รายงานขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติดหนึ่งในสิบอันดับถนนที่อันตรายที่สุดของโลก

ระหว่างวันที่ในวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2565 จะมีการจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 15 หัวข้อ “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน”โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ณศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ    

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จาก ถึงแม้ในปี พ.ศ. 2563 จะมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง แต่ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็น 13.45 จาก 8.73 ในปี พ.ศ.2562 ซึ่งมาจากปัจจัยด้านโครงสร้างการจัดการ มิติทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม วิธีคิดของประชาชน ที่ต้องแก้ไขด้วยการสร้างวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย หรือ Safe System Approach ซึ่งหมายถึงระบบที่ให้อภัยต่อความผิดพลาดของมนุษย์ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่นำไปสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บรุนแรง 

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยลง 50% ภายในปี 2573 หรือ กำหนดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 โดยมี 4 จุดเน้นสำคัญได้แก่ 1.การจัดการอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 2.การจัดการอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน 3.การจัดการความเร็ว (speed management) และ 4.การติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluation) ซึ่งทั้ง 4 จุดเน้นต้องอยู่บนมาตรการที่สามารถดำเนินการได้จริง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมนายนิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสสส.เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เพราะปัญหาเมาแล้วขับเป็นสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยรองจากใช้ความเร็วเกินกฏหมายกำหนด

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สสส. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ลงถึงระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น สร้างต้นแบบการทำงานในระดับพื้นที่ ในทางสังคม สสส. ได้เชื่อมโยงเครือข่ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น การรณรงค์ 7 วันอันตราย ตั้งสติก่อนสตาร์ท การรณรงค์หมวกนิรภัย และร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ท้าทาย ของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยต้องลดการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 

“สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของผู้คนเปลี่ยนไป เกิดวิถีชีวิตใหม่ ประกอบกับสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น สสส. ได้ติดตามสถานการณ์และตระหนักถึงปัญหา และได้กำหนดเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนนเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ขับเคลื่อนการทำงานด้วยไตรพลัง พลังความรู้ พลังสังคม และ พลังนโยบาย ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน การทำงานในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. มุ่งสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ร่วมสนับสนุนให้เกิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) โดย สสส.จะดำเนินการร่วมกับเครือข่ายภาคี เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ดร.สุปรีดา กล่าว

นางสิริรัตน์  วีรวิศาล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในงานสัมมนาฯ กรมการขนส่งทางบกร่วมเป็นวิทยากร ในหัวข้อ การยกระดับมาตรฐานใบขับขี่และยานพาหนะ มุ่งสู่ความปลอดภัยด้วยการใช้เทคโนโลยี และ ภาคนโยบายกับการขับเคลื่อนงานเยาวชน ซึ่งจะเน้นเรื่องนโยบายของกรมการขนส่งทางบก แผนการยกระดับมาตรฐานใบขับขี่ ความคืบหน้าในการยกระดับมาตรฐานยานพาหนะของประเทศไทย รวมถึงนโยบาย แผนงานสนับสนุนโครงการความปลอดภัยในกลุ่มเยาวชน ที่ผ่านมากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ได้สนับสนุนโครงการศึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจากสถานศึกษาสู่ชุมชน “YOURS Network” อย่างยั่งยืน ช่วยพัฒนาให้เยาวชนทำหน้าที่เป็นกลไกเฝ้าระวัง สะท้อนความเสี่ยง จากสถานศึกษาสู่ชุมชน 

ปัญหาความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทยประมาณ 20,000 รายมากกว่าผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การะระบาดของโควิด-19

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ในครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบรางวัล Prime Minister Road Safety Awards และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทผู้นำประเทศ” จากนั้นเป็นพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ระหว่าง 5 หน่วยงาน และการเสวนาในหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญ โดยรูปแบบการจัดงาน จะเป็นการนำเสนอสถานการณ์เสี่ยงด้านอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบใหม่ ภายใต้การระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เกิดการปรับตัวของผู้เดินทางเป็นวิถีชีวิตใหม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการปรับมาตรการ นโยบายการจัดการของทุกภาคส่วน ให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอ Key Message สำคัญ อาทิเช่น 50 by 30 ต้องทำอะไร จึงจะลดตายได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 ความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในการสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนภายใต้วิถีชีวิตใหม่ 

ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนา และติดตามการสัมมนา ผ่านระบบออนไลน์โดยสามารถสแกนคิวอาร์โค๊ด ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน หรือ หากมีข้อสงสัย สามารถสแกนคิวอาร์โค๊ด เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15