จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้คนตกงานจำนวนมาก รวมทั้งคนที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ ๆ หางานทำได้ยากยิ่งขึ้นกว่าอดีต และมีคนตกงานหลายแสนคน ยิ่งมาเจอกับปัญหาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรงมาเป็นเวลาปีกว่า ทำให้สถานการณ์จ้างงานในประเทศยิ่งลำบากมากขึ้น ขนาดคนรุ่นใหม่ถึงกับอยากย้ายประเทศกันเลยทีเดียว  

แต่ในขณะเดียวกันยังมีคนกลุ่มหนึ่งออกไปใช้แรงงานในต่างประเทศก่อนที่โควิด-19 จะมาเยือนไทย ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้กำลังเป็นที่สนใจของตลาดแรงงานไทย ดังนั้นดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับดร.วิมลมาส หมื่นหอ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะอดีตอาสาสมัครศูนย์ช่วยเหลือดูแลแรงงานไทยในเกาหลี จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เจาะลึกชีวิตแรงงานไทยในเกาหลี” เกี่ยวกับเรื่องราวของแรงงานที่ถูกกฎหมาย และแรงงานไม่ถูกกฎหมายที่เรียกกันว่า “ผีน้อย”

งานหนักแต่รายได้งาม5-6หมื่น/เดือน

วันนี้เป็นการพูดคุยกับแรงงานที่เดินทางไปเกาหลีแบบถูกต้องอย่างนายจักรพงษ์ โอดเปี้ย แรงงานเกาหลี E9 โดย นายจักรพงษ์หนุ่มจากบุรีรัมย์ เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอายุประมาณ 18 ปี ยังเรียนไม่จบชั้นม.6 แต่อยากทำงานเพื่อหารายได้ที่ดีมาช่วยเหลือครอบครัว จึงไปสมัครงานผ่านระบบ EPS (ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล) เพื่อมาทำงานที่เกาหลีใต้ ซึ่งตอนแรกมองหางานที่ญี่ปุ่น และอิสราเอลด้วย แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเกาหลีน่าสนใจกว่า จึงสมัครสอบเพื่อมาทำงานที่เกาหลี โดยต้องไปเรียนภาษาเกาหลี 14 วัน เสียค่าใช้จ่าย 7,500 บาท หลังจากนั้นจึงไปสอบที่ จ.นครราชสีมา ด้วยลักษณะงานที่มีให้เลือก 3 กลุ่ม คือ เกษตร ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม

ยังจำได้ว่าตอนนั้นสมัครงานประมาณเดือนมี.ค. แล้ว เม.ย.ก็สอบ เดือนพ.ค.ประกาศผล และเดินทางมาเกาหลีเดือน ต.ค. สรุปเสียค่าสมัครพันกว่าบาท ค่าเรียนภาษาเกาหลี 7,500 บาท ค่าตรวจโรค 2 รอบ 2,000 กว่าบาท ค่าตั๋วเครื่องบิน 12,000 บาท และมีเงินติดตัวสำหรับไว้ใช้จ่ายในเกาหลี 3-4 หมื่นบาท แต่ระยะการเดินทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะต้องรอ 1-2 ปี ถ้ารอนาน 2 ปี ต้องไปสอบกันใหม่ ขึ้นอยู่กับนายจ้างจะเรียกตัวเราเมื่อไหร่

ตอนสอบมีงานให้เลือก 3 กลุ่ม คือ เกษตร ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ไม่มีการกระโดดข้ามสายงานกัน แต่พอมาถึงเกาหลีแล้วถ้าเลือกเกษตรจะกระโดดข้ามไปทำงานก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมไม่ได้ แต่ถ้าเลือกอุตสาหกรรมแล้วไม่ชอบงานอุตสาหกรรม สามารถไปทำงานเกษตรได้

“ผมทำงานอยู่โรงเหล็ก ถามว่างานหนักหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าหนัก เพราะต้องยกเหล็กน้ำหนักประมาณ 30-40 กก. ขึ้นมาประกอบ แต่ก็ทำได้และทำมาหลายปีแล้ว ลักษณะของงานจึงเหมาะกับคนอายุน้อย ทำงานไม่เกิน 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีรายได้หลังจากหักค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าห้องพัก จะเหลือประมาณเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับโอที บางโรงงานโอทีมาก แต่อาจจะหักค่าห้องพักเยอะ หรือบางแห่งเลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารเย็นด้วย ขึ้นอยู่กับเถ้าแก่” 

ยังไม่คิดกลับบ้านไม่รู้ไปทำงานอะไร ! 

