ที่ผ่านมาเราตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราเกิดมาทำไม? ได้ทำประโยชน์อะไรบนโลกบ้าง? แต่วันนี้เราตอบตัวเองได้แล้ว และเท่านี้ชีวิตเราก็มีคุณค่าแล้ว“ ชายคนนี้บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยชายคนนี้เขาเคยใช้ชีวิตโดยที่ยังไม่รู้ความหมายของชีวิต จนเมื่อเลือกตัดสินใจหันหลังให้กับชีวิตในเมืองหรูหรา ยอมทิ้งงานที่มั่นคงกับเงินเดือนหลายแสน และเลือกกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด พร้อมเปลี่ยนเส้นทางเป็น “เกษตรกรปลูกโกโก้” นี่ได้ทำให้เขาพบ “คำตอบของชีวิต” แต่ทั้งนี้ กว่าที่จะฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักชีวิตของเขาคนนี้ ชีวิตของ“มนูญ ทนะวัง” 

กับภรรยา คุณแม่ คุณพ่อ กำลังเสริมสำคัญ

’ตอนเด็กไม่ได้มองอาชีพเกษตรกรเลย แถมคิดว่าทำยังไงก็ได้ที่ไม่ต้องทำเกษตร เพราะในวัยเด็กได้เห็นความลำบากของพ่อแม่ รวมถึงชาวบ้านที่ทำอาชีพนี้ ที่ต้องทำงานหนัก เหนื่อย แต่ไม่มีใครลืมตาอ้าปากได้เลย ทำให้เราไม่มีความคิดที่จะมาทำอาชีพนี้อยู่ในหัวเลย เสียงจาก มนูญ ทนะวัง เจ้าของสวนโกโก้อินทรีย์ ชื่อ Cocoa Valley เล่าให้เราฟังเรื่องนี้ พร้อมเล่าย้อนถึงเส้นทางชีวิตวัยเด็กของตัวเองให้ฟังว่า เกิดและโตที่ อ.ปัว จ.น่าน โดยเป็นลูกชายของ คุณพ่อมานพ และ คุณแม่หวั่น ทนะวัง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำให้ชีวิตของเขาเป็นแบบวิถีเด็กชนบท ที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่า ภูเขา และแม่นํ้าลำธารมาตลอด โดยเขาบอกว่า ตอนเด็กไม่เคยเข้าเมืองเลยสักครั้ง จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาก็สอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ และนั่นจึงเป็นการเข้าเมืองครั้งแรกในชีวิตของเขา

’ตอนนั้นที่เข้าเมืองเป็นครั้งแรก ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็พยายามปรับตัวและพยายามเรียนจนจบปริญญาตรี และด้วยความที่อยู่ท่ามกลางภูเขามาทั้งชีวิต ไม่เคยเห็นทะเล ตอนนั้นผมเลยฝันว่าอยากเห็นทะเล ดังนั้นพอเรียนจบ ผมจึงมุ่งหน้าไปหางานทำในจังหวัดที่ติดทะเล จนลงเอยที่ จ.ระยอง“ เจ้าตัวกล่าว ซึ่งก็ถือเป็นความโชคดีของเขาที่ไปสมัครงานแล้วได้งานเลย โดยเขาได้ทำงานในบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจสร้างแท่นขุดเจาะนํ้ามันที่ จ.ระยอง ซึ่งด้วยความที่เป็นคนขยัน ทำให้เขาเติบโตในสายงานได้เร็ว และได้เงินเดือนสูงขึ้นอยู่ที่หลักแสนบาท โดยเขาเล่าถึงช่วงชีวิตตอนนั้นว่า การทำงานตรงนี้ทำให้เขาได้เห็นโลกที่กว้างมากขึ้น เพราะทั้งสนุกแถมได้เงินเดือนเยอะ ทำให้มีความสุขในการทำงาน และในช่วงนั้นเป็นเหมือนสิ่งที่มาเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของเขา

’เรียกว่าตอนนั้นใช้เงินทุกบาททุกสตางค์เต็มที่ ทั้งกินเที่ยว ทั้งซื้อของแบรนด์เนม เรียกว่าใช้จ่ายทดแทนชีวิตวัยเด็กที่อยากได้อะไรก็ซื้อไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นเรามีความเชื่อว่าชีวิตแบบนี้คือชีวิตที่มีความสุข โดยผมใช้ชีวิตวนไปวนมาอยู่แบบนี้ กระทั่งวันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่า ทำไมยิ่งเดินทางนี้ก็ยิ่งเครียดมากขึ้น แถมความสุขที่เคยรู้สึกมันก็เริ่มหายไป ไม่เหมือนเดิม“ เขาเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้น หลังคำตอบชีวิตที่เคยคิดว่าใช่ กลับไม่ตอบโจทย์ความรู้สึกของเขาเหมือนเดิม

มนูญบอกอีกว่า เมื่อคำตอบชีวิตที่เคยคิดว่าใช่ ไม่เหมือนเดิม เขาจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า’เราเกิดมาทำไมกันแน่?“ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มมองการใช้ชีวิตแบบเดิมของเขาว่า ’มันใช่ความสุขที่ต้องการจริง ๆ หรือไม่?“ เพราะหากว่าคือความสุขที่แท้จริง เหตุใดจึงไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นเลย? ทั้งที่ชีวิตก็มีพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการงานมั่นคงหรือเงินทองทรัพย์สิน และเมื่อตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่าเกิดมาทำไม? เขาจึงเดินไปสู่การค้นหาความหมายของชีวิตที่แท้จริงโดยเขาตัดสินใจคุยกับแฟน คือ “จารุวรรณ จิณเสน” ว่า จะทิ้งชีวิตที่หรูหรากลับไปอยู่บ้านเกิดที่ อ.ปัว จ.น่าน เพื่อไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร

’คุยกับแฟนแล้ว ผมก็กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิดเลย แต่เราก็มองไว้แล้วว่าจะต้องทำการเกษตรที่ต้องตอบโจทย์ความสุขเราด้วย โดยเฉพาะรูปแบบการทำเกษตรที่ทำให้เราสามารถช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้ก่อนกลับมาบ้าน ผมเขียนรายชื่อพืชที่จะปลูกเอาไว้ประมาณ 50 ชนิด และค่อย ๆ ตัดออกทีละชนิด ให้เหลือพืชที่สามารถนำมาแปรรูปได้ และเหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ด้วย จนสุดท้ายเหลือคำตอบเดียวคือ…โกโก้“ เป็นเส้นทางของเขาหลังจากตัดสินใจเลือกเปลี่ยนทางเดินชีวิตมาเป็นเกษตรกร และหลังจากทำการบ้านให้ตัวเองว่าจะปลูกพืชใดทำกินดี เขาก็ค้นพบคำตอบที่ตรงกับตัวเขามากที่สุด นั่นก็คือการ “ปลูกโกโก้” นั่นเอง

ส่งเสริมปลูกโกโก้ลดการรุกป่า

ทั้งนี้ มนูญ ได้เล่าให้เราฟังว่า ตอนที่เริ่มปลูกโกโก้ ขณะนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะถึงขั้นทำเป็นธุรกิจ เพราะความรู้สึกขณะนั้นแค่เพียงคิดว่าอยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเท่านั้น จึงเริ่มต้นทำกันเองในครอบครัว โดยมีคุณพ่อคุณแม่ และภรรยากับลูก ๆ มาช่วยกันปลูก ซึ่งการปลูกโกโก้นั้น ต้องรอถึง 3 ปี ต้นโกโก้จึงจะโตพอจนให้ผลผลิตได้ ทำให้ในระหว่างที่รอโกโก้เติบโต เขาก็เริ่มศึกษาหาความรู้ว่าที่ไหนบ้างที่ทำโกโก้ จากนั้นก็เดินทางไปศึกษาดูงานทั้งสวนโกโก้ในประเทศและต่างประเทศ

