวนสงสัยคือ หลายหน่วยงาน หลายกระทรวง มีการขานรับนโยบายของ รัฐบาล ด้วยการนำยางพาราไปใช้ในการผลิตสิ่งของ “โน้น, นั่น, นี่” ยิ่งทำมาก ราคายางแผ่น น้ำยางสด จึงยังอยู่ใน “วงจร” เดิมๆ ขึ้นนิดหน่อย แล้วก็ตกลงมา เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สงสัยบ้างหรือว่า ในวงการนายทุนผู้ค้ายาง มีอะไร “ซุกซ่อน” อยู่ เพราะนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ที่หวังจะทำให้ยางพารา มีราคาดี ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่เรื่องเดียว ….

@ ยิ่ง “โควิด-19” ระบาดมากเท่าไหร่ วงการค้ายาเสพติด ยิ่งคึกคักมากยิ่งขึ้น วันนี้ “ยาม้า” ราคาตกต่ำเพราะกำลังซื้อไม่มี  เด็กเดินยาขายปลีก เม็ดละ 25-30 บาท ส่วน “น้ำกระท่อม” ขวดละ 15-20 บาท  อีกไม่นาน “พืชกระท่อม” จะถูก “ปลดล็อก” ให้พ้นการเป็น “พืชเสพติด” นั่นหมายความว่าต่อไปในอนาคต การนำเข้า ใบกระท่อม จากมาเลเซีย คนค้า ก็ไม่ต้อง “จ่ายส่วย” ให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ต้อง ลักลอบโยนข้ามกำแพงกั้นเขตแดน และก็จะเป็น สินค้านำเข้า จากประเทศมาเลเซีย ที่ขึ้นหน้าขึ้นตา เพื่อนำไป ผลิตเป็นยาเสพติด 4 คูณ 100 ที่กลายเป็นเครื่องดื่ม ประจำตู้เย็นของคนในภาคใต้ไปแล้ว …ปัญหาคือส่วนผสมที่สำคัญของ “4 คูณ 100” ได้แก่ “ยาน้ำแก้ไอ” ที่ มีการขายกัน เกลื่อนกลาด ในตลาด ในร้ายขายยา ถ้าวันนี้ อนุทิน ชาญวีรกุล “หมอหนู” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่แก้ปัญหาในเรื่อง “ยาแก้ไอ” ทั้งที่มีกฎหมาย ในการควบคุม อนาคต ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นเยี่ยงไร โดยเฉพาะ “เยาวชน” ที่บอกว่า เป็นกำลังของชาติ ที่กลายเป็นคนเสพติดน้ำกระท่อมกันทั้งบ้านทั้งเมือง ….และที่สำคัญ ที่ทำให้มีการขายยาแก้ไอ ทั้งที่มีกฎหมายควบคุม แต่ไม่มีการ จับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย เพราะ ผู้ขาย “จ่ายส่วย” ให้กับ เจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ การค้ายาแก้ไอ มีการทำอย่างเป็น ขบวนการ มีผู้รับผลประโยชน์มาเอี่ยวอื้อ….

@ เป็นที่น่าสังเกตสำหรับ ตำรวจ จ.สงขลา ในยุคที่ พล.ต.ต.อาซาน จันทร์ศิริ เป็น ผบก. งานการจับกุมอบายมุข และการ มั่วสุม ตั้งวงเล่นการพนัน บ่อนไก่ และจัด ปาร์ตี้ ในรีสอร์ท ในโรงแรม กลายเป็นงานของฝ่ายปกครอง ผลงานของตำรวจ แทบจะไม่ปรากฏให้เห็น แม้แต่การจับกุม ผับ บาร์ ที่เปิดเกินเวลา ก่อนที่จะมีการระบาดของ โควิดรอบที่ 4 ก็กลายเป็นงานของ “นายอำเภอ” ที่ใช้กำลัง อส.ในการจับกุม ชาวบ้านร้านช่อง สงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ตำรวจสงขลา เพราะเห็นเหลืออยู่งานเดียวที่ตำรวจขยันยิ่งนัก นั่นคือการ “ตั้งด่านลอย” จับ ใบขับขี่ และ หมวกกันน็อก…

