สิ่งที่จะเกิดกับภาคแรงงานคือ คนจำนวนมากที่สูญเสียงานจากวิกฤติครั้งนี้จะยังคงไม่มีโอกาสได้กลับมาทำงาน… เนื่องจากกำลังมีการปรับตัวของฝั่งนายจ้างที่เตรียมนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น“ …เป็นภาพ “สถานการณ์ภาคแรงงาน” ซึ่งได้ถูกฉายไว้ผ่านเวทีสาธารณะหัวข้อ “โควิด-19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย” ที่จัดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อ โดยเวทีนี้มีการสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์แรงงานไทย ที่ผู้สันทัดกรณีต่างเห็นพ้องกันว่า…แม้วิกฤติโควิดรุนแรงจะผ่านไป…

“ภาคแรงงานไทย” ก็ “ยังเผชิญผลกระทบต่อเนื่อง”

เพราะ “นายจ้าง-ตลาดแรงงาน…เปลี่ยนแปลงไป!!”

ทั้งนี้ การสะท้อนเรื่องนี้ก่อนจะถึง “1 พฤษภาคม” ซึ่งไทยกำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ก็เป็นการย้ำเตือนให้สังคมไทยตระหนัก และเห็น “ความสำคัญ” ของ “ผู้ใช้แรงงาน-คนทำงาน” ที่ในระยะ 2-3 ปีมานี้ หรือในระหว่างที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง ภาคแรงงานต้อง “เจอกับความท้าทาย” จาก “ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป” โดยเฉพาะ “ผลกระทบจากล็อกดาวน์” จนส่งผลทำให้มีแรงงานจำนวนมาก “ถูกเลิกจ้าง-ต้องตกงาน” ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง ซึ่งปัจจุบันแรงงานกลุ่มนี้จำนวนไม่ใช่น้อย ๆ “ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเดิม” ของตนได้!!…

กับ “กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย” ในตอนนี้…นับว่าเป็น “สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง!!” เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในส่วนของ “นายจ้าง-ตลาดแรงงาน” ได้มีการดำเนินการ “ปรับตัวครั้งใหญ่” เพื่อที่จะแก้ไขสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น โดยที่ 1 ในเรื่องสำคัญในการปรับตัวนั้นคือ การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ทดแทนแรงงาน ซึ่งเริ่มกันตั้งแต่ในช่วงที่ยังวิกฤติรุนแรง และแม้จะผ่านพ้นวิกฤติรุนแรงมาได้สักพักใหญ่แล้ว แต่กลับเกิด “ปรากฏการณ์” ที่พบว่า…มีแรงงานจำนวนมากยังไม่สามารถกลับสู่ตลาดแรงงานได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และสะท้อนไว้ว่านี่อาจจะเป็น…

“จุดเปลี่ยน” ที่ “ภาคแรงงานก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่”

หลังจากฝั่งนายจ้างปรับตัวครั้งใหญ่แล้วก่อนหน้านี้

พรศิวลักษณ์ ผิวสอาด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีมุมสะท้อนน่าสนใจจากทาง พรศิวลักษณ์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้ระบุไว้บนเวทีดังกล่าวข้างต้นว่า… การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ทันกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปภายใต้ยุคโควิด-19 ไม่ใช่สถานการณ์ที่ง่าย!! ทั้งในส่วนของแรงงานและของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะมีโจทย์จากโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่ทำให้การฝึกอบรมแบบเดิมทำไม่ได้ และแม้จะนำระบบออนไลน์มาใช้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า…การพัฒนาทักษะแรงงานบางประเภทจำเป็นต้องใช้การลงมือปฏิบัติจริง

ทาง ผอ.กองแผนงานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ระบุไว้อีกว่า… แม้จะนำระบบออนไลน์มาใช้แก้ปัญหาหรือลดอุปสรรคแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า… การฝึกอบรมแรงงานทางออนไลน์ก็ยังมีข้อจำกัด!! เนื่องจากแรงงานแต่ละคนมีความพร้อมและศักยภาพไม่เท่ากัน เช่น บางคนมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะใช้ฝึกอบรมออนไลน์พร้อม แต่บางคนไม่มีเลย ทำให้ต้องหาวิธีแก้ปัญหาให้แรงงานส่วนนี้ เพื่อให้เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะได้ …นี่เป็น “ปัญหาในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในยุคโควิด-19” ที่ทำให้การฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้แรงงานนำไปใช้ลดปัญหานั้นทำได้ไม่เหมือนกับช่วงภาวะปกติ…

เพราะ “เกิดปัญหาคล้ายกรณีเด็กเรียนออนไลน์”

อนึ่ง นอกจาก ต้องลดอุปสรรคด้านเทคโนโลยี แล้ว อีกหนึ่ง “โจทย์สำคัญ” คือการ พัฒนาทักษะให้แรงงานที่ตัดสินใจไม่กลับสู่ตลาดแรงงานเดิม หลังเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่มีล็อกดาวน์ แล้วเลือกที่จะผันตัวสู่ภาคการเกษตร ซึ่ง จำเป็นจะต้องพัฒนาสนับสนุนให้เกิดการทำเกษตรแบบแม่นยำเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้แรงงานที่ออกจากตลาดเดิมกลุ่มนี้ “ยกระดับเป็นผู้ประกอบการใหม่” ด้วยการให้ความรู้ คำปรึกษา เพื่อ “เปลี่ยน Mindset ใหม่” ให้กับแรงงานกลุ่มนี้…

อัญชลี วานิช เทพบุตร

ทั้งนี้ กรณีปัญหานี้ ก็มีการสะท้อนภาพ “พื้นที่ จ.ภูเก็ต” ที่เจอผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 จน “เกิดปรากฏการณ์จนเฉียบพลัน!!” จากเมืองท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้เฉลี่ย 33,000 บาทต่อครอบครัว พอมีโควิดระบาด ธุรกิจแทบจะกลายเป็น 0 รายได้เฉลี่ยประชากรลดลงเหลือแค่ 1,961 บาท โดย ภาคแรงงานก็ต้องเร่งปรับตัว เช่นกัน ซึ่งทางนายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย อัญชลี วานิช เทพบุตร สะท้อนไว้ว่า… แม้ จ.ภูเก็ต จะเป็นพื้นที่เป้าหมายของตลาดแรงงานที่เคยมีความคึกคักทางเศรษฐกิจสูง แต่เมื่อมีโรคระบาดก็ทำให้พื้นที่นี้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี แต่เพื่อที่จะก้าวต่อไป และเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมไว้ เมื่อถึงวันที่การระบาดสงบและโอกาสครั้งใหม่มาถึง สิ่งที่ภาคแรงงานใน จ.ภูเก็ต ควรจะเร่งทำก็คือ “ต้อง Reskill ใหม่” เพื่อ สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้น เช่น จากเดิมอาจจะแค่รีดผ้า จัดเตียง ทำความสะอาดห้องพักเท่านั้น ก็ควรต้องเร่ง Reskill แล้วก็จะต้องทำให้ได้มากขึ้น อาทิ  ล้างแอร์ ทำความสะอาดสระน้ำ เป็นต้น …นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่ได้มีการสะท้อนภาพไว้

แน่นอน…เรื่องดังกล่าวนี้แม้รู้ทั้งรู้แต่ก็ “ทำไม่ง่าย”

ทว่า…ทั้งรัฐ-ทั้งแรงงาน “ก็ต้องดัน-ต้องสู้ให้เต็มที่”

กับ “Mindset-Reskill” …คีย์เวิร์ดฟื้นฟูชีวิตแรงงาน.