ต้องยอมรับว่า ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย ณ ปัจจุบันกำลังเจออุปสรรคอย่างใหญ่หลวง หลังจากเจ้าเชื้อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม 13 จังหวัด หากไล่ตั้งแต่ ปัญหาการตรวจหาเชื้อโควิด สถานที่รักษา ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เต็มเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะ ห้องผู้ป่วยวิกฤติ ที่หลายโรงพยาบาลเริ่มขยายจนเกินความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ บางโรงพยาบาล ห้องเย็นที่ใช้เก็บศพผู้เสียชีวิตก็เริ่มล้น หรือแม้กระทั่งบางวัดที่รับทำพิธีฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตโควิด ถึงขั้นเมรุร้อนจัดจนระเบิดก็มีเพราะต้องเผาวันละหลายศพต่อเนื่องกันมานานนับสัปดาห์แล้ว
ขณะที่ยอดติดเชื้อใหม่รายวัน สะสมเกินกว่า 5 แสนคนแล้ว แม้ ศบค. จะล็อกดาวน์ 13 จังหวัดมา 2 สัปดาห์ แต่ตัวเลขกราฟพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ วันที่ 26 ก.ค. ติดเชื้อรายใหม่ 14,150 ราย เสียชีวิต 118 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 526,828 ราย ผู้เสียชีวิต 4,264 ราย) ขณะที่การฉีดวัคซีน ใน 77 จังหวัด รวม 15,960,778 โด๊ส (เข็มที่หนึ่ง 12,307,788 โด๊ส เข็มที่สอง 3,652,990 โด๊ส)
ห่วงเชื้อโควิดในไทยขยับกลายพันธุ์
ทีมข่าว 1/4 Special Report สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างจังหวัด เริ่มแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ยิ่งในโรงพยาบาลต่างจังหวัดการดูแลผู้ป่วยอาการหนักมีแนวทางที่ต่างกัน โดยเฉพาะรพ.ระดับอำเภอ และรพ.ศูนย์ ซึ่งการบริหารจัดการคนไข้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหลายแห่งยังไม่เคยเจอภาวะที่คนไข้โควิดล้นโรงพยาบาล ดังนั้นภาครัฐต้องมีแนวทางเพิ่มศักยภาพการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในโรงพยาบาลต่างจังหวัด เช่น ตอนนี้โรงพยาบาลในพื้นที่ชลบุรี ระยอง มีผู้ป่วยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ตั้งโรงงานมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า
ที่อื่น
“ไทยมีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อโควิดจะกลายพันธุ์ เพราะตอนนี้เราควบคุมการระบาดไม่ได้ ปกติคุณสมบัติของเชื้อ จะมีพัฒนาการกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรง หรือติดง่ายกว่าเดิมแค่ไหน ต้องมีการติดตามดูอย่างใกล้ชิด และตราบใดที่เรายังควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไม่ได้ โอกาสที่การกลายพันธุ์จะมีสูงมากขึ้น”
ตอนนี้อัตราส่วนของผู้ที่มาตรวจหาเชื้อที่ รพ.จุฬาฯ เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ พบว่าติดโควิด โดยคนที่ติดมีทั้งคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ สิ่งที่เป็นปัญหาในโรงพยาบาลตอนนี้คือ ปริมาณคนไข้ที่มีมาก จนเตียงรองรับไม่พอ และการบริหารจัดการการระบาดในกลุ่มของเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริการประชาชน เพราะเมื่อเกิดการระบาดแต่ละครั้ง บุคลากรทางการแพทย์ต้องหยุดงาน ขณะคนที่ทำงานใกล้ชิดก็จะต้องกักตัว โดยบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ติดมาจากคนในครอบครัว ขณะที่อีกส่วนติดจากการทำงาน ซึ่งโชคดีที่บุคลากรทางการแพทย์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการไม่หนักมาก คาดการณ์ว่าอนาคตหลายคนจะติดเชื้อในที่สุด เพราะเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาจนติดง่ายขึ้น แต่ลดอัตราการเสียชีวิตได้ จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับวัคซีนที่ครบและกระตุ้นในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ทันกับการระบาดของสายพันธุ์ใหม่
หนุนจัดทำโรงพยาบาลกึ่งวิกฤติ
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ตอนนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ให้กับประชาชนว่า ถ้าป่วยโควิด แล้วมีอาการน้อยควรรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) แต่ด้วยความคิดเดิมคือ หากป่วยต้องมาอยู่ที่โรงพยาบาล เลยทำให้ที่ผ่านมาคนไข้ส่วนใหญ่จะพยายามหาเตียง ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยมากจนทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนไข้หนัก ที่ระบบทางการแพทย์ต้องพยายามนำคนไข้หนักเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนคนไข้ที่อาการไม่หนักสามารถรักษาตัวที่บ้าน โดยโรงพยาบาลจะมีระบบติดตามอาการทุกวัน
สำหรับการรักษาตัวเองที่บ้านในหลายครอบครัวมีข้อจำกัด เช่นที่บ้านมีผู้สูงอายุ จึงมีการจัดการอีกรูปแบบคือ “คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น” ที่ชุมชนในพื้นที่ จะจัดสถานที่ให้ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่มากอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจัดไว้ในชุมชน โดยตัวแทนชุมชนจะมีการดูแลส่งอาหารให้ และมีทีมแพทย์คอยให้ความรู้ หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที ระบบนี้ช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้มากขึ้น ซึ่งองค์กรส่วนท้องถิ่นถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก เช่น ตอนนี้มีการจัดพื้นที่ในวัด หรือในโรงเรียนเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน
ขณะนี้มีผู้ป่วยวิกฤติตกค้างอยู่ที่บ้านเยอะ ดังนั้นรัฐจะต้องเร่งติดตามเพื่อส่งคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาล แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือ ต้องจัดการพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อรองรับคนไข้อาการหนักให้ได้ก่อน ซึ่งตอนนี้ รพ.จุฬาฯ กำลังจะทำโรงพยาบาลกึ่งวิกฤติขนาด 100 เตียง ที่สามารถดูแลคนไข้ที่มีอาการหนักได้ โดยจะมีการสร้างเป็นอาคารน็อกดาวน์ ที่ดูแลคนไข้ในกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการหนักตั้งแต่ปานกลางขึ้นไปได้ คาดว่าจะเปิดได้กลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยห้องใน รพ.กึ่งวิกฤติ มีการปรับให้สามารถดูแลคนไข้โควิดได้ แม้ไม่ใช่ห้องความดันลบเหมือนห้องไอซียู เพราะการทำห้องความดันลบจะต้องใช้งบประมาณสูง และต้องใช้เวลาในการก่อสร้างที่นาน แต่ในสภาวะนี้เราต้องการความรวดเร็ว
สำหรับโรงพยาบาลกึ่งวิกฤติ กำลังเร่งก่อสร้างภายใน รพ.จุฬา เพราะด้วยยอดคนติดเชื้อในระดับหมื่นคนต่อวัน จะมีคนไข้กลุ่มสีแดง และสีเขียวอยู่ ถ้าเรามีเตียงเท่าเดิม จะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ โดยตอนนี้โรงพยาบาลมีหน้าที่ดูแลชุมชนรอบ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีกลุ่มเปราะบางอยู่มาก เช่น ชุมชนคลองเตย ที่มีประชากรกลุ่มเสี่ยงอยู่เยอะ จากการทำงานมีผู้ป่วยอาการหนักตกค้างรอเข้าห้องไอซียูมากสุด 20 คนต่อวัน ซึ่งเตียงผู้ป่วยฉุกเฉินมี 40 เตียงจะต้องทยอยนำผู้ป่วยอาการหนักเข้าทำการรักษา ซึ่งผู้ป่วยหนักที่มีอาการดีขึ้นก็นำออกมารักษาที่หอผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนักรายอื่นได้ใช้
ตอนนี้สิ่งที่รัฐจะต้องทำคือ การบูรณาการประสานงานเพื่อนำคนไข้อาการหนัก ที่ตกค้างอยู่ที่บ้านเข้ามารักษาในโรงพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ สิ่งนี้ต้องมีความร่วมมือจากหลายส่วน เช่น กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนชุมชนที่จะต้องประสานกัน จากการทำงานที่พบคือ คนไข้อาการหนักที่ตกค้างส่วนใหญ่เป็น กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเชิงรุกในการไปฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักไม่ได้เดินทางมาฉีดวัคซีนเอง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนในอินเทอร์เน็ตไม่เป็น หรือผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล
ย้ำเร่งฉีดเข็ม3ทีมหมอด่านหน้า
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังมีมุมมองถึงการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อ “บูสเตอร์โด๊ส” ในบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็น วัคซีน mRNA จะดีที่สุด แต่การจะรอวัคซีน mRNA ที่เข้ามาก็อาจจะช้าไป เพราะทุกอาทิตย์เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ครบ ภูมิคุ้มกันจะตกลงเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่า เชื้อใหม่ที่แพร่ระบาดอยู่ตอนนี้จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีอาการรุนแรงหรือไม่ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การจะรอวัคซีน mRNA ที่ต้องใช้เวลาในการนำเข้ามา ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานด้วย เพราะถ้าเป็นบุคลากรที่ไม่ได้ทำงานกับคนไข้โดยตรง อาจจะรอได้ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น แต่ถ้าเป็นบุคลากรที่ต้องสัมผัสผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงสูง ควรบูสเตอร์โด๊ส โดยวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่มีอยู่ไปก่อน เพราะจากการศึกษาพบว่า สามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากการป่วยหนักได้ และสุดท้ายอนาคตทุกคนก็อาจจะต้อง บูสเตอร์โด๊ส เข็มที่ 4 กันอีกครั้ง