“ที่น่าตกใจก็คือ…เราเดินไปแค่ไม่กี่ก้าว ก็จะเจอเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว 1 คน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มันบ่งชี้ให้เห็นถึงขนาดของปัญหา และความเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้” …เป็นข้อมูลอีกกรณีสำคัญที่ระบุไว้โดย ผศ.ดร.ปิยะวัติ เกตุวงศา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อ ซึ่ง ผศ.ดร.ปิยะวัติ ได้เก็บ ข้อมูลตัวเลข “เด็กที่ออกจากระบบการศึกษา” รอบล่าสุดในปี 2565 โดยพบว่า…

“มีเด็กเกือบ 3 แสนคน!!” ที่ “น่าเป็นห่วง!!”

ที่ได้ “หลุดออกจากระบบการศึกษา” แล้ว!!

โดยที่ “ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้กลับสู่ระบบ”…

เกี่ยวกับข้อมูล “อัพเดทสถานการณ์ปี 2565” กรณี “เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา” ชุดนี้ จัดทำโดย ผศ.ดร.ปิยะวัติ นักประชากรศาสตร์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้มีการลงสำรวจปัญหาในปี 2565 นี้ และนำมาเผยไว้บนเวทีเสวนา ทำไมต้องจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education : ABE) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในการประชุมชี้แจงโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2565 สนับสนุนโดย กสศ. เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งการสำรวจพบว่า มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาประมาณ 2.9 แสนคน และนี่ก็ยิ่งฉายภาพชัดเจนว่า…

“ไทยต้องเร่งแก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษาเร่งด่วน!!”

“ต้องออกแบบการจัดการศึกษาเฉพาะ” ใช้แก้ปัญหา

ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณีนี้ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า และรอง อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ได้ตั้ง “ข้อสังเกต” ไว้ว่า… ประเทศไทยมีการ ปฏิรูปการศึกษา หลายครั้งในรอบหลายปีมานี้ ทว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมา มักเป็นการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบระบบเพียงอย่างเดียว ทำให้ รูปแบบของปัญหาจึงยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม ซ้ำยิ่งมีแนวโน้มที่ปัญหานี้จะขยายขนาดเพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนว่า… แนวทางและวิธีแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาน่าจะยังไม่ตรงจุด ซึ่งได้มี “ข้อเสนอ” ไว้ว่า…บางทีการที่จะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จอาจต้องเปลี่ยนเป็นการแก้ปัญหาที่พื้นที่

“เราอาจต้องไปแก้ที่หน่วยการจัดการการศึกษา ต้องไปแก้ที่โรงเรียน ยิ่งถ้าเป็นการศึกษานอกระบบยิ่งต้องไปแก้ไขในพื้นที่ เพราะพื้นที่เป็นระบบที่อยู่ใกล้ปัญหามากที่สุด ซึ่งเราไม่สามารถออกแบบรูปแบบอันใดอันหนึ่งและใช้กับในทุก ๆ พื้นที่ได้ ดังนั้นเราจะต้องให้พื้นที่เป็นคนเซตระบบและกลไกด้วยตัวเอง” …เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอ

แก้ปัญหานี้ด้วยการ “เพิ่มการมีส่วนร่วมให้พื้นที่”

“รีเซต-จัดระบบการศึกษา” ด้วยตัวของพื้นที่เอง…

ทาง ศ.วุฒิสาร เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ยังชี้ไว้อีกว่า… โควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาชัดขึ้น โดยเฉพาะกับการเรียนในระบบออนไลน์ เพราะหลายครอบครัวไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเทอร์เน็ต จนน่าเป็นกังวลว่า… ช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นี้จะทำให้มี “เด็กกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มากขึ้น โดยสิ่งที่อยากเสนอให้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นคือ “สร้างคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ลดการที่โรงเรียนดี ๆ มักกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตเมือง ซึ่งถ้าไม่เร่งจัดการปัญหานี้ ในอนาคตประเทศไทยจะเกิด “ปรากฏการณ์จนข้ามรุ่น!!!” มากขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองไว้ว่า…  เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ การปฏิรูปการศึกษายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร นั่นก็คือ “ส่วนกลางไม่อยู่ส่วนกลาง” กล่าวคือรัฐส่วนกลางมีการขยายอำนาจออกไปยังพื้นที่ ด้วยการคร่อมทับกับกลไกพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เช่น ตั้งสำนักงานภาค สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งกลไกเหล่านั้นแม้จะตั้งอยู่ในจังหวัด แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การบัญชาการของจังหวัดนั้น ๆ จึงนำสู่ “ปรากฏการณ์” ที่เรียกว่า“การรวมศูนย์อำนาจที่แตกกระจาย” …เป็นทัศนะจากนักรัฐศาสตร์ท่านนี้ ที่ชี้ว่าส่วนกลางเองก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหา??

“พอเป็นการรวมศูนย์ที่แตกกระจาย จึงทำให้ไม่มีเอกภาพ เพราะการศึกษาไม่ได้จบแค่ที่กระทรวง แต่เกี่ยวกับปัญหาและหน่วยงานที่หลากหลาย ดังนั้น การแก้ปัญหานี้อาจต้อง สร้างกลไกที่ทำให้ส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น มีโอกาสมาพูดคุยและออกแบบร่วมกัน ไม่ใช่ประชุมรับทราบ แล้วต่างคนก็ต่างแยกย้าย” …ผศ.ดร.วสันต์ เสนอ และรวมถึง…

มีกลไกกลางตัดสินใจว่าปัญหาใดรอได้?-รอไม่ได้?

ทั้งนี้ ในการเสวนาการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลด “ความเหลื่อมล้ำ” ได้มีการจัดทำ “ข้อเสนอภาพรวมในการแก้ไขปัญหา” เรื่องนี้ไว้ด้วย ผ่าน “องค์ประกอบที่สำคัญ” ที่จำเป็นสำหรับการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 6 เรื่อง คือ… 1.รวมกลุ่มคนที่มีใจรัก 2.ทำความเข้าใจปัญหาจากข้อมูลที่มีอยู่  3.การสื่อสารสู่นโยบาย 4.สร้างแนวร่วมในการทำงาน 5.ออกแบบกลไกการทำงานที่เหมาะสมกับบริบท 6.มีการยกระดับไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน …นี่เป็น “6 องค์ประกอบที่จำเป็น” ที่ต้องมี…ที่ต้องทำให้เกิดขึ้น…เพื่อ “ช่วยเด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

ตอนนี้ “มีเด็กเฉียด 3 แสนคน!!” ที่ ต้องใส่ใจช่วย”

“การศึกษาไม่เท่าเทียม” ก่อเกิด การจนข้ามรุ่น!!”

ที่ เป็นปัญหาทั้งต่อตัวบุคคลและต่อประเทศ!!”.