@ ทุกข์ของชาวบ้าน เขตเทศบาลเมืองสิงหนคร จ.สงขลา ที่น้ำประปาของที่นั้น ไหลแบบ “กะปริดกะปรอย” เป็นมาอย่างนี้ตั้งแต่มีการ “ตั้งเมือง” ร้องทุกข์ก็แล้ว ร้องเรียนก็แล้ว ก็ไม่มีการแก้ไข เที่ยวนี้ เทศบาลสิงหนคร ได้ กอง จันทร์สว่าง นักการเมือง หนุ่มแน่น เป็น นายกเทศมนตรี ฝากเรื่องความทุกข์ของชาวบ้านเรื่อง น้ำประปา ให้เป็น งานด่วน ในการแก้ไขด้วย….น่าเห็นใจกับทั้ง คนขาย และ คนซื้อ เมื่อมีการสั่งปิดตลาด เพื่อป้องกัน “โควิด” จาก ศบค.จังหวัด “กลุ่มแม่ค้า” ก็ยึดเอา ริมถนนหลวง เป็นที่ตั้งแผงขายของ คนซื้อก็แห่กันไป ซื้อ-ขาย กัน “จ้าละหวั่น” โดยเฉพาะในเวลาก่อนใกล้ 21.00 น. ที่เป็นเวลาลา “เคอร์ฟิว” ถามว่าการ ปิดตลาด โดยให้ ผู้ซื้อและผู้ขาย ใช้ริมถนนเป็นตลาด ป้องกันการ “แพร่เชื้อ” ได้จริงหรือ ไม่เชื่อ จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา พ่อเมืองสงขลา ไปดู “ของจริง” ที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน ….ก็ได้แต่หวังว่า วัคซีน ที่ ไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา และ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่จะมาถึงในเดือน สิงหาคม นี้ จะทำให้ ปริมาณของผู้ได้วัคซีนเพิ่มมากขึ้น จนสามารถที่จะเปิดตลาดทุกแห่งได้โดยไม่ต้องกังวล เพราะตลาดสด คือที่ “ทำมาหากิน” ของชาวบ้าน ทั้งคนขาย และคนซื้อ เขาฝาก “หม้อข้าว” ไว้ที่นั่น ….

@ เช่นเดียวกับ เทศบาลนครยะลา ที่มีการหวาดผวา เพราะมีข่าวว่ามีการระบาดอย่างรุนแรงในเขตเทศบาล โดยเฉพาะย่านตลาดเก่า หวังว่า “วัคซีนซิโนฟาร์ม” ที่จะได้มา พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครยะลา จะสามารถ บริหารจัดการ เพื่อให้คนในพื้นที่มีความมั่นใจมากขึ้น…..ส่วน ท้องถิ่น อย่าง อบจ.ปัตตานี ที่มี เศรษฐ์ อัลยุฟรี เป็น นายก ซึ่งไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อ วัคซีน มาฉีดให้กับประชาชน ก็ต้องรอวัคซีนจากรัฐบาลที่ระหว่างรอ ก็ต้องใช้วิธีการทำความเข้าใจกับ ประชาชน ให้ป้องกันตนเอง และ คนในครอบครัวให้ดีที่สุด…. หลังจากที่ตั้ง “การ์ดสูง” รักษาความเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดในภาคใต้มานาน จ.พัทลุง ก็หนีไม่พ้น “ชะตากรรม” เมื่อมี “คลัสเตอร์” ใหม่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จนสุดท้าย กู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ต้องตั้งโรงพยาบาลสนามในค่าย อภัยบริรักษ์ กองพันทหารช่าง จ.พัทลุง เพื่อใช้เป็นที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว….

@ ช่วยกันในยามทุกข์ยาก พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ผบ.มทบ.41 ส่งกำลังพลเข้าไปช่วย “ล้ง” เพื่อคัดแยกมังคุด เพราะการขาดแคลนแรงงาน ทำให้การรับซื้อมาปัญหาส่งผลให้ชาวสวนขายผลผลิตไม่ได้…เช่นเดียวกับ พ.อ.สุรเทพ หนูแก้ว รอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดชุมพร ที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทำตามนโนบายของ ผอ.ศบค.จังหวัด และการป้องกันแรงงานเถื่อน คนเถื่อน ที่ยังมีความพยายามในการ หลบหนีเข้าเมือง เพราะ “ชุมพร” เป็นเมือง “หน้าด่าน” ของภาคใต้ จึงต้องมีการป้องกันอย่างเข้มแข็ง….

@ เรื่องหมาๆ ที่อาจจะไม่หมา คดีคนเมายาบ้าใช้อาวุธทำร้าย “น้องหมา” และขู่ฆ่าเจ้าของบ้าน เจ้าทุกข์ไปแจ้งความร้อยเวรไม่รับแจ้ง ไม่ไปตรวจที่เกิดเหตุแค่ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานผ่านไปแล้ว 20 วันยังไม่มีความคืบหน้า ฝากถึง พ.ต.อ.สานิตย์ พลเพชร ผกก.สภ.เมืองตรัง จ.ตรัง ช่วยดำเนินการให้เจ้าทุกข์ด้วย เพราะเรื่อง หมาๆ ทำให้คนเสียหมามามากแล้ว ….แล้วพบกันใหม่วันศุกร์หน้าครับ  

————————————————————–

ไชยยงค์ มณีพิลึก 

เติมกำลังใจ…   พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ตรวจเยี่ยม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ตามจุดตรวจ คัดกรอง บนถนนสาย อ.รามัน-รือเสาะ ระหว่าง จ.ยะลา-นราธิวาส เพื่อเป็นการเติมเต็มกำลงใจ ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน 

