เพนกวินจักรพรรดิ คือเพนกวินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น 1 ใน 2 สายพันธุ์เพนกวินเฉพาะถิ่นของแอนตาร์กติกา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งคือ วงจรการสืบพันธุ์ที่นานที่สุดในบรรดาสายพันธุ์เพนกวินทั้งหมด พวกมันให้กำเนิดลูกน้อยในช่วงฤดูหนาวของทวีป และต้องใช้น้ำแข็งทะเลจากเดือน เม.ย.-ธ.ค. เพื่อทำรังให้ลูกนก แต่ถ้าน้ำทะเลแข็งตัวช้าไป หรือน้ำแข็งละลายก่อนเวลาอันควร ครอบครัวเพนกวินจักรพรรดิจะไม่สามารถทำการสืบพันธุ์ได้

“หากน้ำทะเลเข้าถึงลูกเพนกวินแรกเกิด ซึ่งยังไม่พร้อมว่ายน้ำและยังไม่มีขนนกกันน้ำ พวกมันจะจมน้ำและหนาวตาย” มาร์เซลา ลิเบอร์เทลลิ นักชีววิทยาของไอเอเอ ที่ศึกษาเพนกวิน 15,000 ตัว จาก 2 อาณาจักรในแอนตาร์กติกา กล่าว ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นกับอาณาจักรเพนกวินจักรพรรดิที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่อ่าวฮัลเลย์ ในทะเลเวดเดลล์ โดยลูกเพนกวินตายทั้งหมด ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ทุกเดือน ส.ค. ในช่วงกลางฤดูหนาวของซีกโลกใต้ ลิเบอร์เทลลิ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นที่ฐานมารัมบิโอของอาร์เจนตินา ในทวีปแอนตาร์กติกา จะเดินทาง 65 กม. ด้วยมอเตอร์ไซค์ทุกวัน ท่ามกลางอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส เพื่อไปยังอาณาจักรเพนกวินจักรพรรดิที่ใกล้ที่สุด

Reuters

เมื่อไปถึง พวกเขาจะนับจำนวน, ชั่งน้ำหนัก, วัดขนาดลูกนก, รวบรวมพิกัดทางภูมิศาสตร์ และเก็บตัวอย่างเลือด รวมไปถึงการจัดทำการวิเคราะห์ทางอากาศ

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังชี้ถึงอนาคตอันน่ากลัว หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่บรรเทาลง โดยมีการคาดการณ์ว่า อาณาจักรเพนกวินจักรพรรดิ ณ พิกัดหนึ่งในแอนตาร์กติกา จะหายไปในอีกไม่กี่ทศวรรษ หรือประมาณ 30-40 ปีข้างหน้า

“การหายไปของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใด ๆ ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงสำหรับโลกใบนี้” ลิเบอร์เทลลิ กล่าว “ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พืชหรือสัตว์ มันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่เป็นการสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ”

การสูญพันธุ์ของเพนกวินจักรพรรดิจะมีผลกระทบอย่างมากทั่วทั้งทวีปแอนตาร์กติกา สถานที่ที่ห่วงโซ่อาหารมีสมาชิกและความเชื่อมโยงเพียงเล็กน้อย ตามที่ ลิเบอร์เทลลิ กล่าว

เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ซึ่งเป็นทบวงชำนัญการพิเศษด้านสภาพอากาศของสหประชาชาชาติ (ยูเอ็น) ออกรายงานเตือนถึง “อุณภูมิที่สูงขึ้นอย่างมาก ควบคู่กับฝนตกผิดปกติ และธารน้ำแข็งละลายในแอนตาร์กติกา” ซึ่งลิเบอร์เทลลิ เรียกว่าเป็น “แนวโน้มที่น่าเป็นห่วง” เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกมีขนาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2542.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS