หลังประเทศไทยต้องเผชิญผลกระทบรุมเร้าหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะมีประเด็นภาวะเงินเฟ้อ สถานการณ์ “ปากท้องคนไทย” นั้นก็ “ได้รับผลกระทบมากขึ้น” ซึ่งปัญหาใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดเวลานี้คือ “สินค้าราคาสูงขึ้น” ที่ยึดโยง “น้ำมันราคาสูงขึ้น” โดยหลายฝ่ายก็จับตาว่า… รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้แค่ไหน?-เช่นไร?…

ที่มุมหนึ่งก็มีเสียงเรียกร้องให้ “แทรกแซงตลาด”

ขณะที่อีกมุมก็มองว่าระยะยาววิธีนี้อาจไม่ได้ผล?

โดยที่กรณีนี้ทางวิชาการ “มีมุมวิเคราะห์ชวนคิด”…

ทั้งนี้ หลังจาก “คนไทยเจอปัญหาของแพง” อย่างต่อเนื่อง จนมีการเสนอว่าอยากให้รัฐ “แทรกแซงราคาสินค้า” โดยมองว่าน่าจะเป็นเรื่องดีที่รัฐจะช่วยบรรเทาภาระทางการเงินให้คนไทย อย่างไรก็ตาม แต่ก็มีฝ่ายที่รู้สึกกังวลหากว่ารัฐจะเน้นแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ ซึ่งวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีมุมวิเคราะห์ในเรื่องนี้มาสะท้อนต่อ… จากการที่ได้มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองต่อ “วิธีแก้ปัญหาด้วยการแทรกแซงตลาด” ผ่านเวทีเสวนา “สินค้าราคาแพง…รัฐแทรกแซงตลาดคือทางออก?” ที่จัดโดย ทีดีอาร์ไอ เพื่อเป็นการฉายภาพปัญหา และวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหา…

สำหรับ “มุมวิเคราะห์-มุมสะท้อน” เกี่ยวกับ “มาตรการแก้ปัญหาสินค้าแพง” ด้วย “วิธีแทรกแซงราคาตลาด” นั้น วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจต่างเห็นพ้องต้องกันว่า… ระยะสั้นอาจใช้ได้…แต่ระยะยาวอาจไม่ได้ผล?? โดยถึงแม้วิธีการเข้าแทรกแซงราคาตลาดนั้นจะดูเหมือนประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น แต่ในมุมกลับอาจจะสร้างผลกระทบหลายอย่างตามมา รวมถึงการคุมราคาไว้นาน ๆ อาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าบางรายต้องงดผลิตสินค้า หรือสูญหายไปจากตลาด

และหากรัฐจะมีการอุดหนุนราคาต่อเนื่อง…ก็จะทำให้รัฐ “ต้องใช้งบประมาณในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก” ที่จะส่งผลยึดโยงไปถึง…“อาจจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาสการลงทุนหรือการพัฒนาในด้านต่าง ๆ??” …

มุมวิเคราะห์จากเวทีเสวนาเกี่ยวกับ “สินค้าราคาแพง” เวทีนี้… ทาง ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทีดีอาร์ไอ สะท้อนโดยยกตัวอย่างไว้ว่า… การอุดหนุนราคาน้ำมัน ทำให้รัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณไปต่อเดือนคิดเป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท โดยรัฐได้ใช้งบประมาณในเรื่องนี้ไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบกับการนำไปจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ อัตราเงินเดือน 15,000 บาท ในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถจ้างงานได้ถึง 1 แสนคน จึงอยากให้รัฐทบทวนและชั่งน้ำหนักระหว่างความจำเป็นในการอุดหนุน กับการเสียโอกาสในการแก้ปัญหาอื่น ๆ

เป็นการ “เปรียบเทียบ” กับ “กรณีการจ้างงาน”

ขณะที่ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มองคล้าย ๆ กับ ดร.กิริฎา โดยระบุไว้ว่า… ส่วนตัวแล้วอยากให้รัฐนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นมากกว่า และใช้แนวทางอื่น ๆ ที่สามารถทำได้มาแก้ไข โดยเฉพาะกับการตรึงราคาน้ำมัน เพราะแม้จะมีข้อดี ลดผลกระทบกรณีตัวเลขเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่ได้ดีต่อคนที่มีรายได้น้อยจริง ๆ เนื่องจากมีช่องโหว่กับมีปัญหาที่ตามมาคือ คนที่มีรายได้น้อย ที่ส่วนใหญ่นั้นใช้น้ำมันเบนซิน ไม่ได้อานิสงส์จากการคุมราคาน้ำมันดีเซล และยังต้องจ่ายเพื่อเป็นการอุดหนุนการใช้น้ำมันดีเซลอีกด้วย …ดร.ยรรยง ระบุไว้

“กรณีน้ำมันดีเซล” นี่ไทยยุคนี้ “ก็วุ่นเอาเรื่อง!!”

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ข้อเสนอทางออก” นั้น วิทยากรบนเวทีเสวนาดังกล่าวก็ได้มีการเสนอแนะเอาไว้เช่นกัน โดยในส่วนของ ดร.กิริฎา เสนอไว้ว่า… เรื่องราคาน้ำมัน รัฐต้องช่วยแบบเจาะจงกลุ่ม ไม่ใช่อุดหนุนทุกคน เช่น กลุ่มขนส่ง โลจิสติกส์ คนขับรถบรรทุก เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้ง ใช้โอกาสนี้อุดหนุนผลักดันสู่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ เรื่องราคาอาหารที่ปรับสูขึ้น รัฐควรเติมเงินให้คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่าย 45% เป็นค่าอาหาร“ แทนการลดราคาอาหารช่วยทุกคน ที่จะเป็นการช่วยที่ตรงจุดมากกว่า…

และเป็นการ “ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ก็ชี้ไว้ว่า… รัฐไม่ควรทำให้ตลาดปั่นป่วน ซึ่ง การคุมราคาไม่ใช่ทางออก และกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือผู้มีรายได้น้อย เพราะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการแทรกแซงราคาของรัฐ เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยซื้อสินค้า อาหาร และพลังงาน ได้ครั้งละไม่มากอยู่แล้ว เช่น ไข่ไก่ ก็ไม่ค่อยจะได้ซื้อยกแผงดังที่รัฐคุมราคา จึง เสนอมาตรการเพิ่มรายได้ มากกว่ากดรายจ่าย  โดยเติมเงินในกระเป๋าคนรายได้น้อย ซึ่งถึงแม้อาจจะคิดว่ารัฐแจกไปเยอะแล้ว แต่ก็พบว่ายังน้อยหากเทียบสัดส่วนนโยบายการคลังที่อัดฉีดกับต่างประเทศ

และรัฐควร… “หนุนให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม ในตลาดต้องมีสัดส่วนผู้เล่นทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก เพื่อลดอำนาจผูกขาดของทุนใหญ่” …เป็นอีกส่วนที่เสนอไว้โดย ศิริกัญญา ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร …เป็นการสะท้อนไว้ในเวทีเสวนา “การแก้ปัญหาสินค้าแพง” ที่เป็น “หน้าที่รัฐ”

ก็หยิบยกมาสะท้อนต่อไว้ให้ลองพินิจพิจารณากัน

ใครเห็นพ้องหรือเห็นต่างอย่างไรก็ย่อมสุดแท้แต่

ที่แน่ ๆ…“รัฐต้องแก้สินค้าแพงเพื่อช่วยคนจน” .