เมื่อถูก ดร.ไพบูลย์ ถามว่า ลักษณะการทำงานค่อนข้างหนัก แล้วมีโอกาสไปท่องเที่ยวพักผ่อนบ้างหรือไม่ นายจักรพงษ์กล่าวว่าตนทำงานแบบเดิม ๆ มา 5 ปีแล้ว ปัจจุบันอายุงานเหลืออีก 4 ปี 10 เดือน จึงค่อนข้างจะเบื่อ เครียด และกดดันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอถึงวันหยุดจึงได้ไปเที่ยวบ้าง โดยเมืองที่ตนทำงานอยู่เหมือนต่างจังหวัด แต่ถ้าจะไปกรุงโซลมีรถเมล์ 15 สายวิ่งผ่าน หรือจะนั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าก็ได้ ถือว่าการเดินทางในเกาหลีสะดวกมาก ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ประมาณ 40 บาท คนที่อยู่เกาหลีจึงไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ เนื่องจากมีการบริการของขนส่งสาธารณะสะดวกสบายทุก 5 นาที สถานที่เที่ยวและพักผ่อนมีเยอะ หรือจะไปกินบุฟเฟ่ต์ กินเนื้อย่าง มีร้านอาหารไทย และผับไทยหลายแห่ง

เรียกว่าสามารถไปท่องเที่ยวได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะตนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย เพียงแต่เถ้าแก่กำชับให้ระวังเรื่องโควิด-19 ดังนั้นเมื่อถึงวันหยุดชีวิตจึงเป็นของเรา มีโอกาสได้ไปเที่ยวบ่อย ๆ ไปร้านเนื้อย่าง พนักงานร้านก็บริการลูกค้าทุกระดับประทับใจจริง ๆ

เมื่อถูกถามว่าคิดอยากกลับประเทศไทยช่วงนี้หรือไม่? แรงงานหนุ่ม E9 จากบุรีรัมย์ตอบว่าจริง ๆ ตอนนั้นเริ่มถอดใจไม่อยากมาเกาหลีแล้ว เพราะรู้สึกว่ารอนานหลายเดือนกว่านายจ้างจะเรียกตัว จึงตั้งใจว่าถ้าเดือนส.ค.-ก.ย.วีซ่ายังไม่ออก บอกกับทางบ้านว่าจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมาแล้วตนทำงานได้ วันหยุดได้ไปเที่ยวพักผ่อน มีรายได้เดือนละ 5-6 หมื่นบาท ถ้ากลับประเทศไทยไปตอนนี้ตนยังมองไม่ออกว่าจะไปทำงานอะไร เงินเดือน 9,000-12,000 บาท อยู่ได้หรือ

ตอนนี้ได้ยินแต่ข่าวว่าประเทศไทยกำลังแย่ จึงไม่รู้ว่าจะกลับบ้านไปทำงานอะไร ดังนั้นจึงขออยู่ทำงานในเกาหลีไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้บริหารประเทศชุดปัจจุบันจะไป วันนี้ขอฝากไปยังคนใหญ่คนโตในประเทศว่า ถ้าประเทศเรามีงานทำ และมีรายได้พอสมควร ไม่มีใครอยากย้ายประเทศหรอก ทุกคนอยากทำงานที่บ้านกันทั้งนั้น แต่เมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็ต้องกระเสือกกระสนออกมาทำงานต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่อยากอยู่บ้านมากกว่า ทุกวันนี้ตนเห็นคนเกาหลีแล้วรู้สึกอิจฉา ทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ก็พาครอบครัวไปท่องเที่ยวพักผ่อน แต่ถ้าตนกลับไปบ้านตอนนี้ทำงาน 7 วัน ยังไม่รู้ว่าจะพอกินหรือเปล่า

เกาหลีค่าแรงสูง-มีงานหลากหลาย

ทางด้าน ดร.วิมลมาส กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าเกาหลีมีอัตราการเกิดต่ำ กำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจทำงานเกษตร อุตสาหกรรม และก่อสร้าง ดังนั้นจึงมีความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ และโดยส่วนตัวมองว่าเกาหลีใต้เป็นตลาดแรงงานที่น่าสนใจกว่าอิสราเอล และไต้หวัน เพราะในเกาหลีตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นแรงงานเกาหลี และแรงงานจากต่างชาติ จะได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันที่ชั่วโมงละ 245 บาท ทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน ไม่รวมโอที เบ็ดเสร็จแล้วรายได้ขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 51,300 บาท/เดือน อันนี้คือแรงงานที่ไปแบบถูกกฎหมาย

ต้องถือว่าค่าจ้างแรงงานในเกาเหลีสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ ถ้าไปทำงานไต้หวันอาจจะได้ 20,000 บาทปลาย ๆ ถึง 30,000 บาท และในเกาเหลีมีงานให้เลือกอย่างหลากหลายกว่า มีระบบการบริหารจัดการที่ดีพอสมควร มีองค์กรต่าง ๆ คอยให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ แต่ต้องศึกษาและตรวจสอบอย่างรอบคอบ จากประสบการณ์แรงงานที่ไปอย่างถูกกฎหมายก็มีปัญหาบ้าง เช่น ปัญหาเรื่องการสื่อสาร (ภาษา) ปัญหานายจ้างจ่ายค่าแรงล่าช้าไม่ตรงตามเวลา เป็นต้น

“แรงงานต่างชาติแบบถูกกฎหมายที่จะไปทำงานในเกาหลี จะมีข้อจำกัดในเรื่องของอายุไม่เกิน 39 ปี ในขณะที่วีซ่าก็มีหลายชนิด มีทั้งวีซ่าสำหรับคนที่เป็นอาจารย์และไกด์ผู้เชี่ยวชาญ (E1) วีซ่าท่องเที่ยวระยะสั้น-นักธุรกิจ (C3) วีซ่าแรงงาน E9 หรือวีซ่าแรงงาน E7 ซึ่งมีความเชี่ยชาญหรือมีทักษะทางด้านภาษามากกว่า E9 โดยแต่ละพื้นที่ทำงานจะใช้วีซ่าไม่เหมือนกัน ดังนั้นใครจะไปเกาหลีจึงต้องพิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบ อย่าหลงเชื่อคนง่าย ปัจจุบันเกาหลีไม่เปิดฟรีวีซ่า เพราะมีปัญหาเรื่องโควิดระบาด หรืออาจจะมีแบบการท่องเที่ยวระยะสั้นมากกว่า ถ้ายังมีการออกวีซ่าให้ก็แสดงว่าสามารถเดินทางไปเกาหลีได้”

บริหารจัดการดี-แรงงานต่างชาติปลอดภัย

ดร.วิมลมาสกล่าวอีกว่าโดยปกติเกาหลีจะรับแรงงานต่างชาติอายุระหว่าง 18-39 ปี ส่วนใหญ่รับแรงงานชาย มากกว่าแรงงานหญิง ในสัดส่วนประมาณ 80 : 20 ตามระบบ EPS เมื่อสมัครและสอบผ่านแล้วจะรอนายจ้างเรียกตัวประมาณ 6-12 เดือน ใครที่รู้ภาษาเกาหลีจะมีโอกาสมากกว่า และยังสามารถพูดหรือเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้

โดยส่วนตัวมองว่าเกาหลีเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับแรงงานจากต่างชาติ เพราะมีระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ค่อนข้างดี มีความชัดเจน มีระบบสาธารณสุขที่ดี และมีหลายองค์กรคอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานถูกกฎหมายและแรงงานผิดกฎหมาย ยิ่งถ้าไปแบบถูกต้องจะได้รับการดูแลในระบบที่ดี มีเงินเดือนสูง โอทีมาก ตอนหมดสัญญายังมีเงินก้อนให้ด้วย แล้วถ้าเป็นแรงงานซื่อสัตย์ ไม่เคยย้ายเปลี่ยนงานเลย จะได้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน 1 เดือน แล้วถูกเรียกกลับไปทำงานใหม่ แต่ถ้าไม่ใช่แรงงานซื่อสัตย์อาจจะต้องกลับมาพักผ่อนถึง 3 เดือน แล้วต้องสอบใหม่ถ้าต้องการกลับไปทำงานอีก นี่คือเกาหลีใต้

ทั้งหมดคือ 1 ตัวอย่างของแรงงานหนุ่มชาวไทยที่ไปเกาหลีอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย และวันพรุ่งนี้ ทีมข่าว 1/4 Special Report ยังตามต่อ โดยจะพาไปพบกับแรงงานสาวไทยที่เข้าไปทำงานในเกาหลีอย่างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน หรือคนทั่วไปขนานนามว่า “ผีน้อย” ชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไร สุขสบายเหมือนในซีรีส์เกาหลี หรือว่าตกระกำลำบากขนาดไหน…มาพบกัน.