ประชุมขยาย รพ.สนาม…   เจษฎา จิตรัตน์ ผวจ .นราธิวาส และ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ประชุมนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้ง 13 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส เพื่อให้นโยบายในการจัดตั้ง รพ.สนามในพื้นที่ต่างๆ อีกกว่า 700 เตียง เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับโควิด-19 

จับกุมยาเสพติด…  พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ ร่วมกับ วิชวิทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี และ พล.ต.ต.ณัฐ สิงห์อุดม รักษาการ ผบช.ตชด.ภาค 4 ณ กองร้อย ตชด.471 

เฝ้าระวัง… เรวัติ โพธิ์เรียง ผจภ.4 ( สงขลา) พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบแพขนานยนต์ ตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำ ในพื้นที่ จ.สงขลา-พัทลุง 

ร่วมด้วยช่วยกัน…  สือนะ ดีสะเอะ อุปนายกสมาคมคนพิการภาคใต้ ร่วมกับ ร.อ.ธำรงค์ รักเรืองรัตน์ ผบ.ร้อย ฉก.พท.4707 มอบอุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมบ้าน รถจักรยาน และสิ่งของอื่นๆ ให้กับครอบครัวผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่บ้านอาเส็น หมู่ 6 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา 

บิ๊กคลีนนิ่ง… ว่าที่ร้อยตรีไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา พร้อมด้วยชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว รองนายก อบจ.สงขลา นิพัฒน์ อุดมอักษร เลขาฯ นายก อบจ.สงขลา นำข้าราชการเจ้าหน้าที่ ร่วมทำความสะอาด อาคารโรงยิมเนเซียมสนามติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 

ยามทุกข์ไม่ทิ้ง…  สรรเพชญ บุญญามณี ผู้ช่วยดำเนินงาน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นำถุงยังชีพข้าวสาร อาหารแห้งและหน้ากากอนามัยมอบให้กับพี่น้องประชาชนชาวเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทุกครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 

ติดตามงาน…  พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผอ.ศปพร.ติดตามตรวจเยี่ยม ให้นโยบาย การขับเคลื่อนฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ บ้านไอร์ปาโจ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 

กำลังใจ…  พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร รอง ผอ.กิจการพิเศษ ศูนย์สันติวิธีฯ พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่ โรงพยาบาลสนามจังหวัดยะลา หมู่ที่ 7 บ้านพงกาเซาะ ต.บุดี อ.เมืองยะลา จ.ยะลา มอบขนมขบเคี้ยว จำนวนหนึ่ง ให้กับสมาชิกฯ โรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทราบว่าการบริหารจัดการรับและส่งผู้ป่วยดีมาก 

ช่วยเหลือสังคม… นูรุดดิน ดะแซสาเมาะ ผู้จัดการส่วนบริหารภาพลักษณ์องค์กรและทีมงานประชาสัมพันธ์ ร่วมให้กำลังใจและอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนรอบโรงแยกก๊าซฯ และส่วนราชการ ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มจากบริษัททีทีเอ็ม ซึ่งเป็นส่วนของกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการมอบวัคซีนจำนวน 100 โด๊ส ซึ่งฉีดเข็มแรกในวันที่ 20 ก.ค. 2564 ณ ศาลาประชาคม อ.จะนะ จ.สงขลา 

ร่วมไว้อาลัย…   สมาชิกชมรมบินหลาหาข่าว สวท.สงขลา ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม นายไพทูรย์ ศิริรักษ์ ประธานชมรมวิทยุเพื่อชุมชนคนสงขลา หรือบินหลาหาข่าว ถึงแก่กรรม ฌาปนกิจศพไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ค.64 ณ ป่าช้าเทศบาลตำบลจะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา 

ตรวจเยี่ยม… พล.ต.ต.พิชญ์วุฒิ สงวนสมบัติศิริ ผบก.ภ.จว.ปัตตานี  ตรวจเยี่ยมจุดตรวจป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ถนนสาย 42 ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้แนะนำการปฏิบัติในการคัดกรองยานพาหนะ เพื่อเข้าสู่พื้นที่การตรวจยานพาหนะและบุคคล ที่จะเข้าพื้นที่จังหวัดปัตตานี และได้มอบสิ่งของเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ 

ปลูกพืชสวนครัว…   ทนงศักดิ์ เย่าเฉื้อง นายกเทศมนตรีตำบลคลองเต็ง อ.เมืองตรัง น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยขับเคลื่อนทั้ง 9 ชุมชน ประมาณ 100 กว่าครัวเรือน โดยเทศบาลฯ ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช อุปกรณ์การปลูก

ยึดยายึดทรัพย์…    พล.ต.ต.ดุษฎี ชูสังกิจ รอง ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผบก.ภ.จว.ยะลา สันติชัย ดลรอหมาน ผู้เชี่ยวชาญ ปปส.ภ.9 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ใน จชต.ได้ผู้ต้องหาพร้อมของกลางจำนวนมากพร้อมทั้งทำการยึดทรัพย์ได้จำนวนหนึ่ง ณ ห้องประชุมชั้น 2 กองบังคับการตำรวจภูธรยะลา