ในภูมิภาคที่สื่อท้องถิ่นอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ประชาชนหลายล้านคนจึงต้องพึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อติดตามข่าวสารและแสดงความคิดเห็น ซึ่งทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ต่างแสดงศักยภาพในการมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ในชีวิตจริง เช่น การปฏิวัติอาหรับสปริง เมื่อปี 2554 แต่ถึงอย่างนั้น ความเป็นประชาธิปไตยกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลก็ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ติดตามความเคลื่อนไหว และเข้าจับกุมอีกฝ่ายหากมีการวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน

มาร์ค โอเวน โจนส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาตะวันออกกลางศึกษา ที่มหาวิทยาลัยฮาหมัด บิน คาลิฟา ในกาตาร์ กล่าวว่า ทวิตเตอร์ถูกเลือกนำไปใช้เพิ่มเติมในบางประเทศ เพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ และข่มขู่บรรดานักเคลื่อนไหว นอกจากนี้ เขายังมองว่า การที่อีลอน มัสก์ เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ จะทำให้ปัญหาในภูมิภาครุนแรงขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสอดแนมและปราบปราม ภายใต้ฉากหน้าของ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ดังที่มัสก์พูดเอาไว้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ทวิตเตอร์ระงับหลายพันบัญชีที่เชื่อมโยงไปยังอียิปต์, ฮอนดูรัส, อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบีย และเซอร์เบีย ตามคำสั่งของรัฐบาลแต่ละประเทศ หรือโปรโมตเนื้อหาเชิงสนับสนุนรัฐบาล อย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อปีก่อน ทวิตเตอร์ระบุว่า ได้ทำการลบผู้ใช้งานไปเกือบ 6,000 บัญชี เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย

มาเรียม อัล-ควาจา นักเคลื่อนไหวชาวบาห์เรนที่ลี้ภัยมาอยู่ในสหรัฐ เนื่องจากพ่อของเธอได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตจากบทบาทความเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยของบาห์เรน กล่าวว่า ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในช่วงการลุกฮือ เมื่อปี 2554 แต่มันก็กลายเป็นที่ที่ผู้คนตกเป็นเป้าหมายอย่างรวดเร็วเช่นกัน: “ทวิตเตอร์เต็มไปด้วยปัญหาการคุกคามอยู่แล้ว และสิ่งนี้มีแต่จะทำให้บานปลายเท่านั้น”

ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ให้ความเห็นว่า ทวิตเตอร์มีส่วนรับผิดชอบในการคุ้มครองสิทธิการใช้ชีวิตอย่างอิสระจากการแบ่งแยกและความรุนแรง

ทั้งนี้ อิหร่านแบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาล เมื่อปี 2552 แต่ชาวอิหร่านหลายล้านคนก็พบวิธีหลบเลี่ยงข้อจำกัดต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งผู้นำอิหร่านหลายคน ตั้งแต่ผู้นำสูงสุดไปจนถึงสมาชิกรัฐสภา ปรากฏตัวในทวิตเตอร์ทั้งที่มีการห้ามใช้ โดยส่วนใหญ่จะมีหลายบัญชีในภาษาอื่น

เมเออร์ จาเวดานฟาร์ ผู้บรรยายด้านการเมืองอิหร่าน ที่มหาวิทยาลัยไรช์มัน ในประเทศอิสราเอล กล่าวว่า ทวิตเตอร์ควรเริ่มใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ชาวอิหร่านสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่อิหร่านตรวจพบ

“มิเช่นนั้นแล้ว คนอิหร่านจะไม่สนว่าใครจะเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ เพราะมันแทบไม่ต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่เลย”.

เลนซ์ซูม