’ผมไปหมด ทั้งฝั่งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยฝั่งเอเชีย จะมีแหล่งปลูกโกโก้ใหญ่ ๆ อยู่ที่อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ซึ่งโซนนี้จะเด่นในเรื่องการปลูก การแปรรูปเมล็ดแห้ง ส่วนแถบยุโรปและอเมริกา ผมจะเน้นศึกษาเรื่องของเทคโนโลยีและเทคนิคแปรรูปโกโก้ ว่าจะทำให้ได้โกโก้และช็อกโกแลตชั้นดีนั้นจะต้องทำยังไง แล้วนำเอาความรู้ที่ได้เหล่านี้มาพัฒนาการปลูกและแปรรูปที่สวนของเรา“ เขาเล่า

หลังจากที่มนูญประสบความสำเร็จ โดยเขาสามารถทำให้โกโก้สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว เขาก็ยังไม่ลืมคำถามที่เขาพยายามค้นหาความหมายให้กับชีวิต นั่นคือ ’ตัวของเรามีคุณค่าอะไรต่อสังคมหรือชุมชนบ้าง?“ เขาจึงตัดสินใจว่าจะนำความรู้เกี่ยวกับโกโก้นี้ไปส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน โดยเริ่มจากการจ้างงานคนในชุมชนให้เข้ามาทำงานที่สวนของเขา ซึ่งเขาสะท้อนมุมมองว่า เขามองว่าธุรกิจที่หวังผลกำไรมากเกินไป ธุรกิจแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์กับใคร ดังนั้นเขาก็เลยลดการใช้เครื่องจักรในขั้นตอนบางอย่าง จากนั้นก็หันมาใช้แรงงานคนในชุมชนแทน ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน

จ้างงานผู้สูงวัยฝัดแยกเปลือกโกโก้

’อย่างการแยกเปลือกโกโก้ ผมก็จ้างคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนมาฝัดแยกเปลือก เพื่อให้เขามีรายได้ แม้วิธีนี้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 30% แต่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนในชุมชนได้ประโยชน์ ก็เลยเลือกวิธีนี้ แม้จะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม“ มนูญกล่าว พร้อมบอกอีกว่า กำไรที่ลดลงทำให้เงินก้อนนี้สามารถนำไปช่วยเหลือคนอื่นได้ และอีกอย่างหนึ่ง มนูญมองว่า ธุรกิจไซส์แบบเขานี้ ไม่จำเป็นจะต้องมองเรื่องกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่เน้นเรื่องการสร้างความยั่งยืนจะดีกว่า

’ผมโยนทฤษฎีการทำธุรกิจที่ต้องลดต้นทุนเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดทิ้งไปเลยนะ (หัวเราะ) เพราะผมมองว่าไม่มีประโยชน์ เดี๋ยวตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้อยู่ดี“ เขาบอกไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต”

และเล่าให้ฟังอีกว่า เขาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกโกโก้ให้เกษตรกรท้องถิ่นและส่งเสริมให้ชุมชนหันมาปลูกโกโก้แบบอินทรีย์ โดยรับซื้อผลผลิตในราคาที่สูงเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน อีกทั้งเขายังนำประสบการณ์ที่มีไปแบ่งปันให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตร ผ่าน โครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” ที่ทาง ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำขึ้น ซึ่งโครงการนี้ ธ.ก.ส. จัดทำขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้เข้าใจและรักในอาชีพนี้ นอกจากนั้นเขายังเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรบนดอยในพื้นที่ จ.น่าน ให้หันมาปลูกโกโก้แทนการบุกรุกทำลายป่าทำเกษตร โดยมนูญได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในเรื่องนี้ว่า…

อบรมการปลูกโกโก้ให้กับชุมชน

’เราเป็นคนน่าน ตอนเด็กเราได้เห็นว่า จ.น่าน มีความอุดมสมบูรณ์กว่านี้เยอะ เป็นจังหวัดต้นนํ้า ซึ่งแม่นํ้าน่านก็เป็นแม่นํ้าสายหลัก โดยคิดเป็น 40% ของแม่นํ้าทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งนํ้าคือชีวิต เมื่อเราสามารถช่วยป่าต้นนํ้าน่านได้ เราก็ช่วยความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยให้ยังคงอยู่ได้ ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากส่งเสริมให้คนบนพื้นที่สูงปลูกโกโก้แทนการปลูกพืชหมุนเวียนอย่างข้าวโพด ที่มีแต่จะขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เขาหยุดขยายพื้นที่ โดยหลังจากเกษตรกรกลุ่มนี้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตอยู่ได้ พวกเขาก็หยุดทำลายป่า ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้พร้อมรับซื้อ ทำให้เขามีรายได้ต่อปีประมาณ 70,000-120,000 บาทต่อไร่ โดยที่แรกที่เข้าไปส่งเสริมและประสบความสำเร็จ คือหมู่บ้านปางยาง จนทุกวันนี้ชาวบ้านที่นี่ก็เริ่มมีการปลูกกันเยอะขึ้น และยังขยายปลูกพืชผลที่เป็นไม้ยืนต้นมากขึ้นด้วย ซึ่งพอพื้นที่หนึ่งสำเร็จ เราก็นำองค์ความรู้ของพื้นที่นี้ไปขยายต่อในพื้นที่อื่นได้“ มนูญระบุถึง “ความสำเร็จที่ยั่งยืน” ที่เกิดขึ้นจาก “โกโก้”

ทิ้งท้าย มนูญ เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้รายนี้ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังถึง “ผลกระทบจากโควิด-19” ว่า ’ตั้งแต่รอบ 1 รอบ 2 ที่มีการปิดจังหวัด 100% เราก็ต้องเปลี่ยนมาทำการตลาดที่อิงกับเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดเรื่องนี้ ทำให้ไม่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกได้ทั่วประเทศ ส่งผลทำให้ช่วงนั้นแย่มาก เพราะในขณะที่เราขายของไม่ได้ แต่ผลผลิตของเกษตรกรนั้นเราก็ต้องรับซื้อปกติ พนักงานเราก็ต้องจ้างทำงานปกติ โดยเรายอมแบกภาระตรงนี้ เพราะถ้าเจอวิกฤติแล้วให้ทิ้งพวกเขา ตรงนี้เราก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบ แม้ธุรกิจหยุดนิ่ง แต่เราต้องไม่หยุดอยู่กับที่ ก็อาศัยจังหวะที่เกิดวิกฤติ หันมาเรียนรู้ปรับตัวเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเชื่อมั่นมากว่า…เราเดินมาถูกทางแล้ว ที่จะทำให้เราค้นพบคำตอบชีวิตว่า… เราเกิดมาทำไม? และทำอะไรได้บ้าง? ซึ่ง…

โกโก้เป็นคำตอบสุดท้าย“.

‘สิ่งที่มี-สิ่งที่รัก’ คือ ‘คีย์เวิร์ดชีวิต’

ผลผลิต “โกโก้” ในสวน

“มนูญ ทนะวัง” เกษตรกรพื้นที่ จ.น่าน ที่ “พลิกชีวิตกับโกโก้” พูดถึง “คีย์เวิร์ดชีวิต” ของเขาให้เราฟังว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยากเกิน แต่ขึ้นอยู่กับใจที่พร้อมแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นเรื่องที่ยากอยู่บ้าง เพราะต้องใช้ความเพียรและความมานะสูง เนื่องจากอาจต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้อนาคต หรือมองไม่เห็นข้างหน้า ซึ่งทางที่จะเดินไปไม่ได้ราบเรียบ และต้องเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความพยายาม เราสามารถทำได้ ทั้งนี้ มนูญยังแนะนำถึง “แก่นในการทำธุรกิจเกษตรให้ประสบความสำเร็จ” ตามมุมมองของเขา โดยบอกว่า มี “2 คีย์เวิร์ด” นั่นคือ เริ่มต้นจาก“สิ่งที่มี” ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเงิน แต่ให้ดูว่าเรามีอะไรที่เป็นฐานแล้วบ้าง และคีย์เวิร์ดที่ 2 คือ “สิ่งที่รัก” ด้วยการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และตื่นมามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ’อย่างผมชอบกินช็อกโกแลตและโกโก้ ก็เลยเลือกที่จะปลูกโกโก้ ซึ่งถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่มีและสิ่งที่รักแล้ว 2 สิ่งนี้จะเป็นตัวที่สำคัญในการขับเคลื่อน เพราะเราไม่ต้องเริ่มจาก 0 แต่เริ่มจาก 1 จาก 2 ได้เลย“ มนูญระบุ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน