ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ประกาศกร้าวว่า เขาจะไม่เข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดีปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “บลูเฮาส์” หรือ “เรือนสีฟ้า” ซึ่งตั้งชื่อจากกระเบื้องสีฟ้าทำมือกว่า 15,000 แผ่น ที่ใช้ตกแต่งหลังคาของอาคาร แต่เขาวางแผนที่จะย้ายสำนักงานของเขาไปยังอาคารของกระทรวงกลาโหม ในเขตยงซาน และเปิดบลูเฮาส์ให้ประชาชนทั่วไป เข้าชมในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวแทน

การเคลื่อนย้ายดังกล่าวจะเปลี่ยนศูนย์กลางของอำนาจไปยังหนึ่งในเขตใหญ่ที่สุดของกรุงโซล ที่การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มหาศาลและเสียงคัดค้านจากผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และยังเป็นการทำให้ประธานาธิบดี ต้องย้ายออกจากที่ตั้งใจกลางกรุงโซล ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของรัฐบาลมานานกว่า 6 ศตวรรษอีกด้วย

ยุนกล่าวอย่างไม่พอใจว่า บลูเฮาส์เป็น “สัญลักษณ์ของอำนาจจักรวรรดิ” และพูดปกป้องว่า การย้ายที่ใหม่เป็นการแสดงถึงความเป็นประธานาธิบดีทางประชาธิปไตยต่อสาธารณชนมากขึ้น และยังชี้ถึงเหตุผลด้านความปลอดภัยและโลจิสติกส์ ซึ่งหมายถึงหลุมหลบภัยทางทหารที่อาคารของกระทรวงกลาโหม

Arirang News

ขณะเดียวกัน เขตยงซาน ซึ่งเป็นพื้นที่ประจำการยอดนิยมสำหรับกองทหารต่างชาติมานาน เนื่องด้วยเป็นจุดได้เปรียบใจกลางกรุงโซล และอยู่ติดกับแม่น้ำฮัน มีทหารสหรัฐประจำการแทบไม่ขาดสาย ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในตอนนี้กลับอยู่ท่ามกลางการถอนกำลังออกจากเมืองหลวง

สำหรับทำเนียบประธานาธิบดีแห่งใหม่จะเป็นอาคารสูง 10 ชั้น และมีพื้นที่ประมาณ 270,000 ตร.ม. ซึ่งมีหน่วยงานทางทหารอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย เช่น คณะเสนาธิการร่วม

ในด้านเศรษฐกิจ การย้ายศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของเกาหลีใต้มายังเขตยงซาน จะเร่งกระบวนการพัฒนาปรับปรุงในพื้นที่ส่วนหนึ่งของกรุงโซลที่เคยถูกละทิ้ง และจะสร้างใจกลางแห่งใหม่ให้กับเมืองหลวงแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากไม่พอใจกับการย้ายตำแหน่งทำเนียบประธานาธิบดี โดยผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า คนเกาหลีใต้มากกว่าครึ่งเล็กน้อย ต้องการให้ยุนพิจารณาการตัดสินใจใหม่ แต่อีกราว 40% ให้การสนับสนุน

ขณะที่นายมุน แจ-อิน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก็แสดงความไม่สบายใจต่อเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า การเคลื่อนย้ายจะกระทบต่อความพร้อมรบ ซึ่งจะเป็นการบังคับให้หน่วยงานทหารระดับสูงต้องเคลื่อนย้ายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สื่อท้องถิ่นคาดการณ์ว่า การย้ายออกจากจัตุรัสกวางฮวามุน จะสร้างระยะห่างระหว่างประธานาธิบดียุน กับการประท้วงที่จะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลของเขาอย่างแน่นอนได้

แต่มันก็ไม่มีแนวโน้มว่ายุนจะสามารถหลีกเลี่ยงมวลชนคนประท้วงได้โดยสิ้นเชิง ฮง ซัง-กึล ศาสตราจารย์ของคณะการบริหารรัฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยกุกมิน เชื่อว่า การประท้วงอาจมีต่อไปในเขตยงซาน เมื่อฐานทัพสหรัฐถอนกำลังออกไป เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มอาณาเขตให้กับพื้นที่สาธารณะ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES