สำหรับประเด็นการเป็นเจ้าภาพ มีการถกเถียงกันตั้งแต่ปี 2553 เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประกาศให้ “กาตาร์” รัฐขนาดเล็กที่ร่ำรวย มีประวัติเกี่ยวกับฟุตบอลเล็กน้อย และไม่เคยมีบันทึกการเข้ารอบฟุตบอลโลก ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย ต่อการที่กาตาร์สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่างสหรัฐ , ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้

การตัดสินใจดังกล่าวของฟีฟ่า ทำให้เกิดการกล่าวหาว่า มีการรับมอบสินบนเพื่อตัดสินตำแหน่งเจ้าภาพให้กาตาร์ อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายสืบสวนอิสระของฟีฟ่าไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน และกาตาร์ยืนกรานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่การตรวจสอบยังคงดำเนินต่อไป

ในประเด็นการดูแลคนงาน กาตาร์กำลังก่อสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดูแลแรงงานข้ามชาติกว่า 30,000 คน ในโครงการนี้ แม้รัฐบาลโดฮาจะออกมาตรการมากมาย เพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ปี 2560 แต่ ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ (เอชอาร์ดับเบิลยู) รายงานเมื่อปี 2564 ว่า คนงานต่างชาติในกาตาร์ยังคงทุกข์ยากจาก “การหักค่าจ้างลงโทษและผิดกฎหมาย” เช่นเดียวกับ “การค้างค่าจ้างหลายเดือนสำหรับการทำงานอย่างหนักนานหลายชั่วโมง”

Al Jazeera English

เดอะ การ์เดียน รายงานเมื่อปีที่แล้ว คนงานต่างด้าวจากอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ และศรีลังกา เสียชีวิตในกาตาร์รวมกันราว 6,500 ราย นับตั้งแต่กาตาร์ได้สิทธิเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่รัฐบาลของกาตาร์กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไป เนื่องจากมีการรวมผู้เสียชีวิตที่อยู่ในกาตาร์มาหลายปี และมีผู้เสียชีวิตอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า กาตาร์ไม่ได้นับรวมการเสียชีวิตอย่างกะทันหันและไม่คาดคิดในกลุ่มแรงงาน ที่รวมถึงอาการหัวใจวาย และภาวะการหายใจล้มเหลวจากโรคลมแดด ซึ่งถูกบันทึกว่าเป็น “สาเหตุตามธรรมชาติ” แทนที่จะเป็น “ความเกี่ยวข้องกับการทำงาน”

ทั้งนี้ ไอแอลโอ ยังรวบรวมตัวเลขการเสียชีวิตจากโรงพยาบาลของรัฐ และบริการรถพยาบาลในกาตาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากโครงการทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับฟุตบอลโลก พบว่า เมื่อปี 2564 ปีเดียว ในกาตาร์มีคนงานเสียชีวิต 50 คน, บาดเจ็บสาหัสอีกมากกว่า 500 คน และบาดเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลางอีกราว 37,600 คน โดยสาเหตุหลักของการบาดเจ็บและเสียชีวิตมาจากการตกจากที่สูง, อุบัติเหตุการจราจร และมีวัตถุหล่นใส่

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากกาตาร์เป็นประเทศมุสลิมอนุรักษนิยม และยังไม่ยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน หลายกลุ่มที่สนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศจึงเรียกร้อง “การเปิดกว้าง” อย่างไรก็ตาม กาตาร์กล่าวว่า ยินดีต้อนรับทุกคนจากทุกสารทิศ แต่ “การแสดงความรักในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในจารีตประเพณีของพวกเรา”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES