ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ฝูงช้างจากอุทยานแห่งชาติฮวางเกใน บุกรุกแปลงเกษตรของครอบครัวเธอแบบคืนเว้นคืน และกินข้าวโพดที่ยังไม่โตเต็มที่ ทำให้มังกวานา คนหาเลี้ยงครอบครัว ต้องรีบหาแหล่งอาหารอื่นเพื่อประทัง 6 ชีวิตในครอบครัว ซึ่งเธอกังวลมากว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

“ฝูงช้างเข้ามาที่ไร่ของเราเป็นจำนวนมาก และเราจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้มากในฤดูนี้” เธอกล่าว “ทุก ๆ ปี เราเก็บเกี่ยวได้ไม่เยอะเพราะฝูงช้าง อีกทั้งปีนี้มีฝนตกน้อย และช้างก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำลายไร่ของพวกเรา”

ในช่วงฤดูแล้ง ความขัดแย้งที่มาจากการแย่งชิงอาหารและน้ำจะรุนแรงขึ้นในกลุ่มสัตว์ต่าง ๆ และเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ช้างหลงเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของคนรอบอุทยาน ทำให้เกิดการสูญเสียต่อพืชผลในพื้นที่การเกษตรและชีวิตอีกจำนวนมากทั่วประเทศ อีกทั้งประชากรช้างในอุทยานที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยังทำให้สภาพการณ์แย่ลงไปอีกด้วย

เนื่องจากมีฝนตกน้อย ฤดูเพาะปลูกในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่จะให้ผลผลิตที่น้อยลง แม้ว่าช้างจะมาบุกตามปกติก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงเพิ่มความพยายามในการปกป้องพืชผลมากขึ้น บางคนวางกับดักเพื่อเอาเนื้อ หรือขายชิ้นส่วนอวัยวะให้พรานเถื่อน โดยกล่าวว่า การเพาะปลูก ซึ่งเป็นทำมาหากินหลักในจังหวัดซิยาลวินดี กำลังถูกคุกคาม

ด้านทินาช ฟาราโว โฆษกประจำการจัดการอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว หรือซิมพาร์คส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการอุทยานของประเทศ กล่าวว่า หน่วยงานกำลังพยายาม “สร้างสมดุลระหว่างคนและสัตว์ป่า” เนื่องจากประชากรทั้งคนและสัตว์ต่างเพิ่มขึ้นเหมือนกัน และร้องขอให้คนในชุมชนงดเว้นการทำปศุสัตว์ในพื้นที่อุทยาน เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดโรคและถูกทำร้าย

ฟาราโว กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์จากการจัดการพื้นที่ชุมชนสำหรับทรัพยากรพื้นเมือง หรือแคมป์ไฟร์ ซึ่งเป็นแผนงานภาครัฐที่สนับสนุนการพัฒนาโดยชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐกล่าวว่า เงินทุนจากแผนงานจะใช้สำหรับจุดประสงค์ด้านการพัฒนา เช่น การสร้างโรงเรียน คลินิก และถนน

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรบางคนกล่าวว่า การสูญเสียอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากการที่สัตว์มาเหยียบย่ำพืชผลนั้น มีผลกระทบต่อพวกเขาอย่างมาก และพวกเขาเห็นประโยชน์โดยตรงจากเงินทุนแคมป์ไฟร์เพียงแค่เล็กน้อย ทั้งนี้ สมาชิกชุมชน ซึ่งรวมถึงมังกวานา และนคูเบ บอกว่า เพื่อนบ้านของพวกเขาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ ไม่รู้ว่าการทำงานมีกระบวนการอย่างไร เพราะพวกเขาไม่ใช่คนดำเนินการโครงการ

หลังจากหลายปีที่ต้องเผชิญหน้ากับฝูงช้าง มังกวานาเริ่มหมดความอดทน และต้องการการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว แทนที่จะเป็นนโยบายและแผนงานใหม่

“ฝูงช้างควรถูกนำออกไปจากพื้นที่” เธอกล่าว “พวกเรากำลังสูญเสียและเครียดมาก เพราะเราไม่ได้นอนในตอนกลางคืน ส่วนเงินทุนแคมป์ไฟร์ก็มีประโยชน์ต่อคนส่วนน้อยที่บริหารแผนงานเท่านั้น”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES

ที่มา : https://www.aljazeera.com/features/2022/5/6/in-zimbabwe-conflict-escalates-between-elephants-and-humans